ลูกสมาธิสั้น กับ ลูกเป็นไฮเปอร์ ต่างกันอย่างไร พ่อแม่ต้องรู้ สังเกตอาการ และรับมือเพื่อช่วยลูกได้อย่างถูกต้องนะคะ นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ มีคำแนะนำค่ะ
โรคสมาธิสั้น คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 - 7 ปี แต่ในรายที่เป็นไม่มาก
อาการโรคสมาธิสั้นจะแสดงออกชัดเจนกว่าในช่วงหลัง 7 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียนมีงานและการบ้านต้องรับผิดชอบหลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครู รวมไปถึงการที่จะต้องรู้จักปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม โดยสาเหตุแท้จริงนั้นไม่สามารถทราบได้ชัดเจน แต่หนึ่งในนั้นคือการที่สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ
ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ นอกจากต้องสังเกตจากลักษณะอาการที่ปรากฏแล้ว ยังจำเป็นจะต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่เป็น และสถานที่ที่เด็กมีอาการ กล่าวคือ อาจมี (A) หรือ (B)
หากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น มีเพียง 15 - 20% เท่านั้นที่สามารถหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่อีกประมาณ 60% นั้นไม่หายขาดและจะเป็นโรคนี้ไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการสังเกตและรู้เท่าทันสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการรักษาคือสิ่งสำคัญ ได้แก่
ผลการเรียนตกต่ำลง ถ้ามีอาการมากมักพบได้ตั้งแต่ในช่วงที่เด็กเรียน ป.1-ป.2 และผลการเรียนจะยิ่งตกมากขึ้นในช่วง ป.4 แต่ในกรณีที่เด็กมีไอคิว (IQ - Intelligence Quotient) ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาสูง อาจไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนมากเท่าไรนักและอาจเริ่มสังเกตเห็นอาการในช่วงมัธยม แต่ในเด็กที่เป็นทั้งโรคสมาธิสั้นและโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD - Learning Disorder) ควบคู่กัน จะส่งผลต่อผลการเรียนค่อนข้างมากคือ คะแนนคาบเส้นหรือหวุดหวิดเกือบสอบตก
คุณครูมีการรายงานพฤติกรรมความผิดปกติของเด็กกับพ่อแม่ผู้ปกครองพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มสงสัยและเห็นความผิดปกติของเด็กชัดเจนมากขึ้น
เด็กหรือเพื่อนที่เด็กเล่นด้วยมีอาการบาดเจ็บ เนื่องจากเล่นรุนแรงและผาดโผนมากเกินไป
เด็กเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่ม อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ไม่ชอบสื่อสารและเข้าสังคม (ถูกเพื่อนปฏิเสธหรือรังแก)
ปัจจุบันวิธีรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactive Disorder) มี 4 วิธี ได้แก่
ปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ซึ่งจะได้ผลดีมากในเด็กที่ยังเป็นไม่มากและยอมเต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกเพื่อให้อยู่นิ่ง
รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยแพทย์จะเลือกชนิดยาที่เหมาะกับอาการและวัยของเด็ก เช่น Methylphenidate ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการรับประทานทานยานั้นให้ผลในการรักษาที่ดีได้ถึง 70 - 80% โดยประมาณ และเด็กจะมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วภายใน 1 - 4 สัปดาห์
เรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ร่วมด้วยนั้นจะเรียนไม่ทันเพื่อน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหาวิธีพัฒนาการเรียนของเด็กอย่างเหมาะสม
ปรึกษาแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การสื่อสารกันระหว่างแพทย์ ครู และผู้ปกครอง เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้
เด็กที่เป็นไฮเปอร์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เพราะไฮเปอร์คืออาการที่ไม่อยู่นิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น เป็นเพียงสาเหตุอันหนึ่ง ยังไม่รวมถึงเด็กมีไอคิวสูงปัญญาเลิศ (Gifted Child ) เด็กที่มีความวิตกกังวัล (Anxiety) เด็กที่มีพัฒนาการทางระบบประสาทล่าช้า (Motor - Sensory) เด็กที่เคยได้รับความกระทบกระเทือนหรือติดเชื้อที่สมอง และเด็กที่ไฮเปอร์โดยธรรมชาติ
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดจากความผิดปกติของสมอง และสิ่งที่น่าสนใจคือ โรคสมาธิสั้นสามารถเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมได้ หากพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ลูกก็มีโอกาสเป็นได้ถึง 50% และอาจเกิดขึ้นได้ขณะที่มารดาตั้งครรภ์
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเจ้าตัวเล็กเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เรียกได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีไว้ให้เจ้าตัวเล็กได้เล่น เนื่องจากทำงานหนักและไม่ค่อยมีเวลาในการเลี้ยงดู ซึ่งความจริงแล้วหากไม่เล่นได้จะดีที่สุด เพราะสมาร์ทโฟนมีส่วนกระตุ้นให้เด็กที่เป็นเป็นสมาธิสั้นมากมีอาการขึ้น เนื่องจากเมื่อเล่นไปนาน ๆ อาจส่งผลให้เด็กขาดสมาธิและการควบคุมตนเอง อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และหากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ก่อนแล้วอาการจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ใจร้อน วู่วาม อารมณ์ฉุนเฉียว ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่รู้จักการรอคอย เป็นต้น
นอกจากนี้การเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ยังส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติทางสายตา พูดช้า บุคลิกภาพไม่ดี ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรมองหากิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็กและสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว ได้แก่ การเล่นกีฬา เช่น กอล์ฟ ฟุตบอล ว่ายน้ำ เป็นต้น หรือการเล่นดนตรี เช่น เปียโน เป็นต้น สำหรับช่วงอายุที่เด็กสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้นั้น ดีที่สุดคือที่ช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ต้องควบคุมระยะเวลาในการใช้งานคือ ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการการเรียนรู้และการเข้าสังคม
หากเกิดความสงสัยว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะการรักษาโรคนี้ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือทั้งจากตัวเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครูผู้สอน ซึ่งต้องใช้หลายศาสตร์ร่วมกันเพื่อผลการรักษาที่ดี ที่สำคัญหากเด็กเข้ารับการรักษาจนหายขาดจากโรค นอกจากจะสมาธิดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น เด็กยังเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต
รักลูก Community of The Experts
นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์พัฒนาการเด็ก
โรงพยาบาลกรุงเทพ