คุณแม่ตั้งครรภ์ทราบไหมคะว่า นอกจากน้ำหนักตัวลูกแรกเกิดแล้ว ในท้องของคุณแม่ยังประกอบไปด้วยน้ำหนักของอะไรอีกบ้างที่ทำให้น้ำหนักตัวเราพุ่งขึ้นไป 10-12 กิโลกรัมในช่วงตั้งครรภ์ คุณหมอมีคำตอบค่ะ
- ถุงไข่แดง
มีบทบาทสำคัญในการให้สารอาหารต่อตัวอ่อนในระยะเริ่มต้น เป็นถุงที่ติดอยู่กับตัวอ่อนประกอบด้วยเส้นเลือดมากมาย การตั้งครรภ์ปกติจะเห็นถุงไข่แดงช่วง 5 ถึง 12 สัปดาห์ การแท้งเกิดขึ้นได้ในกรณีไม่เห็นถุงไข่แดงหรือขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตรหรือใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร ขอบไม่เรียบ ความผิดปกติของถุงไข่แดงที่มีหินปูนมาเกาะพบได้ในตัวอ่อนที่ตายไปแล้ว
- รก
เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิ จะแบ่งเป็นส่วนของทารกและส่วนของรก ส่วนสายสะดือจะพัฒนามาจากส่วนของทารก รกมีหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน สารน้ำ สารอาหาร เป็นที่แลกเปลี่ยนของเสียจากทารกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และรกเป็นที่ผลิตฮอร์โมน hcg ซึ่งช่วยค้ำจุนการตั้งครรภ์ รกจะเชื่อมต่อกับทารกทางสายสะดือ ซึ่งประกอบด้วยเส้นเลือดดำ ซึ่งนำเลือดดีจากรกไปที่ทารก และมีเส้นเลือดแดง สองเส้นนำเลือดเสียจากทารกไปสู่รก
- สายสะดือ
สายสะดือเชื่อมต่อกับทารกและรก เป็นที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนและสารอาหาร ประกอบไปด้วยเส้นเลือดดำ 1 เส้น นำเลือดดีไปสู่ทารก และเส้นเลือดแดง 2 เส้น นำของเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทารกไปสู่รก
- น้ำคร่ำ
น้ำคร่ำได้มาจากซี่รั่มจากแม่ ที่ซึมผ่านเยื่อหุ้มเด็กและมาจากปัสสาวะของทารกในครรภ์ ส่วนประกอบคือน้ำและเกลือแร่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน ฟอสโฟไลปิด และยูเรีย ปริมาณน้ำคร่ำมี 500 ถึง 1000 ซีซี เมื่อตอนคลอด
น้ำหนักตัวของแม่ท้องจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม โดยแบ่งออกเป็น
- น้ำหนักเต้านม 400 กรัม
- น้ำหนักตัวลูก 3,000 กรัม
- น้ำหนักรก 650 กรัม
- น้ำหนักมดลูก 900 กรัม
- น้ำหนักน้ำคร่ำ 800 กรัม
- น้ำหนักไขมันและโปรตีน 5,200 กรัม
- น้ำหนักเลือดและน้ำในร่างกายแม่ 1,200 กรัม
สำหรับคุณแม่บางคนที่น้ำหนักตัวสูงกว่า 12 กิโลกรัม อาจจะต้องดูแลเรื่องอาหาร และสุขภาพมากขึ้นอีกหน่อยค่ะ เพราะในบางกรณีที่น้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มสูงมากอาจส่งผลต่อการคลอด และ การเปลี่ยนเปลงหลังคลอดได้ค่ะ
บทความโดย: แพทย์หญิง วรประภา ลาภิกานนท์ สูตินรีแพทย์