ปกติบ้านเราก็ร้อนตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่พอถึงหน้าร้อนจริงๆ ก็ร้อนจนตับจะแตกเลยว่าไหมคะ แต่หน้าร้อนก็คือช่วงที่ครอบครัวชอบออกไปเที่ยว เพราะตรงกับปิดเทอมของเด็กๆ หน้าร้อนแบบนี้ ก็ต้องระวังโรคภัยช่วงหน้าร้อนที่ตามมาด้วยนะคะ มีโรคอะไรบ้างที่ต้องระวัง มาดูกันค่ะ
สาเหตุของโรค
เพราะร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติในส่วนของการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง
สัญญาณเตือนโรคลมแดด
คือไม่มีเหงื่อออกแม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาจหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ค่ะ
วิธีการดูแลป้องกัน
ดื่มน้ำให้เพียงพอ หากเด็กๆ ต้องไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรพกขวดน้ำติดตัวและจิบน้ำบ่อยๆ
หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
ใส่หมวกทุกครั้งที่ออกกลางแดด
ใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้าเมื่ออากาศร้อนมาก จะช่วยให้สดชื่นขึ้นได้
สาเหตุของโรค
เกิดจากการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งเชื้อเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในช่วงหน้าร้อน บางทีเด็กๆ ออกไปเล่นข้างนอก เอามือไปจับสิ่งต่างๆ มา แล้วเอามือเข้าปากก็ทำให้ติดเชื้อมาได้ง่ายค่ะ
อาการของโรคท้องร่วง
มีการถ่ายเหลววันละ 3 ครั้ง หรืออาจมากกว่า บางครั้งอาจมีมูกเลือดปน อาเจียน กินอาหารได้น้อย รู้สึกหิวน้ำมากกว่าปกติ และมีไข้สูงร่วมด้วยค่ะ
วิธีการดูแลป้องกัน
กินอาหารที่ร้อนและปรุงสุกใหม่ๆ เสมอ และไม่กินของร่วมกัน หากไม่ใช้ช้อนกลาง
ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากเล่นเสร็จ
ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ ที่เด็กสามารถเอาเข้าปากได้เป็นประจำ
ดื่มน้ำสะอาด และเป็นน้ำที่อยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด
ไม่ควรให้ดื่มนมที่ค้างคืน เพราะอากาศร้อนจะทำให้นมบูดง่าย
สาเหตุของโรค
ช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงที่เชื้อไวรัสระบาดและทำให้เด็กๆ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้จะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น และอาจป่วยเป็นหวัดเรื้อรังจนเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ซึ่งโรคหวัดเกิดจากการติดต่อหรือสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย การไอ จามรดกัน หรือสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกัน
อาการของไข้หวัด
คือ มีน้ำมูกใสๆ คัดจมูก จามบ่อย ปวดศีรษะ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้สูง และอาจมีอาการไอตามมาทีหลังได้ ปกติแล้วอาการหวัดจะเป็นไม่เกิน 3-7 วันแล้วอาการจะหายไปเอง แต่ถ้าไม่หายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีการดูแลป้องกัน
ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้คนป่วยไข้หวัด
ไม่ควรไปสถานที่แออัด เพราะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ทำให้เด็กติดเชื้อได้ง่าย
หากเด็กเป็นหวัด มีไข้ ควรเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา ทุก 2-3 ชั่วโมง และกินยาลดไข้ หากมีน้ำมูกเหนียวควรล้างจมูกอย่างถูกวิธี
ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ให้เด็กๆ นอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยให้หายจากหวัดเร็วขึ้น
สาเหตุของโรค
เด็กเล็กเป็นผดผื่นร้อนได้ง่าย เมื่ออยู่ในอากาศร้อนมากๆ ต่อมเหงื่อจะระบายความร้อนออกมาเป็นเหงื่อ แต่ด้วยต่อมเหงื่อของเด็ก ยังมีการทำงานได้ไม่ดีมากนักก็อาจเกิดการอุดตัน และทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำใสๆ หรือเป็นผดผื่นคันขึ้นมาได้นั่นเอง
อาการของผดผื่น
คือ เป็นตุ่มใสๆ กระจายทั่วผิวหนัง มักเกิดบริเวณที่ผิวลูกบอบบาง เช่น หน้าผาก หน้าอก ข้อพับแขน ขา ก้น หลัง และมีอาการคัน โดยลักษณะผื่นแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ ผดใส เกิดจากการอุดตันที่ผิวหนังชั้นนอก ส่วนใหญ่พบในเด็กทารก ผดแดง เกิดจากการอุดตันที่ผิวหนังชั้นกลาง ผดสีขุ่น เกิดจากการอุดตันที่ชั้นผิวหนังแท้ แต่พบได้น้อยค่ะ
วิธีการดูแลป้องกัน
หลีกเลี่ยงการพาลูกออกไปเดินเล่นในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด
อาบน้ำเพื่อช่วยระบายความร้อน จะช่วยให้ผิวลูกสดชื่นขึ้น ไม่เหนียวเหนอะหนะ
เช็ดตัวบ่อยขึ้น เพื่อไม่ให้ผิวเกิดการอับชื้น โดยเฉพาะบริเวณซอกแขน ขา คอ ก้น
ใช้น้ำเย็นเช็ดบริเวณที่มีผดผื่นขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการคันให้ลูกได้ ตัดเล็บลูกให้สั้น เพื่อป้องกันการเกาจนเกิดแผลอักเสบ
สวมใสเสื้อผ้าบางๆ ใส่สบาย และระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย
จัดสถานที่ในบ้านให้ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีลมพัด จะช่วยให้อากาศในบ้านเย็นสบายขึ้น
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อไวรัส เรบีส์ ที่มาจากการโดนสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน หรือแม้แต่น้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อมาโดนบริเวณแผลหรือผิวหนังของเรา ก็ทำให้ติดเชื้อได้ โรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่มีทางรักษา หากติดเชื้อมาแล้วเสียชีวิตเลย สำหรับเด็กต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเด็กชอบเล่นกับสุนัข แมว และบางทีอาจโดนกัด หรือโดนข่วนมาโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ และอาจทำให้ติดเชื้อมาได้ค่ะ
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
หากติดเชื้อมาแล้วจะมีอาการแสดงออกภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือเชื้ออาจจะซ่อนอยู่เป็นปีแล้วค่อยแสดงอาการออกมาก็ได้ ซึ่งหลังจากเชื้อแสดงอาการออกมาแล้ว ภายใน 2-3 วัน จะมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัดหรือข่วน ต่อมาจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย มีอาการตื่นเต้นและไวต่อสิ่งเร้ารอบตัว
เริ่มไม่ชอบแสง มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็ง กลืนอาหารหรือน้ำไม่ได้ และเริ่มไม่มีสติ ชักเกร็ง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต เป็นอาการที่น่ากลัว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรักษาไม่ได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรระวังและป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
วิธีการดูแลป้องกัน
ควรนำน้องหมา น้องแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง โดยเริ่มฉีดได้เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุ 2-4 เดือน
ไม่ควรให้เด็กๆ ไปเล่นกับสุนัขและแมวจรจัด หรือไม่มีเจ้าของ
หากสังเกตเห็นรอยกัดหรือรอยข่วนบนตัวเด็ก ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่หลายๆ ครั้งแล้วใส่ยารักษาแผลสดทันที
ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด และฉีดให้ครบตามที่แพทย์นัด เพียงเท่านี้ก็ช่วยป้องกันลูกน้อยจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้แล้ว