โรคซึมเศร้าคือภัยเงียบที่น่ากลัว พ่อแม่ควรทำความรู้จักให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันเด็กมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งความกดดันตั้งแต่การเรียน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมเมื่อโตขึ้น หากพ่อแม่ไม่ทำความเข้าใจและเข้าใจลูกมากกว่านี้ ก็อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้เช่นกันนะคะ มาดูสาเหตุ 9 อย่าง ที่ทำให้จิตใจลูกเปราะบาง จนนำไปสู่ภัยเงียบได้
พ่อแม่อย่ามองแค่นิสัยผิวเผินของลูก ว่าลูกเป็นคนร่าเริงแจ่มใส สามารถเข้ากับเพื่อนได้ง่าย น่ารักกับผู้ใหญ่ แต่ให้มองนิสัยที่ลูกพยายามเก็บไว้ด้วย เช่น มีนิสัยอ่อนไหวง่าย แอบคิดมาก เก็บความรู้สึกเก่ง เก็บสิ่งต่าง ๆ มาคิดเสียใจและผิดหวังที่หลัง เป็นต้น คนเป็นพ่อแม่จึงต้องมีเข้าใจพื้นนิสัยลูก การใกล้ชิดกับลูกจะมีคำตอบให้พ่อแม่เสมอว่าลูกเป็นคนอย่างไร
หากพ่อแม่ให้ลูกใช้ชีวิตแข่งขันตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่การสอบเข้าโรงเรียนอนุบาล การสอบเข้า ป.1 โรงเรียนดัง ต้องเรียนพิเศษทุกเย็นและวันหยุด และผลการเรียนต้องดี เป็นต้น ทุกอย่างที่ให้ทำแม้เป็นด้วยความหวังดี แต่ก็เต็มไปด้วยสภาวะการแข่งขัน มีความกดดัน
พ่อแม่ที่คอยขีดเส้นให้ลูกเดิน เพราะคิดว่าลูกไม่มีประสบการณ์ชีวิต พ่อแม่ผ่านมาก่อน ลูกต้องทำตามที่พ่อแม่บอก ถึงจะได้ดี แม้จะเป็นการหวังดี แต่รู้ไหมคะ นี่คือการสร้างความกดดันให้ลูกอย่างมาก สิ่งที่ดีสำหรับพ่อแม่ อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของลูก แบบนี้จะค่อย ๆ สะสมความเครียด นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กทุกคน เช่น ลูกต้องเข้าโรงเรียน เจอสังคมใหม่ เปลี่ยนโรงเรียน ย้ายบ้าน มีเด็กหลายคนไม่สามารถจัดการอารมณ์และความเครียดได้ พ่อแม่ควรปลูกฝังเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ลูก บอกให้รู้ล่วงหน้า เช่น ลูกจะเข้าโรงเรียนต้องเตรียมตัวแบบไหน เปลี่ยนโรงเรียนจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เป็นต้น
พ่อแม่ที่คอยบอกลูกแบบตั้งความหวัง บางครั้งไม่รู้ตัว เช่น เรียนให้เก่ง ๆ นะ ลูกต้องเข้าโรงเรียนดัง ๆ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ นะ เป็นต้น การบอกลูกแบบนี้ แอบสร้างความกดดันในใจให้ลูกไม่น้อย และมีเด็กหลายคนที่กดดันตัวเอง จนรู้สึกว่าไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวังเสียใจ แม้ทำไม่ได้ ไม่ใช่ทาง แต่ก็จะดันทุรังเกินตัว จนมีภาวะความเครียดสูง
การยืดหยุ่นทางความคิด เป็นหนึ่งในทักษะของ EF (Executive Functions) หากพ่อแม่เครียดเกินไป ตั้งกฎและเคร่งมาก ลูกก็มักจะเป็นคนที่เครียดง่าย ทุกอย่างต้องตามแผน แต่ถ้าหากในอนาคตผิดหวังขึ้นมา ก็จะทำใจยอมรับไม่ได้ง่าย ๆ และรู้สึกล้มเหลวได้
หากพ่อแม่ไม่ได้ให้เวลาลูก ไม่ได้สนิทกับลูกแต่แรก โตขึ้นมาหน่อย หรือไปเจอสังคมใหม่ ๆ เวลาลูกรู้สึกไม่ดี ทุกข์ใจ ก็จะไม่ยอมพูดกับใคร หากไม่อยากให้ลูกไม่มีที่พึ่งพา พ่อแม่ต้องแสดงออกให้ลูกได้เห็นว่าพร้อมรับฟังลูกทุกเรื่อง และสามารถแบ่งปันเรื่องราวกันได้ หรือต้องพยายามให้ลูกได้ค้นพบวิธีการระบายความเครียด มีงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ กินขนม เป็นต้น
การมีความสุขง่าย ๆ กับสิ่งรอบตัว มีความจำเป็นมากในสังคมยุคนี้ เช่น ได้กินของอร่อยที่ชอบ ได้ไปเที่ยวในวันหยุด ได้ดูการ์ตูนเรื่องโปรด หากลูกมองข้ามความสุขรอบตัวนี้ไป มองหาแต่ความสุขที่ยังมาไม่ถึง ก็จะทำให้ดาวน์ง่ายมากขึ้น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักความสุขที่หาได้ง่าย ๆ อย่างทำกิจกรรมกับครอบครัว พุดคุยกันก่อนนอน ก็เป็นความสุขที่มอบให้กันและกันได้
พ่อแม่ที่ไม่ชื่นชมลูก แต่หากลูกพลาดก็ดุตลอด และชอบบอกเรื่องที่ทำให้ลูกเครียด เช่น ทะเลาะกันต่อหน้าลูก เอาเรื่องงานมาลงที่ลูก ชอบพูดเรื่องเงินในบ้าน เป็นต้น การให้ลูกรับรู้เรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก จะสร้างรอยร้าวบาดแผลในใจไม่น้อย
เด็กควรรู้เรื่องราวไปตามวัย ชมได้เมื่อทำความดี พ่อแม่ควรทำให้ลูกได้มีความสุขแบบเด็ก ๆ ไม่ควรเอาเรื่องเครียดไปใส่หัวของลูก เพราะจะทำให้ลูกมีสภาพอารมณ์ที่ไม่มั่นคง รู้สึกกังวล หรือ ไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา