วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่วัคซีนโควิด-19 จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่ Sinovac ยี่ห้อเดียวแต่ยังมี AstraZeneca อีกจำนวน 117,000 โดส
การฉีดวัคซีน Sinovac ต้องฉีดทั้งหมด 2 โดสห่างกัน 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นวัคซีน Sinovac ล็อตแรกจึงมีความจำเป็นสำหรับฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 1 แสนคน ได้แก่ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือเสียชีวิต และ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกัน รักษา และควบคุมโรคโควิด-19 โดยตรง
วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย เดิมเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง วัคซีน Sinovac เป็นวัคซันที่ผลิตจากบริษัทยาในประเทศจีน เคยมีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไวรัสตับอักเสบ A และ B วัคซีนโรคอีสุกอีใส เป็นต้น Sinovac ขณะนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บราซิล ชิลี จีน โคลอมเบีย อินโดนีเซีย ลาว เม็กซิโก ตุรกี และอุรุกวัย
ก่อนหน้านี้มีข่าวเรื่องผลการทดลองใน 3 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี พบว่า
ทั้งนี้ตัวเลขของประสิทธิภาพที่แตกต่างกันมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น กลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง เกณฑ์ผู้ป่วย ระยะเวลาที่ศึกษา และความชุกของโรคในพื้นที่แต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามภาพรวมของวัคซีน Sinovac ก็ยังถือว่ามีความปลอดภัย
วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนโควิดที่คิดค้นโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยใช้เชื้อไวรัสอดิโน่ (Adenovirus) มาดัดแปลงพันธุกรรมให้มีโปรตีนโคโรนาไวรัส ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัสได้ การวีคซีน AstraZeneca ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 1-3 เดือน และใช้สำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป
บริษัท AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เริ่มการทดลองทางคลินิกครั้งแรกในสหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา จากอาสาสมัคร 23,000 ราย พบว่าอาสาสมัครมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมี 2,800 ราย ได้รับวัคซีนในเข็มแรกเพียงครึ่งเดียวกับที่การทดสอบกำหนด ซึ่งเกิดจากความบังเอิญ และในภายหลังจึงได้ฉีดอีกเข็มตามปกติ กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพียงครึ่ีงเดียวมีผลป้องกันโควิด-19 ได้ถึง 90% ในขณะที่ผู้รับวัคซีนเต็มทั้ง 2 เข็มกลับมีผลป้องกันเพียง 62% นักวิจัยคาดว่าอาจเป็นเพราะผู้ที่รับเข็มแรกแบบครึ่งเดียว อาจมีความคล้ายกับการติดเชื้อธรรมชาติมากกว่า จึงกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม บริษัท AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ทำการทดลองวัคซีนกับกลุ่มอาสาสมัครในอีกหลายครั้งในหลายกลุ่มตัวอย่าง ยืนยันวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca สามารถป้องกันอาการติดเชื้อรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 100% ลดการแพร่กระจายเชื้อได้ถึง 67% สามารถป้องกันโรคได้มากกว่า 70% ตั้งแต่ 22 วันนับจากฉีดวัคซีนโดสแรก และจะยิ่งมีประสิทธิผลสูงขึ้นเมื่อยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดโดสแรกและโดสที่ 2 ให้นานขึ้น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเผยถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จาก Sinovac และ AstraZeneca ในระยะแรกจะเป็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามสถานการณ์ฉุกเฉินก่อน จากนั้นจะเปิดให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนได้เอง ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ที่มีการจัดหาเพิ่มเติมต้องนำมาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน
นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลเตรียมแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนดของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดช่องทางให้ประชาชนที่สมัครใจ รับการฉีดวัคซีนสามารถยื่นรายชื่อแสดงความจำนงได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงความปลอดภัย และติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากประเทศต่าง ๆ
อ้างอิง :
https://thestandard.co/first-sinovac-covid-19-vaccine-in-thailand/
https://thestandard.co/us-health-coronavirus-astrazeneca-varian/
https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/information-for-uk-recipients-on-covid-19-vaccine-astrazeneca