ทุกครั้งที่เห็นเด็กวัยเดียวกับลูกของเรา อดไม่ได้ที่จะลองสังเกตแล้วเปรียบเทียบกับลูกตัวเอง
ที่จริงเรื่องของพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็กบอกอยู่บ่อย ๆ ว่า เรื่องพัฒนาการเติบโตของเด็กแต่ละคนไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ตรวจสอบพัฒนาการก็เป็นเพียงเกณฑ์คร่าว ๆ เด็กแต่ละคนเกิดมาย่อมมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายหลาก จะช้าหรือเร็วกว่ากันบ้างไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
แค่ไหนที่เรียกว่า "พัฒนาการช้า"
พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเพ่งเล็งไปที่ความก้าวหน้าทางพัฒนาการ ที่เห็นได้ชัด อย่างเช่น เมื่อไหร่ลูกจะนั่ง จะคลาน ยืน เดินได้ แต่คุณหมอทางด้านพัฒนาการทั้งหลายจะไม่ดูแค่นี้ คุณหมอจะให้ความสำคัญกับการรับรู้ของเด็ก มากเสียยิ่งกว่าพัฒนาการทางร่างกาย คุณหมอจะดูว่าหนูจะยิ้มให้ผู้คนไหม มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวไหม หรือสนใจจดจำเสียงต่าง ๆ ได้บ้างไหม.. นี่แสดงว่าหนูรับรู้สิ่งแวดล้อมที่มากระทบ สามารถเชื่อมโยงสิ่งหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และมีปฏิสัมพันธ์ตอบสนองได้
แต่คุณพ่อคุณแม่กลับไปกังวล เมื่อเห็นลูกทำอะไรไม่ได้เหมือนคนอื่นเขา ไม่ก้าวหน้าอย่างที่ตารางพัฒนาการบอกไว้ ที่จริงเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา ที่เด็กบางคนก้าวหน้าอย่างมากในบางเรื่องหรือล่าช้าในบางเรื่อง ไม่ได้เป็นสิ่งแสดงว่าหนูจะเป็นอัจฉริยะหรือฉลาดน้อยแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ยิ่งเด็กก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ อาจจะทำให้การเรียนรู้เรื่องอื่นลดน้อยลงไปด้วยซ้ำ อย่างเช่น เด็กที่คลานเก่ง ๆ อาจจะเดินช้าเพราะเขาสามารถคลานไปไหน ๆ ได้คล่องดังใจโดยไม่ต้องใช้ความพยายามที่จะเดิน เด็กบางคนที่ไม่ยอมคลานสักทีแต่เผลอแผล็บเดียวเดินเลยก็มี
เรื่องของพัฒนาการกว้างกว่าที่พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้จักและเข้าใจ และช่วงเวลาในการก้าวข้ามพัฒนาการแต่ละอย่าง เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันไปในช่วงเวลาที่แตกต่างกันถึง 6 เดือนก็เป็นได้ อย่างเช่น พัฒนาการทางภาษา เด็กสามารถเลียนเสียงพูดได้ อาจใช้เวลาตั้งแต่ 5-11 เดือน หรือสามารถเกาะยืนได้ในช่วง 6 เดือน-12 1/2เดือน
พ่อแม่ควรกังวลก็เมื่อลูกมีพัฒนาการช้ามากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 6 เดือน เมื่อนั้นแหละควรไปปรึกษากุมารแพทย์ แต่เตือนตัวเองไว้ด้วยว่า การล่าช้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้หมายความว่า ควรสรุปว่าลูกเป็นเด็กพัฒนาการช้า
"พัฒนาการช้า" เพราะปัจจัยหลายหลาก
มีคุณพ่อคุณแม่คู่หนึ่งกังวลว่า ลูกน้อยวัยเตาะแตะอายุเกือบสองขวบแล้วไม่ยอมเดินสักที ทั้ง ๆ ที่พัฒนาการด้านอื่น ๆ ก็ดีหมด คุณหมอตรวจแล้วพบว่า หนูน้อยมีปัญหาทางด้านสายตา เธอสายตาสั้นมาก เป็นการจำกัดการมองเห็นโลกรอบตัว เท่ากับขาดการกระตุ้นให้เธอออกเดินไปสำรวจโลกที่กว้างออกไป คุณหมอจัดการตัดแว่นให้เธอใส่ แล้วอีก 2-3 สัปดาห์ ต่อมาเธอก็เดินได้
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เมื่อรู้สาเหตุที่ทำให้พัฒนาการลูกล่าช้าแล้ว ก็สามารถแก้ไขให้ลูกเป็นปกติได้ และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นสาเหตุซ่อนเร้น ที่พ่อแม่อาจจะดูไม่รู้ด้วยตัวเอง แต่โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการเด็ก ที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีก้าวขั้นพัฒนาการที่แตกต่างกันนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เป็นสาเหตุใหญ่ ๆ ที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงดังนี้ค่ะ
ลูกสาวหรือลูกชาย
ลูกเกิดมาเป็นหญิงหรือชาย กำหนดพัฒนาการลูกให้แตกต่างตามเพศของลูกด้วย โดยทั่วไปลูกชายมักจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายเร็วกว่าลูกสาว อาจจะตัวโตกว่า คลาน ยืน เดินได้เร็วกว่า ในขณะเดียวกันลูกสาวก็จะมีทักษะทางภาษา พูดได้เร็วกว่าลูกชาย
พ่อแม่เป็นอย่างไรลูกเป็นอย่างนั้น เรื่องกรรมพันธุ์ก็มีส่วนอย่างมากที่จะกำหนดรูปร่างลักษณะของลูก อย่างเช่นตัวโตแค่ไหน ฟันขึ้นเร็วหรือเปล่า ผมดกหรือผมบาง ลักษณะเหล่านี้แหละที่พ่อแม่มักจะเผลอนำไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น โดยลืมไปว่าลูกเราย่อมถ่ายทอดลักษณะจากพ่อแม่ไป พ่อแม่ตัวเล็กลูกก็ย่อมตัวเล็กเป็นธรรมดา ตรงนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกแตกต่างจากคนอื่นซึ่งพ่อแม่น่าจะ คิดถึงเป็นอย่างแรก ๆ
พัฒนาการกับสภาพร่างกาย
ชีวสภาพหรือลักษณะทางกายของลูกก็มีผลต่อพัฒนาการของลูก เด็กที่อ้วนตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยมักจะไม่ค่อยคล่องแคล่วว่องไว เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก เป็นอุปสรรคทำให้มีพัฒนาการการเคลื่อนไหวช้าได้ อาจจะคลาน ยืน เดิน ช้ากว่าเด็กอื่น หรือเด็กที่ขี้โรค เจ็บป่วยบ่อย ๆ ก็ทำให้พัฒนาการล่าช้าได้เหมือนกัน บางครั้งอาจทำให้พัฒนาการถดถอยด้วยซ้ำ
ลักษณะนิสัยและสภาวะอารมณ์หนูน้อยแต่ละคน เกิดมาพร้อมมีลักษณะเฉพาะตัวติดตัวมาด้วย เด็กบางคนเกิดมาเป็นเด็กแอ็กทีฟ กระตือรือร้น บางคนก็สงบนิ่ง เด็กที่แอ็กทีฟกระตือร้นก็มักจะเคลื่อนไหวได้เร็วกว่า ในขณะที่เด็กที่ชอบเล่นคนเดียวเงียบ ๆ อาจจะมีทักษะในการใช้มือก้าวหน้ากว่าเด็กที่ชอบเคลื่อนไหว มีสมาธิและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่า
อีกอย่างหนึ่งคือสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กไม่มีความสุข ทำให้เด็กหงุดหงิด งอแง ง่าย ก็เป็นอุปสรรคสะกัดกั้นพัฒนาการของเด็กให้ช้ากว่าเด็กทั่วไปได้ เด็กขาดแรงจูงใจให้เรียนรู้ที่จะทำ จะฝึกทักษะต่าง ๆ
พ่อแม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการแค่ไหน ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการของพ่อแม่มีผลต่อพัฒนาการของลูก พ่อแม่ที่มีความรู้ในเรื่องพัฒนาการ รู้ว่าลูกวัยใดมีขั้นตอนการเติบโตทางพัฒนาการอย่างไร รู้จักวิธีกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการของลูกก็จะได้เปรียบอย่างยิ่ง เพราะจะสามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการก้าวหน้า และแก้ไขพัฒนาการด้านที่อ่อนด้อยของลูกให้ดีขึ้นได้ อย่างเช่น คุณแม่รู้ว่าการพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ จะทำให้ลูกมีทักษะทางภาษา ก็จะพยายามพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ แม้ว่าลูกยังเล็กแบเบาะอยู่ก็ตาม หรือถ้าเห็นลูกยังไม่ยอมคลานสักที ก็พยายามช่วยลูกด้วยการเอาของเล่นมาล่อ ให้ลูกพยายามเคลื่อนไหวไขว่คว้า ให้เวลาเล่นกับลูกมากขึ้น
ควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร
พ่อแม่ที่รักลูกดูแลลูกดีเกินไป ก็อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการล่าช้าได้เหมือนกัน อย่างเช่นพ่อแม่ที่คอยประคบประหงมปกป้องลูกมากเกินไป ไม่ยอมให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง เรียนรู้ความผิดพลาด หกล้มหกลุกด้วยตัวเองบ้าง เหมือนที่คนโบราณบอกว่าเมื่อไรที่ลูกเริ่มหัดพลิกตัว พ่อแม่อย่าช่วยพลิกให้ลูก ไม่เช่นนั้นจะต้องช่วยลูกตลอดไปทั้งชีวิต นับว่าคนโบราณพูดไม่ผิด เลยเตือนใจพ่อแม่รุ่นต่อไป ไม่ให้รักลูกจนไม่ยอมให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ในทางตรงข้ามเด็กที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เด็กก็จะมีพัฒนาการล่าช้าได้อีกเช่นกันค่ะ
มีพี่น้องช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
การที่มีลูกหลายคนหรือสองคนขึ้นไป มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ลูกมีความก้าวหน้าทางพัฒนาการ ไม่ว่าจะด้วยเกิดบรรยากาศแข่งขันกลาย ๆ เช่น กลัวน้องแย่งของเล่นก็เป็นการกระตุ้นให้ลูกรีบลุกขึ้นไปหยิบของเล่น หรือว่าจากการเป็นเพื่อนเล่นกัน น้องได้เลียนแบบพี่ พี่สอนน้องให้เล่นและเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ พี่น้องได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ฝึกทักษะทางภาษาสังคม หรือบ้านที่พี่ป้าน้าอาอยู่ร่วมกันหลายคน ก็ช่วยกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้มีพัฒนาการที่เร็วขึ้นได้ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษาจะเห็นได้ชัด เด็กที่มีคนเติบโตในบ้านที่มีญาติพี่น้องหลายคน และได้รับความสนใจพูดคุยด้วยบ่อย ๆ ก็จะพูดได้เร็ว พูดเก่ง
รู้อย่างนี้แล้วคงเลิกเปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่นได้แล้วนะคะ แต่การเฝ้าดูลูกเติบโตยังเป็นเรื่องดีที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ เพียงมีหลักคิดวิเคราะห์อย่างที่เสนอไปแล้วข้างต้น และพยายามหาต้นตอของปัญหา
ขอฝากไว้ว่า ต่อไปนี้เมื่อพูดถึงพัฒนาการของลูก ลองมองหาข้อดีของลูกเพื่อส่งเสริมให้ลูกทำได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และมองหาจุดอ่อนเพื่อช่วยปรับให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ลูกจะ "ช้า" หรือ "เร็ว" พ่อแม่เท่านั้นค่ะที่จะช่วยลูกได้
หากไม่แน่ใจอย่างไรปรึกษากุมารแพทย์ที่คุณพาลูกไปตรวจร่างกาย หรือจะเจาะจงไปหาคุณหมอทางด้านพัฒนาการเด็กโดยเฉพาะก็ได้ โรงพยาบาลรัฐใหญ่ ๆ ทุกแห่งมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กประจำอยู่ค่ะ