รู้หรือไม่! ทัศนคติผิด ๆ ในการเลี้ยงลูกของคนเป็นพ่อกับแม่ ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมาก เพราะการเลี้ยงดูเด็กวัย 3-6 ปี จะส่งผลต่อเขาไปจนโต ลองมาสำรวจตัวเองกันไหมคะ ว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายทำร้ายลูกอยู่หรือเปล่า
คิดว่าเป็นเจ้าของลูก ความคิดนี้อันตรายมากทำเด็กไอคิวต่ำ เพราะพ่อแม่ที่คิดว่ามีลูกแล้ว ลูกเป็นของของเรา หรือเราเป็นเจ้าชีวิตเขา ไม่น่าเชื่อว่าคนที่คิดแบบนี้มีอยู่จริงและมีอยู่จำนวนไม่น้อยด้วย เรียกว่าลูกจะทำอะไรจะต้องอยู่ในสายตาตลอด การลงโทษลูกก็เพราะพ่อแม่รักลูกและไม่รู้สึกว่าการทำโทษลูกเป็นสิ่งที่ผิด
เชื่อว่าทำโทษจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าการทำโทษลูก คือ การทำให้หลาบจำ และการที่จะทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้รับการแก้ไขก็ต้องใช้วิธีทำให้เข็ดหรือหลาบจำ จะได้ไม่ทำอีก โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งเป็นการทำร้ายลูกให้เป็นเด็กเก็บกด ก้าวร้าวเข้าไปอีก
ทำตามอารมณ์ไปก่อน เดี๋ยวค่อยขอโทษทีหลัง พ่อแม่แบบนี้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กรณีนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะพ่อแม่บางคนอารมณ์ร้อน ใจร้อน และเมื่ออารมณ์ร้อนก็มักจะบันดาลโทสะ ใช้เสียงดัง ขว้างปาข้าวของ และพออารมณ์เข้าสู่สภาวะปกติก็มักจะคิดได้ และก็รู้สึกผิดทีหลัง ทำให้ลูกเป็นคนไม่มีสมาธิ ดื้อ ไม่ฟังใคร ควบคุมตัวเองไม่ได้แบบพ่อกับแม่
ลูกคือคนที่ต้องรับฟังปัญหาของครอบครัว ลูกต้องรู้! พ่อแม่ทัศนคติแบบนี้จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ แต่อาจเกิดจากความทุกข์ใจเฉพาะเรื่อง เช่น ทะเลาะกับเจ้านาย มีปัญหากับเพื่อน มีปากเสียงกันระหว่างสามีภรรยา และเรื่องเงิน ทำให้ไปลงที่ลูก ไม่ว่าจะด้วยความรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ก็ได้ทำร้ายลูกไปแล้ว
ช่างเถอะ บางครั้งเขาก็เป็นพ่อที่ดี (แม่ที่ดี) ส่วนใหญ่ปัญหาการคิดแบบนี้มาจากสุราทั้งนั้น มีพ่อแม่จำนวนมากที่ปกติเป็นคนใจดีรักลูกมาก แต่พอเมาเหล้ากลายเป็นคนละคน เมาแล้วทำร้ายลูก ด่าทอลูก พอหายเมาก็กลับมาเป็นปกติ บางครอบครัวก็พยายามทนรับสภาพเพราะตอนไม่เมาเป็นพ่อที่น่ารักมาก
ฉันก็ถูกเลี้ยงมาแบบนี้แหละ ไม่เห็นจะเป็นอะไร กรณีนี้น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะมีพ่อแม่จำนวนมากที่ถูกกระทำมาจากพ่อแม่ของตัวเองมาตลอด พอถึงวันที่ตัวเองเป็นพ่อแม่บ้าง ก็ทำให้ใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง โดยหารู้ไม่ว่าก็เท่ากับเป็นการสร้างพฤติกรรมที่รุนแรงต่อไปจนถึงรุ่นลูก ลูกจะเก็บกดและเป็นคนใช้ความรุนแรงเช่นกัน
รู้ก่อนปรับแก้ไขทันนะคะ หลายครั้งพ่อแม่อาจทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของลูก จนส่งผลกระทบไปถึงพัฒนาการได้ค่ะ