โรคจากยุงอันตรายมากสำหรับลูกเล็กค่ะ ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้ชิคุนกุนยา ไข้สมองอักเสบ รวมไปถึงไวรัสซิก้าที่อันตรายมากสำหรับแม่ท้องและทารกในครรภ์ค่ะ เราจะป้องกันโรคจากยุง และป้องกันลูกไม่ให้โดนยุงกัดได้อย่างไรบ้าง พญ.สินดี จำเริญนุสิต มีคำแนะนำมาบอกพ่อแม่ทุกคนค่ะ
5 โรคอันตรายจากยุง ที่พ่อแม่ต้องป้องกันลูกจากยุงกัด
โรคที่เกิดจากยุงมีอาการที่หลากหลายขึ้นกับเชื้อที่ได้รับ ตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อย เช่น
- ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever)
ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตัว อาการอาจจะมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง จนช็อกและเสียชีวิตได้ การรักษาเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ จนพ้นระยะวิกฤต
- ชิคุนกุนยา หรือ ไข้ปวดข้อ (Chikungunya)
เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาโดยมียุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายกับไข้เลือดออกแต่อาจจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และปวดตามข้อต่ออย่างรุนแรง โดยทั่วไปโรคนี้รักษาตามอาการ ไม่มีวัคซีนหรือยาเฉพาะ
- ไข้มาลาเรีย (Malaria)
ไข้มาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการนำคล้ายหวัด ส่วนอาการไข้ หนาวสั่นอาจจะพบในบางรายเท่านั้น ดังนั้น คุณหมอมักสงสัยในกรณีที่ผู้ป่วยอาศัยหรือเดินทางไปยังที่ที่มีการระบาดของมาลาเรีย โรคนี้หายขาดได้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis: JE)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมองโดยมียุงรำคาญเป็นพาหะ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ (ประมาณ 1 ใน 300 รายเท่านั้นที่จะมีอาการ) หากผู้ป่วยติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดความพิการทางระบบประสาท หรือถึงแก่ชีวิตได้
- ไข้ซิกา (Zika Fever)
เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ ผื่น ปวดข้อและตาแดง อาการมักจะไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามถ้าเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ จึงควรระมัดระวังหากต้องเดินทางไปในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้
วิธีการป้องกันยุงกัดในบ้านลดความเสี่ยง
- ควรคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ไม่ปล่อยให้มีน้ำขังในภาชนะใด ๆ รอบ ๆ บ้าน
- ตัดหรือถางหญ้าให้สั้น เพื่อป้องกันแหล่งที่มียุงชุกชุม
- หลีกเลี่ยงการเปิดหน้าต่างหรือประตูบ้านทิ้งไว้ และควรติดมุ้งลวดตามประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันยุง
- หากต้องนอนบริเวณที่มียุงเยอะ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันยุงหรือใช้มุ้ง
การป้องกันลูกจากยุงกัด
- หลีกเลี่ยงการวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำนิ่งที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง หรือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืด อับชื้น
- ถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกบ้าน ใส่เสื้อผ้าที่มีแขนขายาว (อาจใช้เนื้อผ้าบาง ๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกร้อนเกินไป)
- ถ้าต้องเดินทางเข้าป่าหรือบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด นอกจากแต่งตัวให้มิดชิด ควรสวมถุงเท้า รองเท้าในเด็กเล็ก หากอยู่ในรถเข็น (stroller) ควรมีมุ้งกันยุงคลุมไว้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของยาทา หรือแผ่นแปะกันยุง ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อตัวเราและลูก โดยควรปฏิบัติตามฉลากยาและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองว่าใช้ในเด็กได้
-
- ในกรณีที่ใช้สารทาป้องกันยุงสำหรับเด็ก อาจมีส่วนผสมของ DEET (สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าแมลง) ด้วย ซึ่งไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน และต้องมีความเข้มข้นของ DEET ไม่เกิน 10% อย่างไรก็ตามการใช้ยาทากันยุงเช่นนี้มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรทาเกินวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรทาที่มือ ใบหน้าโดยตรง หรือผิวหนังที่มีแผล และควรล้างออกเมื่อเข้ามาในบริเวณที่ไม่โดนยุงกัดแล้ว
- สารกันยุงที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากตะไคร้หอม (citronella oil) น้ำมันมะกรูด สาระแหน่ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของยาทา สเปรย์ หรือ แผ่นแปะกันยุง ก็สามารถนำมาใช้ในเด็กได้
ข้อดีของสารกันยุงตามธรรมชาติคือไม่มีสารเคมีเจือปนและยิ่งถ้ามาในรูปแบบของแผ่นแปะ นอกจากสะดวกในการใช้งานแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการทายาที่ต้องสัมผัสผิวโดยตรงจนอาจระคายเคืองผิวลูกน้อยด้วย แผ่นแปะสามารถติดบนเสื้อผ้า เครื่องใช้หรือบริเวณที่ต้องการได้เลย ประสิทธิภาพในการป้องกันยุงก็ยาวนานประมาณ 6-8 ชั่วโมงค่ะ
รักลูก Community of The Experts
สนับสนุนการดูแลทุกครอบครัวโดย
3M Neoplast
ดูข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่
http://bit.ly/Neoplast
(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)