เวลาลูกดื้อ ต่อต้าน เอาแต่ใจ พ่อแม่ก็มักจะพูดซ้ำๆ บ่นซ้ำๆ บางทีก็บ่นจนโมโหและดุลูก และยิ่งถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ ไม่แปลกเลยที่ลูกจะต่อต้านค่ะ
พ่อแม่บางคนชอบใช้คำสั่งด้วยการ "พูดไปเรื่อย ๆ" โดยที่ตนเองก็ไม่ทันสังเกตว่าลูกสนใจในเรื่องที่ตนเองพูดอยู่หรือเปล่า เช่น แม่นั่งทำงานอยู่ ลูกกำลังนั่งเล่นของเล่น พอถึงเวลากินข้าว แม่พูดกับลูกว่า "เก็บของได้แล้วลูก" "เก็บให้เรียบร้อยนะ" "มากินข้าวได้แล้ว" "ถ้าไม่เก็บ ไม่ต้องกินข้าวนะ" พูดโดยที่ไม่หันไปดูหรือไม่ได้ไปช่วยลูกเก็บเลย นั่งพูดไปเรื่อยๆ พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พอหันไปเห็นว่าลูกยังไม่เก็บ ก็เกิดอารมณ์เสีย เสียงดังใส่ลูก ดุลูกว่าทำไมยังไม่เก็บอีก บอกให้เก็บตั้งนานแล้ว เป็นต้น
การพูดซ้ำเรื่อยๆ ทำให้เด็กเกิดการเบื่อหน่ายและจับประเด็นไม่ถูก ไม่รู้ว่าพ่อแม่จะให้ทำอะไร ต้องการอะไร ไม่เข้าใจว่าคุณแม่จะสั่งเขาเรื่องอะไร ทำให้ลูกเบื่อหน่าย หรืออาจจะมีปัญหาความสัมพันธ์ และนำไปสู่การมีปัญหาทางอารมณ์กับลูก ถ้าพูดบ่อยแล้วไม่ทำตามที่แม่พูดก็ดีหรือดุ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ลูกเกิดพฤติกรรมต่อต้าน เช่น ไม่ยอมทำ อาละวาด ร้องไห้ โวยวาย หรือขว้างข้าวของ กลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด และอารมณ์รุนแรงได้ค่ะ
ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกอารมณ์รุนแรง ขี้หงุดหงิดง่ายละก็ ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กับลูกดูค่ะ
เน้นประเด็นสำคัญเข้าใจง่าย และที่สำคัญควรพูดเป็นรูปธรรม เช่น ถ้าหนูไม่ทำแบบนั้นเดี๋ยวบาปนะ ซึ่งการพูดเป็นนามธรรม เด็กจะงง และไม่เข้าใจว่าบาปคืออะไรดังนั้น ต้องพูดให้ชัดเจน ว่าหนูควรทำอะไร แล้วมีผลอย่างไรซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีกว่าค่ะ
ถ้าอยากให้ลูกทำอะไรก็ให้เขาเลือก แต่สิ่งที่จะให้ลูกเลือกก็ควรอยู่ในบริบทที่จัดไว้ให้แล้ว เช่น หนูจะแปรงฟันก่อนหรืออาบน้ำก่อนดี เพราะไม่ว่าเขาจะเลือกอะไรก่อนก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่วางแผนไว้แล้วว่าลูกจะต้องทำทั้งสองอย่าง แต่ลูกสามารถมีโอกาสที่จะเลือก ได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเด็ก ๆ จะชอบวิธีแบบนี้มากกว่า
ถ้าต้องการให้ลูกเข้านอนจากที่เคยพูดสั่งว่าเข้านอนได้แล้ว ให้เปลี่ยนเป็นการตกลงกันว่าลูกจะเข้านอนกี่โมง แล้วชวนลูกทำเป็นตารางเวลา เป็นกิจวัตรประจำวัน ให้เขามีส่วนร่วมในการรับรู้ แล้วให้ตกลงกันว่าต้องทำแบบนี้ ถ้าลูกทำได้ก็ชมเขา หรือมีรางวัลให้เขาด้วยค่ะ ที่สำคัญต้องเน้นความสม่ำเสมอ ว่าต้องเข้านอนเวลานี้ทุกวันถ้าลูกไม่เข้านอนจะมีผลอย่างไร หรือมีบทลงโทษอะไรที่จะเกิดขึ้นกับเขา เช่น ของที่เขาเคยได้ หรือเคยตกลงกันไว้ว่าจะซื้อให้ลูกก็จะไม่ได้แล้วนะ ซึ่งจะทำให้เขาเชื่อฟังและรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองอีกด้วย
ขึ้นอยู่เหตุการณ์ด้วย เช่น บอกให้ลูกมาอาบน้ำ แล้วอยากให้เขาสนุกกับการอาบน้ำ การใช้น้ำเสียงควรจะสนุก ตื่นเต้น หาของเล่นมาเล่นกับลูก เพื่อให้เขามีความสุขกับการอาบน้ำมากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่ทำตาม เริ่มงอแง ให้ใช้น้ำเสียงนิ่ง และค่อย ๆ เข้มขึ้นและจริงจังมากขึ้น แสดงสีหน้าจริงจัง แต่ไม่ใช่ตวาดหรือดุจนเขากลัว เพราะจะทำให้ลูกเข็ดขยาดกับการอาบน้ำได้
การฝึก EF ไม่ได้ฝึกแค่เฉพาะเด็กๆ ค่ะ พ่อแม่อย่างเราเองก็ต้องมี EF ในตัวเองด้วย