ขอปรึกษาเรื่องลูกวัยรุ่นค่ะ ตอนนี้เขาอยู่ ม.2 แล้ว เราทะเลาะกันทุกวัน พูดอะไรเขาไม่ฟังเอาเลย เรียกทำอะไรก็ไม่ทำ ทั้งการบ้านหรือช่วยงานที่บ้าน กลุ้มใจมากเลย
คำถามของรักลูกมักเกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก อย่างไรก็ตามหากเราทำไม่เรียบร้อยวันนี้ เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นตอนที่เขาเข้าสู่วัยรุ่นเสมอ เราจึงแนะนำให้เลี้ยงลูกโดยมีเป้าหมายว่าช่วยให้เขามีความสามารถดูแลและควบคุมตัวเองให้ได้ก่อนที่จะกลายเป็นวัยรุ่น ที่ซึ่งเขาจะไม่ฟังเราอีกเลย ทำได้อย่างไร สั้นที่สุดคืออ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนตั้งแต่เกิด สละเวลาลงไปเล่นกับเขามากที่สุดตั้งแต่แรก และสอนเขาทำงานบ้านเมื่อเขาอายุประมาณ 4 ขวบ
ระหว่างนั้นมีเรื่องที่ควรทำคือสอนเขาดูแลร่างกายของตัวเองให้ได้ก่อนอายุ 3 ขวบ ได้แก่ นั่งกินข้าวด้วยตัวเองให้เรียบร้อยใน 30 นาที อาบน้ำและแปรงฟันด้วยตัวเอง
เมื่อถึง 4 ขวบกินข้าวเสร็จแล้วเอาจานไปล้าง แล้วแปรงฟันให้เรียบร้อย ตื่นเช้าให้เก็บที่นอนด้วยตัวเอง เล่นของเล่นแล้วเก็บให้เรียบร้อยทุกครั้ง และเมื่อถึง 6 ขวบ ให้สอนทำงานบ้านพื้นฐาน ได้แก่ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน เก็บจาน ซักผ้า ตากผ้า และเทขยะ
เรื่องจะง่ายมากยิ่งขึ้นหากเราฝึกให้เขาทำงานก่อนเล่น นั่นคือเมื่อเข้าบ้านให้ทำงานบ้าน เสร็จแล้วไปทำการบ้าน เก็บการเล่นไว้สุดท้าย ด้วยวิธีนี้เขาจะได้ฝึกความสามารถที่จะควบคุมตัวเองทำงานยากและลำบากให้เสร็จก่อนที่จะหาความสนุก ลักษณะนิสัยนี้จะก่อตัวเป็นวงจรประสาทรองรับ Executive Function หรือ EF เพื่อใช้ต่อไปในอนาคตเมื่อการเรียนยากขึ้น การบ้านมากขึ้น โครงงานมากขึ้น กิจกรรมพิเศษมากขึ้น เขาจึงจะทำได้
เมื่อเด็กกลายเป็นวัยรุ่น เขาเปรียบเสมือนหนอนที่กลายเป็นผีเสื้อ เขาจะไม่ฟังอะไรเราอีก มีแต่จะหมกมุ่นกับตัวเอง ไม่เชื่อฟัง และพร้อมจะบินไปจากเรา เราจึงไม่ควรใช้คำสั่งในการเลี้ยงเขาเพราะมีแต่จะบาดหมางกัน เรายิ่งสั่งมากสอนมากเขาจะดื้อ ไม่ฟัง เถียงคำไม่ตกฟาก และต่อต้านด้วยพฤติกรรมไม่น่ารักต่างๆ นานา
ก่อนที่จะถึงเวลานั้น เราควรรู้ทันก่อนแล้วลดบทบาทตนเองลงมาเป็นเพื่อนผู้รับฟัง นั่งเป็นเพื่อน ทำให้เขารับรู้ว่าเราไว้ใจได้และรับฟังเสมอ เขาจึงเข้าหาเราเพราะที่แท้แล้วเขามีเรื่องหนักใจจากทางโรงเรียนมากมาย ทั้งเรื่องตัวเอง แฟน เพื่อน ครู การเรียน การสอบ กิจกรรม มากมายเต็มไปหมด เขาต้องการคนฟัง
เมื่อเขามาหาเรา เราฟัง อย่าขัดคอ อย่าซักถาม อย่าซักฟอก อย่าแนะนำ อย่าดุด่า เรามีหน้าที่ฟังเท่านั้น ฟังจนกระทั่งเขารู้ว่าเราฟังเขาจึงจะอ่อนลง เสียงเบาลง อารมณ์พลุ่งพล่านน้อยลง แล้วเขามักสงบเอง ไตร่ตรองได้เองว่าควรจะทำอะไรต่อไป
เขาอาจจะถามความเห็นเราด้วย เราแสดงความคิดเห็นได้ เสนอแนะได้แต่ด้วยใจเป็นกลาง ทำให้เขารู้ว่าเราเพียงแค่บอกกล่าวแต่เราจะเคารพการตัดสินใจของเขาและพร้อมรับฟัง พ่อแม่ที่ไว้ใจลูกจะพบว่าเขามักตัดสินใจได้ดีเสมอ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล