หากคุณพ่อคุณแม่กำลังมองหาโรงเรียนสองภาษาที่สอนความเป็นไทยให้ กับบุตรหลานของท่านอย่างเต็มที่ และสอนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แถมยังมีหอพักอย่างดีภายในโรงเรียน สำหรับเด็กนักเรียนที่บ้านไกล โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นโรงเรียนสองภาษาที่น่าสนใจ
การให้ลูกเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็จริง แต่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็ไม่อยากจะให้ลูกลืมความเป็นไทยไปเสีย ทั้งในเรื่องภาษาไทย ที่อยากจะให้ลูกพูดไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่เด็กพูดไทยไม่ชัดแบบที่เรามักจะเห็นเด็กนอกหลายคนเป็นกัน รวมทั้งการอ่าน การเขียนภาษาไทย ก็อยากจะให้ลูกทำได้ดีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เกือบทุกท่าน ยังให้ความสำคัญกับเรื่องกิริยา มารยาท แบบไทย โดยเฉพาะเรื่องการมีสัมมาคารวะ และการรู้จักกาลเทศะตามแบบฉบับของคนเอเชียอยู่ ดังนั้นการส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่มีความเป็นตะวันตกมากกว่าความเป็นไทย สอนภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย และมีครูต่างชาติเป็นผู้สอน ก็อาจทำให้ลูกขาดเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไปได้
ดังนั้นโรงเรียนสองภาษา ที่มีการสอนภาษาไทยในอัตราส่วนเท่ากับภาษาอังกฤษ และมีคุณครูคนไทยสอนร่วมกับครูฝรั่ง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจ และเล็งเห็นว่าสามารถทดแทนการส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนนานาชาติได้ เพราะลูกก็ยังได้รับการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ โดยมีครูต่างชาติมาเป็นผู้สอน ในขณะเดียวกันเรื่องของความเป็นไทย ก็ยังไม่ทิ้ง ลูกๆ จึงมีครบถ้วนทั้งความเป็นสากลและความเป็นไทยไปพร้อมกัน
ดร.สุรภี โสรัจจกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต หลักสูตรคู่ขนาน เมื่อความเป็นไทยและความเป็นสากลเดินทางมาเจอกัน “เวลาพูดถึงโรงเรียนสองภาษา ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ก็คาดหวังว่าเด็กจะต้องได้ภาษาต่างประเทศ ซึ่งอันดับแรกๆ เลย คนก็จะเบนความสนใจไปทางโรงเรียนนานาชาติ เพราะคิดว่าเด็กเรียนแล้วจะได้ภาษา แต่อยากจะบอกว่าภาษาคือวัฒนธรรม การเรียนภาษาคือการเรียนรู้วัฒนธรรม ถ้าเด็กได้เรียนภาษาไทย และวัฒนธรรมไทยในหลักสูตรด้วย ก็จะช่วยสร้างความเป็นคนไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งสำหรับโรงเรียนของเราเอง ก็ตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความเป็นไทยในโรงเรียน พอๆ กับความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือความเป็นนานาชาติและความเป็นสากล กล่าวคือการสามารถอยู่รวมกับคนที่ไม่ใช่คนไทย ที่อยู่ในประเทศไทยได้อย่างกลมกลืน แต่การจะพัฒนาคนไทยให้มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และเข้าใจรากเหง้าของตัวเองได้ เราจะต้องให้เด็กไทยรู้จักภาษาไทยของเราเสียก่อน
เพราะจริงๆ แล้วภาษาก็คือวัฒนธรรม การเรียนภาษาไทย ก็คือการสอดแทรกวัฒนธรรมไทยลงไปด้วยโดยไม่รู้ตัว อย่างภาษาอังกฤษไม่มีคำว่า คะ หรือครับ มีแต่คำว่า you และ I ในภาษาไทยของเรามีคำที่แสดงถึงความอ่อนน้อมอย่าง ผม คุณ ฉัน เธอ ฉะนั้นในวัฒนธรรมที่มีความอ่อนน้อม ความเคารพ การให้เกียรติกัน ของไทยเรากับของตะวันตกมันก็จะต่างกัน พอเราใช้ภาษาไทยในการพูด “ครับอาจารย์” “ค่ะอาจารย์” มันก็เป็นการแสดงความอ่อนน้อม และความเป็นไทยได้แล้ว
ในขณะเดียวกัน การจะอยู่ในโลกสากลได้ เราก็ต้องมีสิ่งที่จะสามารถสื่อสารกับสากลได้ และต้องเข้าใจในวิธีคิด และวัฒนธรรมของสากลด้วยเช่นกัน ฉะนั้นความโดดเด่นของหลักสูตรสองภาษาของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะตัวของเราเอง คือ การเรียนการสอนที่เป็นคู่ขนานกันไป ระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งโรงเรียนนานาชาติเขาจะเรียนภาษาไทยกันประมาณสัปดาห์ละ 2 – 3 คาบเท่านั้น ส่วนในหลักสูตร EP (English Program) ของกระทรวง ก็จะใช้ครูที่เป็น native speaker มาสอนในวิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
แต่ที่โรงเรียนของเราจะทำหลักสูตรให้เป็นคู่ขนาน วิชาต่างๆ เช่นวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เรามีครูคนไทยสอนด้วย แต่เราก็มีครูต่างชาติที่คอยสอนวิชาเหล่านี้ไปด้วยเช่นกัน เพราะแนวความคิดของแต่ละชาติที่ใช้สอนในแต่ละวิชาก็จะไม่เหมือนกัน ก็จะได้ความเข้มข้นในแง่วิชาการแบบคู่ขนานกันไป ดังนั้นจุดเด่นของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต คือการที่เราให้ทั้งความเป็นไทยและความเป็นสากล จากครูที่เราพยายามผสมผสานให้มีความหลากหลาย ทั้งครูจากอเมริกา อังกฤษและแคนาดาเป็นต้น
เด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง
ใน ความคิดเห็นส่วนตัว จากการคลุกคลีการกับการาสร้างและพัฒนาคน ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วภาษาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการพัฒนาคน ภาษาคือ “เครื่องมือ” ภาษาไม่ใช่การพัฒนาคน ดังนั้นเราควรจะให้ความสำคัญกับภาษาในแง่ของการสื่อสารมากกว่า และการให้การศึกษาที่ดีควรจะเน้นไปที่การสร้างทักษะต่างๆ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปแต่ด้านภาษาเพียงอย่างเดียว ครูจะต้องมีทักษะในการค้นพศักยภาพของเด็กด้วยว่า เด็กเก่งในเรื่องอะไร
อย่างที่ใครๆ ก็ชอบพูดว่าเด็กคือผ้าขาว เด็กไม่รู้อะไรมาก่อนเลย สิ่งที่ผู้ใหญ่ป้อนให้จะช่วยปั้นเด็กให้เติบโตมาเป็นแบบนั้น แนวความคิดนี้มันก็ถูกต้องในระดับหนึ่งนะคะ แต่ในขณะเดียวกัน เด็กก็ไม่ใช่ผ้าขาวทั้งหมด เพราะเด็กๆ ก็มีภูมิปัญญาของตัวเองอยู่แล้ว เราแค่มองหาว่าเขามีศักยภาพอะไรอยู่ เขาเก่งอะไร ถนัดอะไร ก็พยายามสนับสนุนและส่งเสริมเขาในด้านนั้น หรือถ้าเขายังหาตัวเองไม่เจอ เราก็สามารถสนับสนุนให้เขาเก่งหลายอย่างได้ แล้วค่อยๆ ค้นหาสิ่งที่เขาเก่งที่สุดจนเจอ
Mr. Victor Eugene Stockton Jr. ครูประจำชั้น
เมื่อคุณครูฝรั่งผสานตัวเองเข้ากับความเป็นไทย
ในชั้นเรียนของผมถ้ามีเด็กนักเรียนใหม่มาจากโรงเรียนที่ไม่ค่อยได้พูด ภาษาอังกฤษเท่าไหร่ ผมจะพยายามให้ความสนใจพวกเขามากเท่าที่จะทำได้ โดยที่จะต้องไม่ไปทำให้เด็กๆ เขินอายจากการที่ไปสนใจพวกเขามากเกินไปด้วย เพราะถ้าเรากดดันเด็กมากๆ เด็กคนอื่นก็จะมองไปทางเขา แล้วเขาก็จะยิ่งอายเข้าไปใหญ่ ก็เลยพยายามที่จะดึงให้เด็กๆ ที่อาย หรือเรียนไม่ได้ ได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากกว่า และวิธีที่จะทำให้เด็กผ่อนคลายก็คือ ทำให้เด็กสนุกกับการเรียน บางทีผมก็ลดอาการกลัวของเด็กๆ ด้วยการทำตัวตลกให้เด็กขำกัน
ผม ว่าเด็กไทยบางคนแม้ว่าเขาจะดูซน แตเด็กซนเป็นเด็กฉลาด และยังมีความสุภาพและเป็นเด็กดีกว่าเด็กนักเรียนในอเมริกาประเทศผม ที่อเมริกาเด็กๆ จะซนมาก แล้วก็ไม่ใช่เด็กเรียบร้อยกันเลย ไม่ค่อยเคารพผู้ใหญ่ด้วย แต่เด็กไทยจะมีความเคารพผู้ใหญ่ จะเคารพครู อย่างเวลาที่เด็กไทย ไม่ยอมทำงานที่ครูมอบหมายให้ทำ หรือไม่สนใจเรียน ครูก็ยังสามารถดึงความสนใจของเด็กนักเรียนไทยกลับมาได้ง่ายกว่า เพราะเด็กไทยจะยังให้ความเคารพครู เชื่อที่ครูพูด ซึ่งตรงนี้เด็กฝรั่งอเมริกันไม่ค่อยมี
และหากคุณพ่อคุณแม่คนไหน รู้สึกว่าลูกของตัวเองยังไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษเท่าไหร่ผมว่าการอ่านสำคัญ ที่สุด พ่อแม่ควรจะใช้เวลาวันละ 20 – 30 นาทีต่อวันนั่งอ่านหนังสือกับลูก แล้วต้องอ่านออกเสียงดังๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกเรื่องการอ่าน ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ แล้วเรื่องราวในหนังสือจะช่วยให้เข้าใจและจดจำโครงสร้างประโยคได้ไปในตัว หรือไม่ก็หาห้องใหญ่ๆ สักห้อง ให้พ่อแม่นั่งอยู่กับที่ แล้วให้ลูกไปยืนอยู่ไกลๆ หน่อย แล้วให้ลูกพูดคำศัพท์ออกมาดังๆ พ่อแม่อาจจะแกล้งบอกว่าพ่อแม่ไม่ได้ยินที่ลูกพูดเลย ให้ลูกพูดคำศัพท์นั้นซ้ำบ่อยๆ ดังๆ การได้ออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษบ่อยๆ และดังๆ จะช่วยฝึกการออกเสียง และช่วยในเรื่องการจดจำคำศัพท์ได้ดี
คุณชรินทร์ธร รัตนนลิน /นักธุรกิจ
คุณแม่น้องซันนี่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ตอน แรกที่ให้น้องซันนี่เข้าโรงเรียน เราพาเข้าไปเข้าโรงเรียนอนุบาลอินเตอร์ ทำให้เขาพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้เลย แล้วคุณย่าเขาก็รู้สึกว่าน้องเป็นเด็กไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ ไม่ค่อยรู้มารยาทคนไทยนัก คุณย่าของน้องก็เลยอยากให้น้องซันนี่รู้เรื่องมารยาทไทยมากขึ้น ก็เห็นที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีโรงเรียนสองภาษาพอดี ซึ่งเราเองก็ยังไม่อยากให้เขาทิ้งภาษาอังกฤษ ก็เลยตัดสินใจให้น้องซันนี่มาเรียนที่นี่ค่ะ แล้วโรงเรียนก็ใกล้บ้านด้วยค่ะ
พอให้น้องซันนี่มาเรียนที่นี่ เขาก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการนะคะ น้องเขาก็รู้จักมารยาทไทยๆ มากขึ้น เพราะถ้าอยู่โรงเรียนอินเตอร์ ตอนเช้าๆ มีเคารพธงชาติ แต่ไม่ได้มีการสดมนต์หน้าเสาธง ไม่ได้มีการไหว้สวัสดีคุณครู เพราะครูต่างชาติก็ไม่ได้มีการไหว้กัน เวลาเดินมาเจอนักเรียน ก็จะพูดทักทายกันตามปกติ ช่วงแรกๆ น้องซันนี่เลยติดนิสัยแบบนั้นมา เวลาเจอผู้ใหญ่เขาเลยไม่ค่อยยกมือไหว้
เรื่องพวกนี้บางทีที่ บ้านสอนเอง น้องเขาก็ไม่ค่อยเชื่อ แต่ถ้าเป็นคุณครูบอกน้องเขาก็เชื่อมากกว่า พอมาเรียนที่นี่แล้ว น้องเขาก็รู้จักวัฒนธรรมไทยมากขึ้นค่ะ แล้วก็อ่านเขียนไทยได้ดีขึ้น จากที่ต้องสะกดทีละตัวๆ พอมาเรียนที่นี่ปีแรก ตอนอนุบาล 3 ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ยิ่งพอมาขึ้นป.1 นี่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลยค่ะว่า เขาอ่านภาษาไทยได้ยาวขึ้น อ่านเป็นประโยคได้มากขึ้น ในขณะที่ภาษาอังกฤษเขาก็ยังดี ยังพูดภาษาอังกฤษได้ดีเหมือนเดิม เหมือนตอนที่ยังเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์
สำหรับที่บ้านมีความคิดเห็นต่างจากบ้านอื่น ที่อยากให้ลูกได้แต่ภาษาอังกฤษ แต่บ้านเราอยากให้ลูกได้ความเป็นไทย ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต คุณแม่ก็สังเกตได้ว่าน้องซันนี่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ในระดับที่น่าพอใจ แค่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็รู้สึกได้ค่ะ ว่าใช้ได้จริงๆ ค่ะ นอกจากนี้ที่โรงเรียนก็ยังมีกิจกรรมผสมผสานวัฒนธรรมให้ลูกได้เข้าร่วมอยู่ ตลอด คุณแม่เชื่อว่าการสอนเด็กโดยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ ทำให้เด็กจำได้ดีด้วยค่ะ และยิ่งยุคปัจจุบันนี้สองภาษาก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับเด็กค่ะ ด้วยการที่เด็กอยู่ในประเทศไทยก็ควรจะมีความเป็นไทยอยู่ด้วย ส่วนภาษาอังกฤษนั้นเราก็ใช้เป็นภาษาที่สอง ดังนั้นคุณแม่คิดว่าโรงเรียนสองภาษาเหมาะสมกับสังคมบ้านเรามากที่สุดแล้วค่ะ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต
52/347 ถนนพหลโยธิน เมืองเอก ต.หลักหก เมือง จ.ปทุมธานี 12000
โทร: 02-792 7500-4
Fax: 0-2792-7509
เว็บไซต์: http://www.sbs.ac.th
E-mail: info@sbs.ac.th