เด็กที่เป็นโรคออทิสซึมจะมีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารที่ล่าช้า โดยเฉพาะในด้านการพูด รวมถึงมีปัญหาในการเข้าสังคม และมักมีความคิดและพฤติกรรมซ้ำๆ
อย่างไรก็ดี มีเด็กออทิสซึมบางรายที่มีความสามารถในระดับอัจฉริยะ หรือบางครั้งสามารถใช้คำว่า “เหนือมนุษย์” ได้ ความลับของศักยภาพเหล่านี้คืออะไร สามารถกระตุ้นได้หรือไม่ รวมไปถึงจะเกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมทุกคนหรือไม่ เรามาติดตามกันครับ
จากรายงานทางการแพทย์ทางยุโรป ได้มีคำๆ หนึ่งปรากฏในวารสารการแพทย์สมัยก่อนคือคำว่า “idiot savant” ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คงราวๆ อัจฉริยะปัญญาอ่อน คือหมายถึงบุคคลที่มีความสามารถระดับอัจฉริยะในบางด้าน แต่ก็มักมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือมีความบกพร่องในเรื่องง่ายๆ ที่บุคคลทั่วๆ ไปสามารถทำได้
ในปัจจุบัน มักจะเรียกใหม่ว่าเป็น “autistic savant” ซึ่งมีความหมายเหมือนกับหัวข้อเรื่องครั้งนี้เลยครับ คือ “อัจฉริยะ ออทิสซึม” เพราะราวๆ ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีภาวะนี้จะเป็นโรคออทิสซึมร่วมด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เด็กที่เป็นโรคออทิสซึมจะมีศักยภาพเช่นนี้ทุกราย โดยมีการประมาณการเอาไว้ราวๆ ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยออทิสซึมเท่านั้นที่มีภาวะนี้ และอัจฉริยภาพที่พบในเด็กออทิสซึมแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งมักแบ่งออกเป็น กลุ่มหลักๆ ดังนี้
กลุ่มอัจฉริยะด้านความจำ หรือบางคนใช้คำว่ากลุ่มที่มีความจำเหมือนกับรูปถ่าย (photographic memory) คือไม่ว่าจะเห็นหรืออ่านอะไรก็ตาม จะสามารถจดจำได้หมด หรือในบางรายที่มีความสามารถในการวาดภาพ จะสามารถมองดูภาพนั้นในช่วงเวลาสั้นๆ และวาดภาพออกมาเอง โดยมีรายละเอียดของภาพครบถ้วน แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในภาพที่คนทั่วไปไม่ได้สังเกต
ในประสบการณ์ของหมอ เคยเจอเด็กออทิสซึมที่สามารถท่องชื่อไดโนเสาร์ทุกสายพันธุ์ที่ค้นพบทั่วโลกได้ หรือในสมัยก่อน อาจารย์ของหมอก็เคยเล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยออทิสซึมที่สามารถจดจำรายชื่อในสมุดโทรศัพท์หรือสมุดหน้าเหลืองได้หมด จำได้ว่าชื่ออะไร นามสกุลอะไร อยู่หน้าไหน
ส่วนในต่างประเทศก็จะมีรายงานเคสที่เป็นโรคออทิสซึมที่สามารถจดจำรายละเอียดในปฏิทินได้หมด ถึงขนาดสามารถบอกได้ว่า วันไหนของปีไหน เป็นวันอะไร (จันทร์-อาทิตย์) ในช่วงรอบ 100 ปีเลยทีเดียว แม้จะฟังดูแล้วเหลือเชื่อ แต่มันเป็นความจริงครับ
กลุ่มอัจฉริยะด้านการคำนวณ กลุ่มนี้จะเป็นเสมือนเครื่องคิดเลขเคลื่อนที่ได้ หมอเคยเห็นคนไข้ของรุ่นพี่หมอคนหนึ่งสามารถคำนวณแก้สมการลอการิทึม หรือ log โดยการคิดในใจ ย้ำว่าคิดในใจนะครับ เพราะคนทั่วๆ ไป ขนาดกดเครื่องคิดเลขยังลำบากเลย แต่เด็กออทิสซึมที่มีอัจฉริยภาพด้านการคำนวณ สามารถแก้โจทย์ปัญหาด้านคณิตศาสตร์ได้ง่ายๆ ด้วยการคิดในใจ ผมเคยถามโจทย์เลขเขา ปรากฏว่าเด็กตอบได้เกินกว่าที่เครื่องคิดเลขจะแสดงจุดทศนิยมออกมาได้อีก ต้องบอกว่าเด็กกลุ่มนี้เก่งเรื่องคำนวณจริงๆ ครับ
กลุ่มอัจฉริยะด้านศิลปะ และกลุ่มอัจฉริยะด้านมิติสัมพันธ์ กลุ่มนี้จะมีความสามารถในด้านงานศิลปะและการเข้าใจรูปทรง 3 มิติเป็นอย่างสูง โดยมีรายงานจากต่างประเทศเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นโรคออทิสซึมที่เห็นภาพเพียงครั้งเดียว ก็สามารถปั้นดินเหนียวออกมาเป็นรูปทรงสามมิติได้
กลุ่มอัจฉริยะด้านดนตรี ที่เพียงแค่ได้ยินเสียงดนตรี ก็สามารถที่จะเล่นตามได้เลย รวมถึงมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดด้วย หรือในกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับชายตาบอดที่เป็นโรคออทิสซึมแต่มีความสามารถทางดนตรีเข้าขั้นอัจฉริยะ ที่แสดงให้เห็นในรายการประกวด ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นศักยภาพของผู้ป่วยโรคออทิสซึมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีอัจฉริยภาพเกินกว่า 1 ด้านอยู่ในตัวเองอีกด้วย
อย่างไรก็ดี บุคคลที่มีอัจฉริยภาพเหล่านี้ กลับมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องง่ายๆ ได้ บางรายพูดสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ หรือบางรายกลัวหรือแม้แต่ปฏิเสธการเข้าสังคม ซึ่งทำให้เขาเหล่านี้ประสบปัญหาในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแม้จะมีศักยภาพสูงในบางด้านก็ตาม
กระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีคำตอบทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับกลไกทางสมอง ที่สามารถอธิบายอัจฉริยภาพในผู้ป่วยโรคออทิสซึมเหล่านี้ จึงทำให้เราไม่สามารถค้นหาวิธีหรือทำการกระตุ้นสมองให้อัจฉริยภาพเหล่านี้แสดงออกมาได้
อย่างไรก็ดี จากทฤษฎีล่าสุดเกี่ยวกับตัวโรคออทิสซึม ได้มีการกล่าวถึงความไม่สมดุลของวงจรประสาทในผู้ป่วยโรคนี้ กล่าวคือผู้ป่วยโรคออทิสซึมจะมีวงจรประสาทที่เชื่อมโยงระยะใกล้ๆ หนาแน่นมาก แต่วงจรประสาทที่เชื่อมโยงระยะไกลจะมีปริมาณลดลง ทำให้ความสามารถบางด้านที่ใช้สมองบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นหลักจะมีศักยภาพเหนือกว่าคนทั่วไป (จากการที่มีการเชื่อมต่อวงจรประสาทมาก)
ในขณะที่ทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม เป็นการทำงานของสมองหลายส่วน ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงวงจรประสาทระยะไกล ซึ่งพบว่าจะลดลงในผู้ป่วยโรคออทิสซึม ทำให้ทักษะเหล่านี้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่โชคดีที่สมองของมนุษย์มีศักยภาพในการปรับตัว และปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมกับหน้าที่
ดังนั้น ไม่ว่าเด็กออทิสซึมคนนั้นจะมีอัจฉริยภาพซ่อนเร้นในตัวหรือไม่ เขาก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นได้ ผ่านการฝึก ผ่านการเล่น ผ่านปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะมีอัจฉริยภาพซ่อนเร้นหรือไม่ก็ตาม มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์
โดยสรุป อัจฉริยภาพในเด็กออทิสซึมที่ได้กล่าวมาเป็นเรื่องจริง เพียงแต่จะไม่ได้เกิดกับเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมทุกคน และในรายที่มีศักยภาพก็อาจจะไม่ได้แสดงให้เห็น ถ้าตัวเด็กเองไม่ได้รับโอกาส ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆ ที่เป็นโรคออทิสซึมจึงควรพาลูกๆ เข้าสู่สังคม ให้เจอกับประสบการณ์หรือได้ทำอะไรแปลกๆ ใหม่ ก็อาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ค้นพบอัจฉริยภาพของพวกเขาได้
อย่างน้อย คือการได้รับสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ ก็เป็นกระบวนการในการฟื้นฟูการทำงานของสมองในเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมอยู่แล้วครับ หมอขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหลานเป็นโรคนี้นะครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง