รศ นพ อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และ ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยสถิติการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีจากความไม่ปลอดภัย 19 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2543 -2561 มีเด็กตายจำนวน 55,916 ราย และเกือบครึ่งคือเด็กจมน้ำตายจำนวน 22,729 คน
โดยเด็กอายุ 4-12 ปี เป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อการตายในช่วงปิดเทอมสูงที่สุด และช่วงที่อันตรายที่สุดคือ 12-23 เมษายน และส่วนใหญ่ มักตายในละแวกบ้าน ในบริเวณชุมชน ในขณะเล่นกับเพื่อน สาเหตุสำคัญพบว่าร้อยละ 56 ตายจากการจมน้ำ ร้อยละ 25 ตายจากการจราจร ร้อยละ 8 ตายจากตกที่สูง ของแข็งชนกระแทก ร้อยละ 7 ตายจากความรุนแรง และร้อยละ 3 ตายจากไฟฟ้า
โดยจมน้ำเป็นการตายอันดับหนึ่ง ดังนั้นพ่อแม่ควรเพิ่มความระมัดระวัง แหล่งน้ำต่างๆ ในละแวกชุมชนใกล้บ้านเด็ก เช่น บ่อขุด บ่อหรือสระน้ำใช้ชุมชน คลองหรือแม่น้ำในบริเวณชุมชน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กจมน้ำ ต้องเพิ่มทักษะ 5 ด้านให้เด็ก คือ
1. รู้จักเลี่ยงเข้าใกล้จุดเสี่ยง
2. ฝึกลอยตัวในน้ำให้ได้อย่างน้อย 3 นาที
3. รู้จักการว่ายเข้าฝั่งให้ได้อย่างน้อย 15 เมตร เพราะสาเหตุของการจมน้ำ เด็กมักจะห่างจากฝั่งไม่มาก
4. รู้จักขอความช่วยเหลือ ทั้ง ตะโกน โยน ยื่น สิ่งของช่วยเหลือผู้อื่น
5. ใส่เครื่องช่วยชีวิต เช่น ชูชีพ ในการเดินทางทางน้ำ
เดือนเมษายนเป็นช่วงที่อากาศร้อนจัด ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองเองต้องทำงาน เด็กๆ จึงมีความเสี่ยงในการจมน้ำตายสูง ดั้งนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้ตะหนักถึงภัยการจมน้ำ หรือหากเป็นไปได้ ควรพาลูกไปฝึกว่ายน้ำเพื่อให้เขาเกิดทักษะการเอาตัวรอดจะดีที่สุดค่ะ