ข้อห้ามเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ไม่ให้ดูหน้าจอใดๆ มีข้อยกเว้นเรื่องการคุยผ่านหน้าจอกับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย แม้ว่าจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนักว่าเพราะอะไรจึงอนุญาต แต่สมมติฐานเป็นดังนี้
การคุยผ่านหน้าจอกับปู่ย่าตายายไม่เหมือนหน้าจออื่นๆ ที่ความเร็วของการเปลี่ยนภาพ คลิปหนัง หนังโฆษณา การแสดงดนตรี หรือแม้กระทั่งสารคดีชีวิตสัตว์ เหล่านี้มักเปลี่ยนภาพหน้าจอรวดเร็วเพื่อตรึงคนดูให้ดูจนจบหรือมิให้เปลี่ยนไปช่องอื่นโดยง่าย
ความเร็วนั้นเองที่สร้างปัญหาต่อการพัฒนาเซลล์สมองและวงจรประสาท กล่าวคือเด็กเล็กอาจจะพัฒนาสมองเพื่อจับเฉพาะภาพที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ
การคุยผ่านหน้าจอมักเป็นภาพที่ค่อนข้างนิ่ง ภาพที่ค่อนข้างนิ่งนั้นเป็นภาพใบหน้าของคนที่เด็กคุยด้วยค่อนข้างชัดเจน ฉากหลังก็มักจะนิ่งไม่มีอะไรน่าสนใจ ในแง่นี้เด็กมีเวลาจับภาพใบหน้าคนนานพอสมควร คือวงกลมสองวงมีสันจมูกตรงกลางและมีริมฝีปากเรียวโค้งด้านล่าง แม้ว่าภาพที่เห็นจะเป็นภาพดิจิตอลสองมิติแต่ก็ยังดีกว่าภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ อย่างไรก็ตามภาพใบหน้าแม่สำคัญที่สุด
ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามเรื่องการคุยผ่านหน้าจอแต่มีข้อควรใส่ใจบางประการ
1.กำหนดเวลา เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเด็กเล็กควรเป็นไปเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ และการประสานงานระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อ ดังนั้นแม้ว่าปู่ย่าตายายจะคิดถึงหลานมากแต่ควรแจ้งให้ท่านทราบว่าเราจะกำหนดระยะเวลา คำแนะนำทั่วไปคือไม่ควรเกินวันละ 15-30 นาที ดังนั้นปู่กับย่าหรือตากับยายแบ่งคนละครึ่งให้เรียบร้อย
2.ความสม่ำเสมอ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของปู่ย่าตายายเอง กล่าวคือเด็กๆเรียนรู้จากความสม่ำเสมอ-เสมอ หากปู่ย่าต้องการให้หลานจำตัวเองได้รวดเร็ว แม่นยำ รับรู้ว่าเรามีอยู่จริง เราควรกำหนดเวลาติดต่อให้ตรงเวลาทุกวันหรือทุกสัปดาห์ วยวิธีนี้เด็กมักเรียนรู้และจดจำได้ว่าเมื่อถึงเวลาใครกันที่จะโผล่หน้ามา และหัวเราะเอิ้กๆ ได้เป็นที่ชอบอกชอบใจ
3.เวลาที่กำหนดไว้ควรเป็นเวลาที่เด็กผ่อนคลาย ว่างๆ อยู่กับที่ มิใช่เลือกเวลาหิวหรือง่วงนอน พอเด็กไม่สนใจปู่ย่าตายายกลับจะกลายเป็นโทษให้เราหงุดหงิดหรือเสียใจได้โดยประมาท
4.เราเองควรเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการเริ่มพูดคุย เช่น หากต้องการอวดของขวัญ หนังสือ ของเล่น ขนม หรืออะไรก็ตามให้เตรียมไว้ข้างตัวให้พร้อมแล้วหยิบขึ้นมาอวดหลานได้ในทันที มิใช่มัวแต่เดินหารอบบ้านกลับมาอีกทีหลานหลับไปแล้วหรือหลานเลิกสนใจไปแล้วต้องมาบิวด์กันใหม่อีก
5.ฝึกพูดหน้าจอด้วยตาสบตาให้คล่อง อย่าลืมว่าเวลาพูดผ่านหน้าจอให้จับจ้องที่กล้องมิใช่จับจ้องที่ใบหน้าคนที่พูดด้วย หากปู่ย่ามัวแต่จับจ้องใบหน้าหลานหลานจะพบว่าปู่ย่ามิได้มองมาแบบตาสบตา อาจจะทำให้เด็กขาดความสนใจได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าการสื่อสารด้วยตาสบตาเป็นเรื่องสำคัญมากในเด็กเล็ก การกลับจะกลายเป็นว่าปู่ย่าสอนให้เด็กพูดแบบตาไม่มองตาไปเสียฉะนั้น
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล