ปัจจุบันปัญหาโรคภูมิแพ้ในเด็กพบมากขึ้นทุกวัน นำมาซึ่งความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก เพราะภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการที่ร่างกายมีความไวต่อสารกระตุ้นบางอย่างมากกว่าปกติ ซึ่งก็คือสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง ทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบต่างๆของร่างกาย
โรคภูมิแพ้ในเด็กเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ดังนี้ค่ะ
กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเด็กปกติที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคหืด ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เช่นกันประมาณ 25% แต่หากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงถึง 50% หรือ หากพี่แพ้อาหารก็จะมีโอกาสสูงที่น้องจะแพ้อาหารเช่นเดียวกัน เป็นต้น
สิ่งแวดล้อม ได้แก่สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กซึ่งบางครั้งอาจสัมผัสตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สุนัข แมว ละอองเกสร หรือสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี อาหารทะเล หรือสารระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป มลภาวะต่างๆ นอกจากนี้การติดเชื้อในระบบทางดินหายใจของเด็กเอง เช่น RSV, rhinovirus ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นสาเหตุร่วมกันในการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้
อาการต่าง ๆ ของโรคภูมิแพ้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ อาจแบ่งเป็นอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากมีลูกมีอาการเหล่านี้หลายอาการพร้อม ๆ กัน ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น ดังนี้ค่ะ ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยเฉพาะในเวลากลางคืนหรือเช้ามืด หรือได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน หลังจากวิ่งเล่น ออกกำลังกาย ระบบผิวหนัง ได้แก่ มีผื่นคันเรื้อรังเป็นๆหายๆโดยเฉพาะที่บริเวณแก้มใบหน้าและแขนขาด้านนอกในเด็กทารก หรือบริเวณข้อพับต่างๆในเด็กโต หรือมีผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวมเป็นๆหาย ๆ ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน ท้องอืด อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีอาการแหวะนมบ่อยในทารก ระบบหัวใจและหลอดเลือด มีความดันต่ำ ช็อก หมดสติ เป็นลมเฉียบพลันทันที ในภาวะแพ้อย่างรุนแรง
ตัวอย่างโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้: เป็นโรคภูมิแพ้ที่มักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูก ได้แก่ คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหลและอาจมีอาการร่วมของอวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่จมูกแต่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น คันตา คันในคอ หูอื้อ ร่วมด้วยได้
โรคหืด: เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้ตั้งแต่เด็กวัยทารก ผู้ป่วยจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หลอดลม โดยมีอาการหายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ไอเรื้อรังช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย ซึ่งเกิดจากการที่มีหลอดลมตีบ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ: ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการผื่นคันเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ผิวแห้ง ผื่นแดง มีขุย อาจมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม มีการกระจายของผื่นที่จำเพาะในวัยต่าง ๆ คือ ทารก ผื่นมักเป็นบริเวณแก้ม คอ ใบหน้า ด้านนอกของแขนขา ส่วนเด็กโต ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา หลัง ข้อมือ ข้อเท้า
โรคแพ้อาหาร: เด็กที่แพ้อาหารมักมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ตั้งแต่วัยทารกหรือเด็กเล็ก หลังจากเริ่มทานอาหารที่แพ้บ่อย เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลีและอาหารทะเล โดยอาจมีอาการผิดปกติในระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบร่วมกัน ได้แก่ อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นแดงคันทั่วตัว ปากบวม ตาบวม อาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจหอบเหนื่อย มีเสียงหายใจดังผิดปกติ มีน้ำมูกเหมือนเป็นหวัดเรื้อรัง อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด อาเจียนและท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น
หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยมารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากคุณหมอภูมิแพ้ เพื่อจะได้รับการซักประวัติอาการอย่างละเอียด ตรวจร่างกายและทำทดสอบภูมิแพ้ ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) คือการนำน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อให้ทราบว่าแพ้สารใด ซึ่งเป็นการทดสอบที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที ผู้ป่วยสามารถเห็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยตาของตนเอง มีขั้นตอน คือ การหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังของผู้ป่วย ใช้เครื่องมือทดสอบ สะกิดที่ผิวหนังของผู้ป่วย (ท้องแขน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต หรือที่หลัง สำหรับเด็กเล็กที่ไม่ค่อยร่วมมือ) อ่านผลหลังทำ 15-20 นาทีหากผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะเกิดปฎิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดง คัน ในตำแหน่งที่ตรงกับทดสอบสารก่อภูมิแพ้นั้น
การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการตรวจเลือด (Serum specific IgE) เป็นการทดสอบเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาปริมาณอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum specific IgE) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับการทำในผู้ป่วยที่ เป็นโรคผิวหนังหรือมีปฏิกริยาทางผิวหนังง่ายผิดปกติ ไม่ได้งดยาแก้แพ้มาก่อนตรวจ เด็กเล็ก และผู้มีโอกาสเกิดปฏิกริยารุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบด้วย skin prick test ได้ มีขั้นตอนเพียงการเจาะเลือดส่งตรวจ โดยเจาะเพียงครั้งเดียวก็สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทดสอบ skin prick test และต้องรอผลประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์
การทดสอบการแพ้อาหารด้วยการรับประทานอาหารทีละน้อย (Oral food challenge test) หากสงสัยว่าลูกแพ้อาหาร สามารถทำได้โดยทำการทดสอบภูมิแพ้ เช่น การทดสอบทางผิวหนัง หรือการตรวจเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่หากทำทดสอบภูมิแพ้เหล่านี้แล้วได้ผลเป็นลบ คุณหมออาจพิจารณาทำทดสอบปฏิกิริยาการแพ้อาหาร โดยการทานอาหารนั้นทีละน้อย (Oral food challenge test) และค่อยๆ เพิ่มปริมาณอีกเท่าตัวทุก 15-30 นาที จนกระทั่งถึงปริมาณอาหารมาตรฐานสากลที่ไม่แพ้ ระหว่างการทดสอบ จะมีการบันทึกสัญญาณชีพเป็นระยะๆ รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากมีการแพ้รุนแรงเกิดขึ้น ก็จะได้รับการฉีดยารักษาเพื่อระงับการแพ้ทันที ซึ่งการทดสอบนี้จะเป็นการทดสอบขั้นสุดท้าย ที่พิจารณาทำในผู้ป่วยบางราย สำหรับผู้ป่วยเด็กเพื่อความปลอดภัยอาจใช้ในกรณีที่ทำทดสอบ skin test หรือตรวจเลือดแล้วได้ผลบวก แต่สงสัยว่าผู้ป่วยไม่ได้แพ้จริง หรือ ติดตามว่าหายจากการแพ้แน่นอนแล้วหรือยัง ซึ่งการทดสอบเหล่านี้สามารถทำได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของคุณหมอภูมิแพ้ค่ะ
หลักในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมีอยู่ 3 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
หลีกเลี่ยงหรือควบคุมสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุดตามชนิดสารก่อภูมิแพ้
การดูแลสุขภาพทั่วไป คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
การใช้ยา เช่น
ยาต้านฮีสตามีน ยาลดอาการคัดจมูกทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก สำหรับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
ยาสูดขยายหลอดลม, ยาสูดสเตียรอยด์, ยาต้านสาร leukotriene สำหรับโรคหืด
ยาสเตียรอยด์ชนิดทา ยาทาต้านการอักเสบของผิวที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โลชั่นบำรุงผิวลดการอักเสบ สำหรับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ นอกจากนั้นยังมี การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ สำหรับผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบ และโรคหืด ที่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่แพ้ไม่ได้ หรือมีอาการรุนแรงและใช้ยาแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถหยุดยาได้ หรือไม่อยากใช้ยาแล้ว
คุณพ่อคุณแม่สามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกได้อย่างไร? เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดทั้งทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเพื่อป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกโดยการจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่รอบตัวลูก ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนลูกเกิด ดังนี้ค่ะ
ก่อนการคลอด : คุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบ 5 หมู่ โดยไม่ทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินกว่าปกติ เช่น ดื่มนมวัววันละเป็นลิตร หรือทานไข่วันละ 2-3 ฟองทั้งที่ปกติไม่ค่อยได้ทาน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหารชนิดนั้นกับลูกได้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ในทางเดินหายใจได้บ่อย เช่น อยู่ในที่มีฝุ่นเยอะ หรืออยู่ในสถานที่ซึ่งมีผู้สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์
ระหว่างการคลอด : หากไม่มีข้อบ่งชี้ในการคลอดด้วยวิธีผ่าคลอดคุณแม่ควรเลือกวิธีการคลอดลูกโดยการคลอดแบบธรรมชาติเพราะช่องคลอดของคุณแม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเรียกว่า โพรไบโอติกอยู่ปริมาณมาก เมื่อทารกเคลื่อนตัวผ่านทางช่องคลอด ระหว่างการคลอดก็จะได้สัมผัสกับโพรไบโอติกนั้นเข้าไปในปากและผ่านลงไปในลำไส้ของทารก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกได้
หลังการคลอด : ควรให้ลูกน้อยได้ทานนมแม่เพียงอย่างเดียว ในช่วงระยะเวลา 4-6 เดือนแรกของชีวิต เพื่อโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้และเมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือน คุณแม่และคุณพ่อควรให้ลูกได้ทานอาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ไม่ควรเริ่มอาหารช้ากว่าวัยอันควร โดยเริ่มจากอาหารกลุ่มที่ไม่เสี่ยงต่อการแพ้ก่อน ส่วนอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้ เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี และอาหารทะเล ก็ควรจะค่อย ๆ เริ่มทานในเวลาต่อมา และสังเกตว่ามีอาการแพ้หรือไม่
โรคภูมิแพ้ในเด็กมีทั้งโรคที่สามารถหายได้เอง เช่น แพ้อาหาร จำพวก นมวัว ไข่ ถั่วเหลืองและแป้งสาลี รวมถึงโรคที่อาจไม่สามารถหายสนิทในผู้ป่วยบางราย เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แต่หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะสามารถควบคุมอาการของโรคให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นปกติสุขได้นะคะ
รักลูก Community of The Experts
รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า