แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก แมลงตัวเล็กแต่พิษร้าย ที่มักจะพบช่วงหน้าฝน ใครโดนพิษเข้ามีอาการแพ้อาจถึงขั้นนอนโรงพยาบาลได้เลย
อันตราย เตือนพ่อแม่ระวังลูกให้ห่างจากแมลงก้นกระดก
หน้าฝนเป็นช่วงที่มีสัตว์และแมลงต่าง ๆ ออกมาเยอะมาก โดยเฉพาะสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ อย่างงู ตะขาบ แมงป่อง คางคก แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับสัตว์มีพิษชนิดอื่นแต่พิษร้ายเช่นกัน นั่นคือเจ้าแมลงก้นกระดก ที่มักจะออกมาพ่นพิษให้คนเราเจ็บแสบมากมาย ยิ่งเด็กๆ ที่ไม่รู้ประสามักโดนพิษแมลงก้นกระดกบ่อยมาก พ่อแม่ต้องหาทางป้องกันแต่เนิ่น ๆ เลยค่ะ
แมลงก้นกระดกคือตัวอะไร
แมลงก้นกระดกหรือด้วงก้นกระดก เป็นแมลงขนาดเล็ก ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงมักเรียกว่า "ด้วงก้นกระดก" โดยมักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน
อาการเมื่อโดนพิษแมลงก้นกระดก
- ผิวหนังระคายเคือง มีอาการแสบร้อนจัด ๆ หรือคันเล็กน้อย
- จะมีผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้เป็นทางยาว
- บางรายมีตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน
- อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
การดูแลรักษาหากถูกตัวแมลงก้นกระดก
- รีบล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ และประคบเย็นบริเวณที่สัมผัสแมลง
- ถ้าเกิดรอยแดงเล็กน้อยจะสามารถหายเองได้ภายใน 2 - 3 วัน ไม่จำเป็นต้องทายา
- ถ้ามีผื่นมาก ขึ้นเป็นตุ่มน้ำพองควรรีบไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
วิธีป้องกัน “แมลงก้นกระดก”
- ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น
- ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว
- ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกัน
- ควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตูและหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวันและกลางคืน
- ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน
- บอกลูกให้ระวังแมลงสีส้ม ๆ ดำ ๆ อย่าจับแมลงชนิดนี้ หากเป็นเด็กโตสามารถจดจำรูปร่างลักษณะได้แล้ว ควรเปิดภาพให้ลูกดูจะได้ระมัดระวังตัว