กล้ามเนื้อใหญ่ที่ทรงพลังทำให้เราจำเป็นต้องวางกติกา มิเช่นนั้นเด็กจะอยู่ในสังคมไม่ได้ เมื่อวางกติกาลงไปแล้วเราเองที่ต้องเอาจริงไปจนถึงเข้มงวดเพราะเด็กจะทดสอบพลังของกล้ามเนื้อของตัวเองตลอดเวลา ทดสอบกฎ กติกา มารยาท นั่นคือทดสอบพ่อและแม่ว่าแน่จริงหรือเปล่า เอาจริงเพียงใดหรือว่าที่แท้แล้วเหยาะแหยะ ไปจนถึงมักจะรักษาหน้าตาของตัวเองมากกว่าที่เข้มงวดกับเรื่องที่ต้องเข้มงวด
เรื่องที่ต้องเข้มงวดมี 3 ข้อคือ ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น และห้ามทำลายข้าวของ กริยาสามอย่างนี้เราไม่อนุญาตให้มีครั้งที่สอง เมื่อพบครั้งหนึ่งต้องสั่งสอนและบอกกล่าวด้วยความจริงจังและไม่อนุญาตให้ทำได้อีก ความเข้มงวดที่กริยาสามประการนี้ไม่มากเกินไป
หากจะมีคำว่ามากเกินไปจึงเป็นการมีข้อห้ามที่มากเกินไป คือมีข้อที่ 4 ไปเรื่อยๆ จนถึงข้อที่ร้อยหรือหลายร้อย เด็กตื่นเช้ามาพร้อมข้อห้ามหลากหลายประการทั้งในบ้านและนอกบ้านจนเขาไม่สามารถขยับตัว ไม่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ไม่สามารถพัฒนาอะไรต่อไปได้โดยง่ายหรือด้วยความภาคภูมิใจและความมั่นใจ ในกรณีเช่นนี้เด็กจะไม่ดูคนอื่น ไม่เจ้ากี้เจ้าการคนอื่นเหมือนที่ถามมา แต่เด็กจะสงสัยตัวเอง แคลงใจในความสามารถของตัวเองไปจนถึงสงสัยความมีอยู่ของตนเอง
อิริคสันเรียกว่า Doubt ความสงสัย ไม่มั่นใจ และหากปล่อยให้เป็นมากขึ้นๆ จนถึงอายุประมาณ 4-6 ขวบซึ่งเด็กจะพัฒนากล้ามเนื้อเล็กคือกล้ามเนื้อนิ้วมือทั้งสิบซึ่งอยู่ไกลที่สุดจากศูนย์กลางของร่างกายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด (fine motor) เพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่ (Initiation)แต่กลับทำไม่ได้
ความสงสัยแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกผิด (Guilt) ที่ตนเองทำอะไรแทบไม่ได้เลยเพราะถูกห้ามอยู่ตลอดเวลา
เด็กที่มั่นใจในตนเองมากจนกระทั่งสามารถก้าวล่วงไปสังเกตพฤติกรรมของเด็กคนอื่นและแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยย่อมไม่มีความสงสัยในตนเองหรือความรู้สึกผิด
ในทางตรงข้ามเขามีสิ่งที่เรียกว่าเซลฟ์เอสตีม(self-esteem) คือรักตัวเอง มั่นใจในตัวเองและภาคภูมิใจในตัวเองมากพอที่จะเดินเข้าโรงเรียนโดยไม่ร้องไห้ หอบเสื้อผ้าไปนอนกับตายายโดยไม่เกรงกลัว แสดงออกว่าไม่พอใจที่เพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่ทำตามกติกา
ทั้งนี้เพราะเขาทำได้ ได้ทำ และมี EF มากพอที่จะควบคุมตัวเองให้ทำได้ด้วย เหล่านี้เริ่มต้นที่แม่มีอยู่และเอาจริงในเรื่องที่ควรเอาจริง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล