โรคภูมิแพ้ในเด็กเป็นโรคหนึ่งที่พบว่ามีเด็กไทยป่วยกันเยอะมาก พ่อแม่หลายคนเริ่มกังวล เพราะนอกจากอาการป่วยจะอันตรายแล้ว หากมีสารก่อภูมิแพ้มากระตุ้นก็ส่งผลให้อาการกำเริบได้อีกทุกเมื่อ
จากรายงานการวิจัยพบว่าเด็กไทยมากกว่า 50% มีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ และความเสี่ยงนี้อาจเพิ่มสูงถึง 80% หากพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบเด็กไทยมีอาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกประมาณ 40%
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น นอกจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัวมีส่วนกระตุ้นให้ลูกเกิดอาการภูมิแพ้ง่ายขึ้น เช่น ฝุ่นในบ้าน ไรฝุ่น ละอองเกสรต่าง ๆ ฝุ่น PM 2.5 ควันธูป ควันบุหรี่ รวมถึงการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเช่น น้ำหอม น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ก็เป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้กำเริบรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้การใช้ชีวิตวิถีชีวิตใหม่ในช่วงโควิด 19 ที่พ่อแม่ต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อโรคต่าง ๆ ก็ทำให้ลูกมีโอกาสออกไปสัมผัสกับจุลินทรีย์ในธรรมชาติน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของเด็ก ๆ ทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นภูมิแพ้มากขึ้นด้วยค่ะ
โรคภูมิแพ้ที่พบในเด็กได้บ่อยได้แก่
1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มักจะเกิดขึ้นในเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีมักจะมีอาการ คัดจมูก จาม มีน้ำมูกใส เป็นเรื้อรัง์ และอาจมีอาการอื่นร่วมเช่น คันตา คันในคอ หูอื้อ เป็นต้น
2. โรคหืด เป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เด็กที่ป่วยจะมีอาการหายใจเสียงดัง “วี้ด” หอบ แน่นหน้าอก อาจมีอาการไอเรื้อรังช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน
3. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ อาการของโรคส่วนใหญ่มักมี ผื่น คัน ผิวหนังแดง ผิวแห้ง มีผื่นแดง เป็นขุย ในเด็กเล็กอาจมีอาการมากเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น แพ้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก อากาศร้อนเหงื่อออกมาก แพ้อาหาร เป็นต้น
4. โรคแพ้อาหาร มักพบบ่อยในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มักเกิดอาการได้หลายแบบ ได้แก่ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายมีมูกปนเลือด มีผื่นขึ้น ลมพิษ หอบ หายใจติดขัด ส่วนอาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุการแพ้ได้บ่อยคือ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลีและอาหารทะเล เป็นต้น
ซึ่งหากพ่อแม่พบอาการแพ้ต่าง ๆ ของลูกอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าลูกกำลังเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็ก โดยเฉพาะภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้อาหารอาการเเหล่านี้ี่อาจนำไปสู่การเกิด Allergic March หรือ ลูกโซ่ภูมิแพ้ที่โรคภูมิแพ้มีการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่วัยทารกจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
Allergic March หรือ Atopic march คือการดำเนินโรคตามธรรมชาติ (natural history) ของโรคภูมิแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กที่ส่งผลต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ เด็กบางคนอาจมีอาการภูมิแพ้มากกว่า 1 ชนิดในช่วงเวลาหนึ่ง หรือเมื่อภูมิแพ้ชนิดหนึ่งเริ่มหายไป ก็อาจมีการภูมิแพ้อีกชนิดหนึ่งเข้ามาแทนที่
จากภาพจะเห็นพัฒนาการของโรคภูมิแพ้ คือลูกอาจมีอาการแพ้อาหารก่อน และโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่อาจมีอาหารเป็นสารก่อภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) จากนั้นเริ่มมีการแพ้ทางจมูกหรือเป็นโรคหอบหืด (Allergic asthma) และเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาการแพ้อาหารอาจจะรุนแรงน้อยลง
เด็กที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้ส่งผลกระทบกับพัฒนาการและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องนอนให้เพียงพอ อาการแพ้มักจะรบกวนการนอน ทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิท ส่งผลต่อโกรทฮอร์โมน ทำให้รบกวนการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมของเด็ก สมาธิและการจดจำอาจแย่ลง สำหรับเด็กโต อาการแพ้อาจกระทบการเรียนรู้ หากอาการแพ้กำเริบอาจต้องหยุดเรียนบ่อยทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน เป็นต้น
วิธีป้องกันภูมิแพ้ในทารกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพราะในนมแม่นอกจากสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับลูกกว่า 200 ชนิด ยังมีสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกด้วย ได้แก่
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันภูมิแพ้สำหรับเด็ก
นอกจากนี้การจะให้ลูกแข็งแรงปลอดภัย ห่างไกลจากภูมิแพ้ต้องดูแลใส่ใจตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสูติแพทย์อย่างเคร่งครัด คุณแม่ควรพักผ่อนให้พอเพียง รับประทานอาหารหลากหลายชนิดให้ครบ 5 หมู่ หลังคลอดแล้วให้ลูกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อถึงเวลาเริ่มอาหารเสริมจึงค่อย ๆ ทดลองให้ลูกทานอาหารตามวัย หรือตามคำแนะนำของกุมารแพทย์ควบคู่กับการดูแลการจัดสิ่งแวดล้อมให้ลูกห่างไกลสารก่อภูมิแพ้ และมลภาวะต่าง ๆ
อ้างอิง :
1. เข้าใจโรคภูมิแพ้ - BNH HOSPITAL
3. ความสะอาดที่มากเกินไป ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันในเด็กแย่ลง
4. โรคภูมิแพ้ในเด็ก เป็นอย่างไร?
5. เข้าใจโรคภูมิแพ้ | www.cimjournal.com
6. Asthma: The Hygiene Hypothesis
7. ภูมิแพ้ในเด็กที่พ่อแม่ต้องรู้
8. "การแพ้อาหารในเด็ก" เรื่องไม่เล็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพร้อม