การอ่านนิทานเชื่อมโยงกับการฝึกวินัย ฝึกทักษะชีวิตอย่างไรได้บ้าง?
พูดเสมอคือพ่อแม่เป็นผู้อ่านนิทานด้วยตนเอง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ผลที่ได้คือพ่อแม่ที่มีอยู่จริง เมื่อเรามีอยู่จริงแล้วจะพูดอะไรก็ฟัง จะฝึกวินัยอะไรก็ง่าย
นอกเหนือจากตัวเราที่มีอยู่จริงแล้ว ยังมีสายสัมพันธ์ สายสัมพันธ์เปรียบเหมือนเส้นใยหรือเชือกที่เชื่อมระหว่างเราและลูก (จะพูดว่าล่ามก็ได้แต่อาจจะฟังดูไม่ไพเราะเท่าใดนัก) เมื่อมีเชือกจูงเสียแล้ว (ไม่ไพเราะจนได้) จะสอนหรือฝึกอะไรลูกก็ทำได้โดยง่าย
โดยทั่วไปเราอยากให้อ่านนิทานที่เปิดกว้างให้เด็กได้คิดต่อ เพราะความคิดที่เสรีจะมีคุณต่อเด็กในอนาคตมาก การอ่านนิทานหมวดคำสั่งสอน หรือฝึกวินัย ฝึกทักษะ มักได้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ แต่ถ้าชอบหรือจำเป็นก็ทำได้
เมื่อพ่อแม่มีอยู่จริง การอ่านนิทานฝึกนิสัยก็จะได้ผลดี ด้วยกลไกที่พ่อแม่มีอยู่จริงพูดอะไรก็น่าเชื่อถือน่าติดตาม อีกกลไกหนึ่งเราเรียกว่ากลไกสวมรอยตัวละครในนิทาน คือ identification ว่าที่จริงแล้วกลไกการสวมรอยจะทำงานได้ดีเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป นั่นแปลว่าจะอย่างไรก็อาจจะต้องรอให้พ่อแม่มีอยู่จริงเสียก่อน ตามด้วยตนเอง (คือ self)ที่มีอยู่จริง ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเด็กมีอีโก้ (คือ ego)แล้ว จึงจะสวมรอยได้ เพราะหน้าที่สวมรอยหรือ identification นี้เป็นหน้าที่ของอีโก้ เราเรียกว่า ego function
อ่านนิทานหนูนิดติดเกมหนูแป๋งแปรงฟัน หนูไก่ไม่นอน พฤติกรรมที่เห็นได้ด้วยตานั้นอ่านให้เด็กๆ สวมรอยได้ไม่ยาก มีนิทานเช่นนี้มากมายในท้องตลาด
อ่านนิทานหมีน้อยขี้กลัว หมาป่าตาร้อน นกน้อยขยันยิ่ง ลักษณะนิสัยเหล่านี้มิได้เห็นด้วยตาเปล่า ไม่สามารถบรรยายได้ด้วยภาพเพียงภาพเดียวแต่ต้องใช้เนื้อเรื่องทั้งเล่ม การสวมรอยก็จะยากขึ้นอีกระดับเพราะเด็กต้องตั้งใจจดจ่อและบริหารความจำใช้งานได้นานพอจนจบเล่มจึงจะเข้าใจ มีนิทานเช่นนี้ในท้องตลอดมากมายเช่นกัน
ขึ้นชื่อทักษะคือ skills เป็นเรื่องต้องฝึก มิได้มาเอง ทักษะชีวิตก็เช่นกัน ทักษะย่อยๆ เช่น การกิน แปรงฟัน การนอน เหล่านี้ควรได้รับการฝึกในเวลาไม่นานหลังการอ่าน เช่น อ่านคืนนี้ พรุ่งนี้ทดลองฝึกได้เลย เด็กมักให้ความร่วมมือดีกว่าเพราะแม้แต่หนูนิด หนูแป๋ง และหนูไก่ก็ทำได้ แม่ในนิทานเป็นปลื้มแม่ในชีวิตจริงก็ควรจะปลื้มเช่นกัน
มิใช่อ่านเสร็จแล้วปล่อยพี่เลี้ยงฝึก หรือยกให้ปู่ย่าตายายฝึก หมีน้อย หมาป่าน้อย นกน้อยนิสัยดีก็ควรได้รับการฝึกฝนหลังการอ่านได้ไม่นานนัก ซึ่งแปลว่าอาจจะไม่ต้องรอเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นเพราะไม่รู้เราจะพบแมงมุมตัวต่อไปเมื่อไร แต่เราฝึกได้ในวันรุ่งขึ้นด้วยการเล่นสมมติ การเล่นสมมติหรือการเล่นละครเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้เสมอหากพ่อแม่จะมีเวลาและเห็นความสำคัญที่จะลงไปเล่นด้วยตนเอง
อ่านปุ๊บฝึกปั๊บน่าจะดีที่สุดครับ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล