3 ขั้นตอนเพื่อลูกอนุบาล 1-3 พัฒนาความฉลาดแบบ Multiple Intelligencesก่อนหน้านี้เราเคยบอกคุณพ่อคุณแม่ไปแล้วว่าลูกเราสามารถฉลาดได้ถึง 9 ด้านด้วยกัน หรือ Multiple Intelligences (อ่านเรื่อง Multiple Intelligences เพิ่มเติมได้ที่ >>>
Multiple Intelligences ความฉลาด 9 ด้านที่ลูกก็มีได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนเลยเกิดความสงสัยว่าแล้วจะช่วยลูกพัฒนาตัวเองยังไง หรือควรจะเลี้ยงลูกให้ฉลาดยังไงเพื่อให้มีความฉลาดทั้ง 9 ด้าน เรามีเคล็ดไม่ลับมาฝาก ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ใน 3 ขั้นตอน 3 ชั้นเรียนอนุบาล มาเริ่มกันเลยค่ะ
Multiple Intelligences ความฉลาดทั้ง 9 ด้าน
1. ความฉลาดทางด้านภาษา (Linguistic intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความหมายและการใช้ภาษา
2. ความฉลาดทางด้านตรรกะ (Logical-mathematic intelligence) ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และเรื่องของเหตุผล คิดวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์
3. ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical intelligence) ความสามารถในการเข้าใจและสร้างสรรค์ดนตรี เข้าใจจังหวะ
4. ความฉลาดทางด้านมิติ (Spatial intelligence) ความสามารถในการสร้างภาพในจินตนาการ และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน
5. ความฉลาดทางด้านเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic intelligence) ความสามารถในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์
6. ความฉลาดในการเป็นผู้นำ (Interpersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น สามารถจูงใจผู้อื่น
7. ความฉลาดภายในตน (Intrapersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกภายในของผู้คน
8. ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist intelligence) ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ พืช สัตว์ ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม
9. ความฉลาดในการคิดใคร่ครวญ (Exitential intelligence) ชอบคิด สงสัย ตั้งคำถามในเรื่องความเป็นไปในชีวิต ชีวิตหลังความตาย เรื่องเหนือจริง มิติลึกลับ
คุณพ่อคุณแม่สามารถพัฒนาความฉลาดทั้ง 9 ด้านของลูกอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 ได้ดังนี้ ลูกอนุบาล 1 (อายุ 3-4 ปี) : ‘Bodily Kinesthetic+Linguistic+Musical Intelligences’ - เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬากับคุณพ่อ ช่วยงานบ้านคุณแม่ ช่วยพี่สาวจัดที่นอน เปลี่ยนปลอกหมอนใหม่ รวมไปถึงการสวมบทบาทจิตรกรน้อย ขีดเขียนวาดภาพระบายสี พัฒนากล้ามเนื้อจากการเคลื่อนไหวหลากรูปแบบ
- ชักชวนพูดคุยระหว่างวันด้วยหลายหัวข้อ กระตุ้นให้ค้นหาคำพูดสำหรับใช้ในบทสนทนา เช่น ลองเปิดหนังสือท่องเที่ยวแล้วถามว่า “ลูกอยากไปเที่ยวที่ไหนคะ?” หรือ “ลูกอยากรู้ไหมคะว่าหิมะเป็นอย่างไร?” เพิ่มคำศัพท์ให้ลูกซึมซับ รวมทั้งการเล่นเกมเกี่ยวกับตัวอักษร ภาษา การสะกดคำ เช่น Crossword อย่างง่ายๆ
- ดนตรีเป็นหนึ่งเครื่องมือเติมเต็มสุนทรียภาพให้จิตใจเด็กๆ ค่ะ สำหรับวัย 3 ปี ลองเลือกเครื่องดนตรีที่มีขนาดเหมาะมือลูก ไม่มีกฎเกณฑ์หรือวิธีเล่นที่ยุ่งยากซับซ้อน เน้นพัฒนากล้ามเนื้อมือเป็นหลัก เช่น กลองชุดเล็กที่ลูกได้ใช้สองมือจับไม้แน่นๆ แล้วตี...สร้างเสียง หรือเปียโนของเล่นสำหรับเด็ก ให้ได้ลองใช้หลายๆ นิ้วสัมผัสคีย์ เพื่อได้เรียนรู้จักวิธีสร้างเสียง และสนุกไปกับความงดงามของเสียงดนตรี ฮ้า...เพลินจัง
ลูกอนุบาล 2 (อายุ 4-5 ปี) : ‘Interpersonal+Intrapersonal+Naturalist+Existential Intelligences’ - ฝึกฝนลูกให้เข้าถึงจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ผ่านการตรวจสอบความคิด อารมณ์ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อเพื่อนสนิทย้ายโรงเรียนไป ความรู้สึกของลูกเป็นอย่างไร และลูกมีวิธีคลี่คลายความรู้สึกนั้นอย่างไร หรือเมื่อเห็นว่าลูกเกิดเบื่อหน่ายวิชาเรียนขึ้นมาดื้อๆ การพูดคุยเพื่อให้ค้นพบความรู้สึกแท้จริงของตัวเอง เช่น ..คุณครูวิชาภาษาอังกฤษชอบใช้เสียงดังจนหนูๆ รู้สึกกลัว.. เท่านี้หนทางแก้ไขก็ง่ายขึ้นเยอะค่ะ
- วิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ลูกเข้าใจตนเอง และคุณพ่อคุณแม่เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของลูก คือการจดบันทึกค่ะ เพราะจะช่วยให้ได้กลับมาทบทวนกิจวัตรที่ลูกทำไป พฤติกรรมในช่วง 1 เดือนก่อนหน้าเป็นอย่างไร และในวันนี้ลูกได้แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้วหรือยัง เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อนหนูโมโห ขว้างหุ่นยนต์ตัวโปรดจนแตก หนูได้มองเห็นการคงอยู่และการถูกทำลาย สัปดาห์นี้หนูจึงสำรวจตัวเองว่าทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม และฝึกหัดควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้มั่นคงยิ่งขึ้น
- การสานสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างจะเสริมสร้างทักษะทางจิตใจให้ลูกได้ ผ่านการปรับตัวเข้าหาเพื่อน การแสดงออกอย่างอ่อนโยน ไม่ว่าลูกกำลังทำกิจกรรมใด เช่น ทำงานกลุ่ม อยู่ในสนามกีฬา หรือวิ่งเล่นกับเพื่อน
ลูกอนุบาล 3 (อายุ 5-6 ปี) : ‘Logical+Mathetical+Spatial Intelligences’ - ชีวิตของลูกใกล้ชิดกับคณิตศาสตร์มากกว่าที่คิดค่ะ ทั้งการจดจำข้อมูลตัวเลขรอบตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ของคุณพ่อคุณแม่ รหัสไปรษณีย์ที่ลงท้ายจดหมาย เวลาคุณพ่อคุณแม่จ่ายเงินซื้อของ จะราคาถูกหรือแพง ลองชวนลูกทำบันทึกการเงินฉบับคุณหนู ลงรายการอย่างง่ายๆ เช่น ตอนเช้า คุณแม่ไปตลาด ซื้อผักกาดขาว 2 หัว 30 บาท กับไข่ไก่ 6 ฟอง ราคา 20 บาท ซึ่งลูกจะได้หัดบวกลบในเบื้องต้น และยังได้ช่วยบริหารการเงินในบ้าน แม้ยังไม่อยู่ในวัยที่จะมีค่าขนมส่วนตัวเหมือนพี่ๆ วัยประถมก็ตาม
- จากนั้นจึงเชื่อมต่อปลูกฝังให้ลูกซึมซับถึงความเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละ สถานการณ์ เปิดโอกาสให้แก้ปัญหา ด้วยการตั้งสมการ เช่น “พ่อมีเงินในกระเป๋า 15 บาท ซื้อขนมปัง 1 ชิ้น ทำให้เหลือเงิน 5 บาท คำนวณสิครับว่าขนมปังราคาชิ้นละเท่าไหร่?” ลูกก็จะได้ฝึกการคาดคะเน ผ่านการมองภาพรวมจากสิ่งที่พบและสัมผัสได้จริงในชีวิตประจำวันค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและการอ้างอิงจาก
นิตยสาร Kids & Schools