ใครๆ ก็แนะนำให้หยุดนมมื้อดึกได้แล้ว บางคนว่าหลัง 1 ขวบนมแม่ไม่มีประโยชน์แล้วด้วยค่ะ?
ประเด็นเรื่องนมมื้อดึก มิได้อยู่ที่นมแต่อยู่ที่ “แม่” ส่วนเรื่องนมแม่หลังหนึ่งขวบไม่มีประโยชน์นั้นไม่จริงแน่ นมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ตลอดไปจนกว่าจะหมดไปเอง
เรื่องนมมื้อดึกพัวพันมาถึงการอุ้มกล่อมกลางดึก มี 2 แนวคิดที่แตกต่างกัน แนวคิดหนึ่งมุ่งเน้นการสร้างความผูกพันมากมายเสียจนคุณแม่ต้องเป็นผู้เสียสละโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งคือการปล่อยให้ทารกร้องไห้ในเวลากลางคืนจนกระทั่งเงียบไปเอง
แนวคิดแรกที่มากเกินไปทำให้คุณแม่หมดสิ้นเรี่ยวแรงและรู้สึกผิด หากตนเองจะไม่ลุกมาอุ้มลูกเดินไปมาตลอดทั้งคืน ในขณะที่สุดโต่งอีกด้านหนึ่งคือทอดทิ้งให้ทารกร้องไห้สุดเสียงนานหลายชั่วโมงโดยไม่ใยดี
แนวคิดแรกคือเรื่องความผูกพันหรือ attachment ของจิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ John Bowlby (1907-1990)แนวคิดที่สองคือ“ปล่อยให้ร้องจนหลับไป” หรือ Cry it out ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน
หากเราสามารถเลิกนมแม่มื้อดึกเมื่อถึงเวลาได้โดยง่ายก็ทำได้ กล่าวคือหากลูกของเราเป็นเด็กเลี้ยงง่ายก็ทำไปเลย เพราะเมื่อเขาอิ่มคุณแม่เขาก็จะเลิกเองโดยละมุนละม่อม แต่ถ้าเราได้เด็กเลี้ยงยากและเขาปากกัดตีนถีบแหกปากร้องไห้จ้าไม่ยอมหยุด
แม้ว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไปก็ไม่ยอมหยุดเช่นนี้ จะเป็นการดีกว่าที่เราจะอุ้มไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะหลับไปด้วยความไว้วางใจ คือ trust ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่ เพราะแม่ที่มีอยู่จริงและ attachment ซึ่งผมเลือกใช้คำว่าแปลว่า “สายสัมพันธ์” มาตั้งแต่แรกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพัฒนาการต่อไปในอนาคต
การเลี้ยงดูที่ผิดพลาดในช่วงอายุ 0-3 ขวบอาจจะสร้างพยาธิสภาพจิตบางประการเกิดขึ้นได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ผมได้พบในงานประจำที่ตนเองทำตั้งแต่เรียนจบแพทย์จนถึงวันเกษียณอายุราชการ
ทักษะชีวิตที่ดีหมายถึงการที่เรารู้จักที่จะเลือกและตัดสินใจ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าทุกทางเลือกมีข้อดีข้อเสียและมีราคาที่ต้องจ่าย หากเราชั่งน้ำหนักเรื่องการอดนอนของคุณแม่กับพยาธิสภาพทางจิตของลูกในอนาคต น่าจะคิดออกได้ไม่ยากว่าทางเลือกใดมีน้ำหนักมากกว่าทางเลือกใด
สาย Cry it out ก็ไม่ได้บอกให้อุ้มทั้งคืนโดยไม่วางหรือทอดทิ้งเด็กโดยไม่เหลียวแล ที่ผมเขียนเสมอว่าอุ้มไปเรื่อยๆ มิได้แปลว่าสักนาทีก็วางมิได้ ที่จริงแล้วเราควรรอเวลาสักนิดเมื่อลูกร้องกลางดึกก่อนที่จะเข้าหา ครั้นเขาร้องไห้รอบต่อไปเราสามารถรอเวลามากขึ้นอีกนิดหนึ่งก่อนที่จะเข้าหา แล้วทอดระยะเวลาการรอคอยนี้ออกไปได้ครั้งละเล็กละน้อย เราพบว่าเด็กจะปรับตัวได้ในคืนหนึ่ง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล