แม่หลังคลอดอาจเจอปัญหา เช่น ท้องผูก อ่อนเพลีย ตัวบวม อาการหลังคลอดมีอะไรอีกบ้างและแต่ละปัญหาต้องแก้ไขอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
7 อาการที่มักเกิดกับแม่หลังคลอด พร้อมวิธีแก้ไขรับมือสำหรับคุณแม่มือใหม่
1. แม่หลังคลอดปวดมดลูก และ อึดอัดจุดซ่อนเร้น
หลังคลอดมดลูกยังมีขนาดใหญ่อยู่ค่ะ โดยยอดมดลูกจะอยู่ระดับสะดือ เวลาเดินจึงรู้สึกเหมือนมีอะไรโยกเยกในท้อง เจ็บบริเวณเหนือขาหนีบ เพราะเป็นบริเวณที่มดลูกยืดเกาะกับกระดูกเชิงกราน ทำให้ตอนเดินรู้สึกเจ็บลุกเดินไม่สะดว นอกจากนี้มดลูกจะหดรัดตัวเพื่อขับน้ำคาวปลาออกมา ในช่วง 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดงสด ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เป็นสีแดงจาง ๆ หลังจาก 1 เดือนไปแล้วจะมีสีใส ๆ โดยน้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาพร้อม ๆ กับที่มดลูกมีขนาดเล็กลง ทำให้ช่วงเดือนแรกหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกไม่สบายตัว เฉอะแฉะ อึดอัด ปวดท้องน้อย และกังวลอยู่ตลอดเวลาได้
วิธีลดอาการปวดมดลูกสำหลับแม่หลังคลอด
- ให้ลูกกินนมแม่ จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ไว เมื่อลูกดูดนมร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ช่วยขับน้ำคาวปลาออกมา แม้ปวดท้องน้อยแต่ให้นึกไว้เสมอว่านี่คือการช่วยคุณแม่กลับมาเป็นคนเดิม น้ำหนักลดไว มีรูปร่างเหมือนเดิม
- เอนหลังผ่อนคลาย นอนพักในท่าตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการปวดท้องน้อยได้
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เนื่องจากน้ำคาวปลาที่ออกมาอาจทำให้บริเวณจุดซ่อนเร้นอับ และคันได้
2. แม่หลังคลอดอ่อนเพลีย เพราะนอนน้อย
เพราะต้องตื่นมาดูแลลูกกลางดึก เวลาลูกร้องไห้ก็ต้องให้นม และคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย ทำให้นอนน้อย ระแวงว่าลูกจะร้องตอนไหน ขณะช่วงกลางวันก็ต้องทำงานบ้าน เตรียมอาหาร จึงอ่อนเพลียและเครียดได้ง่าย
วิธีช่วยแม่หลังคลอดนอนพักได้นานขึ้น
- หลับไปพร้อมกับลูกในช่วงสั้นๆ โดยหาจังหวะหลับเป็นระยะๆ เพื่อลดอาการง่วงและเพลีย
- ช่วงกลางคืนให้สลับเวรกับคุณพ่อในการช่วยอุ้มและกล่อมลูกนอนหากตื่นตอนดึก ยกเว้นในแรกที่แม่ยังจำเป็นต้องตื่นมาอุ้มและให้นมลูกจากเต้าเอง แต่เมื่อเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว อาจให้คุณพ่อช่วยและให้ดื่มนมแม่จากขวดบ้าง เพื่อสลับให้คุณแม่ได้นอนยาวๆ พักร่างกาย
3. แม่หลังคลอดท้องผูก
ช่วงหลังคลอดจะยังมีฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อร่างกายอยู่อีก 2 เดือน ทำให้ลำไส้ขี้เกียจทำงาน ทั้งอยู่ในช่วงให้นมลูก ร่างกายเสียน้ำเพื่อไปสร้างน้ำนม ยิ่งคุณแม่ดื่มน้ำน้อยจะทำให้ท้องผูกมากขึ้น
วิธีช่วยลดอาการท้องผูกสำหรับหลังคลอด
- ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ วันละ 2-3 ลิตร
- กินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี
- เมื่อรู้สึกปวดอุจจาระ ไม่ควรอั้น ควรรีบเข้าห้องน้ำทันที
4. แม่หลังคลอดมีรูปร่างเปลี่ยนไป
ทั้งน้ำหนักตัวที่ยังเยอะอยู่ เต้านมก็หย่อนคล้อย ทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจในตัวเองได้ แต่ตามปกติหลังคลอดช่วงสัปดาห์แรก น้ำหนักจะลดลง 7 กิโลกรัมค่ะ และภายในหนึ่งเดือนก็จะลดลงอีกประมาณ 3 กิโลกรัม
วิธีช่วยแม่หลังคลอดกระชับรูปร่าง
- ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ จำกัดอาหารกลุ่มแป้งของทอดหรือแกงกะทิ
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วยสลายไขมันและเสริมสร้างกล้ามเนื้อเป็นส่วน ๆ เช่น หน้าท้อง ต้นขา ช่วงอก
- ใส่ชุดชั้นในที่ช่วยประคองเต้านม ได้ทั้งน้ำหนักลดและรูปร่างฟิต
- ให้นมลูกจากเต้าช่วยทำให้กร่างกายแม่ได้ใช้พลังงานสูง ช่วยลดน้ำหนัก กระชับรูปร่างได้ดี
5. แม่หลังคลอดช่องคลอดเปลี่ยนไป
ขณะตั้งครรภ์ อุ้งเชิงกรานและช่องคลอดต้องรับน้ำหนักทั้งมดลูก น้ำคร่ำ รก และลูกรวมกันกว่า 6-7 กิโลกรัม จึงมีโอกาสหย่อนคล้อยจนคุณแม่บางคนรู้สึกว่ามีลมออกทางช่องคลอดได้
วิธีช่วยแม่หลังคลอดกระชับช่องคลอด
- เลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายที่หักโหม
- กระชับช่องคลอดด้วยการขมิบช่องคลอดวันละประมาณ 50 ครั้ง ขมิบนานครั้งละ 5-10 วินาทีจะช่วยให้ช่องคลอดกระชับขึ้น
6. แม่หลังคลอดหน้าบวม ตัวบวม
อย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมหลังคลอดตัวเองถึงตัวบวมขนาดนั้น จนไม่กล้าพบใคร ไม่กล้าถ่ายรูปกับลูกหรือญาติที่มาเยี่ยม ที่เป็นแบบนี้เพราะมดลูกกำลังลดขนาดลง มีการไหลเวียนของหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะยุบลงเองภายใน 2 สัปดาห์ค่ะ
วิธีช่วยแม่หลังคลอดลดอาการตัวบวม
- ลองปรับท่านั่งและท่านอน เช่น นั่งพักในท่ายกขาสูง
- หลีกเลี่ยงการนั่งห้อยขานาน ๆ จะช่วยลดการบวมได้เร็วขึ้น
- เลี่ยงการกินอาการทอด อาหารเค็ม
7. แม่หลังคลอดซึมเศร้า หดหู่
ความผิดปกติทางอารมณ์ของคุณแม่อาจเกิดขึ้นเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือเกิดจากความเครียด และอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกได้ ยิ่งครรภ์แรกด้วยแล้ว การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องใหม่มาก ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวให้คำแนะนำจะยิ่งเครียดหนัก จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากเลี้ยง และไม่อยากตั้งครรภ์อีกเลยก็ได้
วิธีแม่หลังคลอดลดอาการซึมเศร้าหลังคลอด
- กำลังใจสำคัญที่สุดคือคุณพ่อและสมาชิกในครอบครัว คุณพ่อควรอยู่เคียงข้างคุณแม่ คอยช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูก เป็นต้น
- เป็นที่ปรึกษาเวลาคุณแม่เครียด เรียนรู้การเลี้ยงลูกไปด้วยกัน จะช่วยให้คุณแม่คลายซึมเศร้าไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และมีกำลังใจเลี้ยงลูกน้อยต่อไปค่ะ