งานวิจัยและหลักฐานทางการแพทย์ ที่บ่งบอกถึงความสามารถของทารก ในการจำใบหน้าของแม่หรือบุคคลที่ใกล้ชิดผูกพันเลี้ยงดูอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอได้ รวมทั้งเสียง กลิ่นและรสของน้ำนมแม่ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าทารกจะนิ่งสงบและหลับง่ายขึ้น หากได้ยินเสียงที่คุ้นเคยตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องของแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนิทานที่เปิดซ้ำๆ หรือเสียงเพลง เสียงดนตรีที่คุ้นเคย
สิ่งที่เด็กทารกจะแสดงออกในช่วงขวบปีแรกนั้น แม้จะยังไม่ใช่คำพูดที่มีความหมาย แต่พ่อแม่ก็สังเกตได้ ทั้งจากอากัปกิริยา ท่าทาง การขยับตัว การโผเข้าหา การขยับตัวออก แววตา สีหน้าที่แสดงอารมณ์ของความพอใจหรือไม่พอใจ รวมทั้งเสียงอือๆ อาๆ ในลำคอของเขาด้วย
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแนวทางของพัฒนาการด้านการสื่อสาร ที่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์และภาษาพูดของเด็กทารก และจะพัฒนามากขึ้นในขวบปีต่อๆ ไป
พ่อแม่ต้องคอยกระตุ้นหรือช่วยให้ลูกตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ควรให้ลูกสัมผัสกับพ่อแม่และคนในครอบครัวให้มากที่สุด
นอกจากนี้การใช้เสียงต่างๆ ประกอบการเลี้ยงดู ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การตื่น การนอน ความหิว ความร้อน ความเย็น คุยกับลูกถึงอาการหรือความรู้สึกต่างๆ ก็ช่วยสร้างความจำที่ดีได้
การตอบสนองลูกหรือการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ต้องเป็นการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย คือทั้งตัวลูกและพ่อแม่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป การสื่อสารระหว่างพ่อ แม่ ลูก จะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะการกระตุ้นสัมผัสต่างๆ ของลูกเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” (Executive Functions : EF) ด้าน Working memory หรือความจำที่นำมาใช้งาน โดยต้องฝึกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดทักษะ ซึ่งเด็กๆ จะสามารถนำข้อมูลหรือความจำเหล่านั้นมาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือคาดการณ์ต่อไปในอนาคต