Blastocyst Culture เป็นวิธีช่วยให้ผู้มีบุตรยากสามารถมีลูกได้ วิธีเหมาะกับใคร มีขั้นตอนการทำอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
Blastocyst Culture การเลี้ยงตัวอ่อนก่อนฝังตัวในท้องคุณแม่ ความหวังของคนมีลูกยากและอยากมีลูก
Blastocyst Culture หรือ บลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ คืออะไร
Blastocyst Culture หรือบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ เป็นขั้นตอนเลี้ยงตัวอ่อนก่อนจะใส่กลับเข้าไปในมดลูก โดยจะเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน ซึ่งวันที่ 3 ของการเลี้ยงจะเป็นระยะของการแตกเซลล์ วันที่ 5 จะเป็นระยะบลาสโตซิสท์ ซึ่งตัวอ่อนที่โตมาถึงระยะบลาสโตซิสท์จะมีคุณภาพดีระดับหนึ่ง
ส่วนมากในการทำเด็กหลอดแก้วจะมีการปฏิสนธิขึ้นอยู่กับว่าจะได้ไข่จากแม่มากี่ฟอง ถ้าภายในร่างกายแม่มีผังพืด มีช็อกโกแลตซีสต์ หรือถ้าอายุมาก โอกาสมีไข่ก็จะน้อย และการปฏิสนธิก็อาจจะไม่ติดทุกฟอง เช่น ได้ 10 ฟอง อาจจะติดแค่ 7 ฟองหรือ 5 ฟองหรือ 3 ฟอง คือถ้ามีโรคและอายุเยอะก็อาจเหลือไข่น้อยลง จากนั้นต้องตรวจความผิดปกติของโครโมโซม หรือที่เรียกว่า Preimplantation Genetic Diagnosis (P.G.D.) ซึ่งทำใน 2 กรณี คือ
- เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่พบได้บ่อยๆ
- ตรวจดูว่าในโครโมโซมนั้นมีโรคทางพันธุกรรมที่มีคนในครอบครัวเป็นอยู่แล้วหรือเปล่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคนี้กับลูกในท้อง
โดยส่วนมากจะตรวจแบบคัดกรองหรือสกรีนนิ่งแบบที่ 1 มากกว่า คือ ตรวจโครโมโซมประมาณ 5 ตัว เพื่อคัดกรองโรคที่เจออยู่บ่อยๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม การตรวจ P.G.D. เหมือนกับเป็นการเจาะน้ำคร่ำในแม่ที่ท้องธรรมชาติ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะแม่อายุเยอะมีโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม ถ้าไม่ตรวจคัดกรอง ก็มีความเสี่ยงสูงที่ลูกอาจจะเป็นโรคนี้ได้
ข้อดีของการใส่ตัวอ่อนในระยะ Blastocyst
- สามารถเลือกตัวอ่อน ที่มีการเจริญเติบโต และมีคุณภาพดีที่สุด ใส่กลับคืนสู่โพรงมดลูก
- เป็นการใส่ตัวอ่อน ในระยะที่อยู่ในโพรงมดลูกอยู่แล้ว กลับคืนสู่โพรงมดลูก ซึ่งตรงกับธรรมชาติมากที่สุด
- อัตราการฝังตัวสูงกว่าการใส่ตัวอ่อนในระยะ 4-8 เซลล์
- สามารถตรวจหาความผิดปกติ ของโครโมโซมของตัวอ่อน ก่อนใส่กลับคืนสู่โพรงมดลูกได้
- ลดอัตราการเกิดแฝดมากกว่าสองคน ใส่ตัวอ่อนที่เป็นระยะ Blastocyst เพียง 1-2 ตัวอ่อนก็มีโอกาสตั้งครรภ์แล้ว
- การใส่ตัวอ่อนจำนวนน้อย ทำให้มีตัวอ่อนเหลือ หากรอบแรกใส่แล้วไม่สำเร็จ รอบต่อไปก็สามารถเอากลับมาใส่ได้อีก คนไข้ไม่ต้องสิ้นเปลือง เพราะมีตัวอ่อนเหลืออยู่ ซึ่งแช่แข็งเก็บได้ตลอดไป
ขั้นตอนการทำ Blastocyst Culture หรือ บลาสโตซิสต์ คัลเจอร์
- ตรวจวินิจฉัย เพื่อหาปัจจัยที่ทำให้คู่สมรสคู่นั้นมีบุตรยาก ว่าเกิดจากอะไรบ้าง โดยหลักๆ จะมี 3 ปัจจัยใหญ่ คือ คุณภาพไข่ดีหรือไม่ คุณภาพของโพรงมดลูก กับท่อนำไข่เป็นอย่างไร และคุณภาพของอสุจิ
- ฉีดยากระตุ้นไข่ เพื่อให้รังไข่ผลิตไข่หลายๆ ใบ ประมาณ 8-10 ใบ จึงจะทำให้ได้ตัวอ่อนคุณภาพดีหลายตัว สำหรับเลือกใช้ โดยจะฉีดวันละเข็ม ประมาณ 10-12 วัน ในระหว่างที่ฉีดยากระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดแม่มาอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด เพื่อดูว่าไข่มีกี่ใบ และวัดขนาดของไข่ ซึ่งไข่ที่พร้อมจะสุกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-2 ซม. เมื่อไข่มีขนาด 2 ซม.แพทย์จะเปลี่ยนมาฉีดฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่ง เพื่อบังคับให้ไข่ทั้งหมดตกพร้อมๆ กัน เพราะธรรมชาติจะกำหนดให้ใบที่ใหญ่ที่สุดตกใบเดียว โดยมีฮอร์โมนมายับยั้งให้ใบอื่นฝ่อ แต่ในกรณีรักษาการมีบุตรยาก ต้องฝืนเพราะต้องการไข่จำนวนมาก เพื่อมาทำตัวอ่อนหลายๆ ตัว
- เจาะเก็บไข่ หลังจากฉีดยาให้ไข่สุกแล้วภายใน 36 ชั่วโมง แพทย์จะเจาะเก็บไข่ โดยฉีดยานอนหลับเพื่อป้องกันอันตรายจากการเคลื่อนไหวของคนไข้ขณะแทงเข็ม แพทย์จะใช้อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด เพื่อบอกตำแหน่งของรังไข่ แล้วใช้เข็มเล็กๆ ยาวๆ เจาะผ่านผนังช่องคลอดเข้าไปที่รังไข่ แล้วดูดเอาน้ำซึ่งมีเซลล์ไข่ลอยอยู่ออกมาเก็บในหลอดทดลอง
- การเตรียมอสุจิ ในวันเดียวกับที่เจาะเก็บไข่ แพทย์จะเก็บอสุจิจากฝ่ายชาย และคัดเอาตัวที่แข็งแรง มีการเคลื่อนไหวดีหลังจากคัดอสุจิได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็นำมาเทผสมกันในหลอดทดลอง แล้วรอให้อสุจิผสมเข้าไปในไข่ ในบางกรณีอาจต้องช่วยนำตัวอสุจิเจาะเข้าไปในเซลล์ไข่ด้วย เรียกว่าการทำอิ๊กซี่ (ICSI)
- การใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก เมื่อผสมตัวอ่อนเสร็จ นับตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ คือวันเจาะไข่ ตัวอ่อนจะถูกเปลี่ยนอาหารเลี้ยงไปเรื่อยๆ ทุกวัน ซึ่งอาหารเลี้ยงจะมีตามระยะต่างๆ จนกระทั่งถึงบลาสโตซิสท์ รวมเวลาที่เลี้ยงตัวอ่อน 5 วัน จึงนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก โดยใช้ท่อพลาสติกชนิดพิเศษ ขนาดเล็กและมีความนิ่ม สอดผ่านช่องคลอดและผ่านปากมดลูกเข้าไปยังโพรงมดลูก เหมือนตรวจภายในธรรมดา ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ
หลังจากใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว แม่ต้องนอนพักเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จึงสามารถกลับบ้านได้ ตัวอ่อนจะฝังตัวภายใน 12-24 ชั่วโมง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วย พยายามพักอยู่กับบ้านหลังจากใส่ตัวอ่อน
จากนั้นอีก 14 วัน แพทย์จะนัดตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ โดยตรวจระดับฮอร์โมน hCG ถ้าฮอร์โมนสูงขึ้นแสดงว่าตั้งครรภ์ อีกสองสัปดาห์ต่อมาจะสามารถทำอัลตราซาวนด์ และเห็นหัวใจเด็กเต้นได้ และถือเป็นการตั้งครรภ์ปกติ
ค่าใช้จ่ายในการทำ Blastocyst Culture
ค่าใช้จ่ายแต่ละเคส หรือ แต่ละสถานที่ให้บริการ Blastocyst Culture อาจจะแตกต่างกันไป ดังนั้นหากต้องการมีลูกด้วยวิธี Blastocyst Culture ควรสอบถามขั้นตอนและค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลหรือสถานดูแลรักษาโดยตรง เพื่อให้ทราบค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขของแต่ละคู่นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.perfectwomaninstitute.com