โรคเนื้องอกมดลูกคืออะไร
เป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตในร่างกายเรามากกว่าปกติ มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่มักพบเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งมากกว่า โดยเกิดได้ที่ผิวด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูก หรืออยู่ในโพรงมดลูก
อาการของโรคเนื้องอกมดลูก
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผู้หญิงเกือบ 50% มีเนื้องอกกล้ามเนื้อ (Leiomyoma หรือ Uterine Fibroid) เพียงแต่อาจจะไม่มีอาการ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน จึงมักพบเนื้องอกนี้ครั้งแรกเมื่อตรวจอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนเมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์
- ก้อนโตเร็วขณะตั้งครรภ์และมีอาการปวด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์มีฮอร์โมนสูง ทำให้ก้อนมีขนาดโตขึ้นเร็ว และเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกไม่เพียงพอ การขาดเลือดทำให้เกิดอาการปวด
- ก้อนกดเบียดถุงการตั้งครรภ์ มักเกิดจากเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้ามาในโพรงมดลูก ซึ่งอาจขัดขวางการฝังตัวของถุงการตั้งครรภ์ในระยะแรก ทำให้แท้งง่าย หรือหากก้อนมีขนาดใหญ่จนโพรงมดลูกบิดเบี้ยวมาก อาจทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว เกิดภาวะข้อติดหรือผิดรูปตามมา
- ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ มักพบในกรณีที่รกเกาะอยู่ตรงตำแหน่งของเนื้องอก หรือเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่กดเบียดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก
- เสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด หากขนาดเนื้องอกมดลูกโตขึ้นมาก อาจทำให้เกิดเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
- ก้อนเนื้องอกขวางทางคลอด ในกรณีที่ก้อนอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือบริเวณปากมดลูก ทารกไม่สามารถลอดผ่านออกมาได้ จึงทำให้เสียโอกาสคลอดธรรมชาติ
- เสี่ยงต่อการมีภาวะตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากเนื้องอก ขัดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เสียเลือดมากจากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว ต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้
วิธีดูแลตัวเองเมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์
- คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเนื้องอก หากมีอาการปวดที่ก้อนมาก ๆ อาจต้องใช้ยาช่วย แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการจัดยาที่ปลอดภัย
- หากมีอาการมดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนด ต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อยับยั้งการคลอดตามความเหมาะสม
- คุณแม่ต้องมาฝากครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อติดตามสุขภาพของทารก และขนาดของเนื้องอกเป็นระยะ
ผ่าเนื้องอกออกพร้อมกับผ่าคลอดได้ไหม
การผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกครั้งเดียวกับตอนคลอดลูก คุณแม่จะมีเลือดมาเลี้ยงปริมาณมาก โดยเส้นเลือดที่เคยมีขนาดเล็กจะขยายใหญ่ขึ้น การผ่าตัดจะทำให้เสียเลือดมากซึ่งไม่เป็นผลดี ฉะนั้นแพทย์จึงไม่แนะนำให้ผ่าเนื้องอกออกพร้อมกับผ่าคลอด แต่จะมีการนัดตรวจร่างกายหลังคลอดและนัดผ่าตัดอีกครั้งค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: พญ.จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี