เชื่อว่าความหวังดีหลายอย่างของพ่อแม่ กลับกลายเป็นดาบที่มาทิ่มแทงลูกน้อยให้เจ็บปวดโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับการบังคับลูกหลายๆ เรื่องเพื่อปรับพฤติกรรมให้ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง แต่ด้วยความเป็นเด็กพ่อแม่ควรมีวิธีในการฝึกหัด และค่อยๆ สอนลูกๆ แทนวิธีการบังคับซึ่งอาจส่งผลเสียกับพฤติกรรมของลูกมากกว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่พ่อแม่ไม่ควรบังคับ ฝืนใจลูกจนเกินไปมาลองดูกันค่ะ
อย่าบังคับให้ลูกนอน ช่วงแรกๆ ของการฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลานั้น ต้องยืดหยุ่น อย่าบังคับให้ลูกนอน แต่อาจใช้เทคนิคอื่นๆ แทน เช่น พาแกไปอยู่ในมุมเงียบๆ (หรือบนเตียงแกก็ได้) ห่างไกลจากสิ่งเร้าทั้งหลาย โอบอุ้มแกไว้ เล่านิทาน หรือเปิดเพลงคลอเบาๆ ให้แกรู้สึกว่ากล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ลูกก็จะไม่ต่อต้าน เพราะไม่รู้สึกว่าวิธีปฏิบัตินี้เป็นการบังคับแต่กลับรู้สึกว่าพ่อแม่รัก
อย่าบังคับให้ลูกกิน สำหรับเด็กที่เริ่มกินอาหารเสริม และมีพัฒนาการการกินที่ดีขึ้นจากช่วงแรกกิน 2-3 คำก็เป็น 5-6 คำ จนถึงครึ่งถ้วย อย่างนี้ต้องชื่นชมลูก สิ่งสำคัญถ้าลูกกินได้ไม่กี่คำแล้วไม่กินต่อ อย่าตำหนิ อย่าดุ หรือคะยั้นคะยอให้กินจนหมดถ้วย และไม่ควรบังคับลูก เพราะอาจกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้าย ส่งผลให้เป็นคนกินยากได้
อย่าบังคับให้ลูกเรียน เชื่อว่าหลายครอบครัวหวังดีกับลูกๆ และวาดฝัน ตั้งความหวังกับอนาคตของลูกๆ กันไว้ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ทำให้หลายคนพยายามอยากให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่หวัง ซึ่งหากลูกๆ เห็นคล้อยเห็นดีเห็นงามด้วยก็สบายไป แต่ถ้าลูกเกิดไม่ชอบแต่ทำไปเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเด็กมีปัญหา หรือเก็บกดได้ ดังนั้นทางที่ดีควรหมั่นสังเกตว่าลูกชอบเรียนในวิชา หรือสาขานั้นๆ จริงไหม ควรใช้วิธีพูดคุยสร้างเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้พ่อแม่ลูกเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันอย่างสมัครใจ แต่หากลูกมีเป้าหมายของตัวเองอย่างแน่วแน่ พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายสนับสนุน และคอยให้กำลังใจช่วยเหลือเขาดีกว่าค่ะ
อย่าบังคับให้ลูกแบ่งปัน ต้องค่อยๆ สอน ค่อยๆ อธิบาย เราเป็นผู้ใหญ่ยังหวงของที่มีค่ากับเราเลย สำหรับเด็กอย่ามองว่าเป็นแค่ของเล่นหรือแค่ขนม เพราะมันคือของมีค่าสำหรับเขาเช่นกัน ลองบอก “หนูจะเล่นอีกกี่นาทีดี แล้วแลกกันนะ” หรือ “รอเพื่อนเล่นเสร็จก่อนเราค่อยเล่น ตอนนี้เล่นอันนี้ก่อนดีไหมคะ” ของเล่นใหม่ๆแปลกๆ มักจะล่อความสนใจได้เสมอ
อย่าบังคับลูกให้ขอโทษ การบังคับลูกให้ขอโทษ ทั้งที่เขาไม่รู้สึกผิดจริงๆ หรือเขาไม่ได้ทำผิดแต่โดนบังคับ จะทำให้การขอโทษนั้นสูญเปล่า และไม่เกิดความเข้าใจในการกระทำที่แท้จริง จะยิ่งทำให้เขารู้สึกต่อต้านและไม่เชื่อฟัง ทางที่ดีควรปลูกฝังให้เขารู้สึกเข้าใจ ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น จะทำให้ลูกเป็นคนละเอียดอ่อน และรู้ถึงการกระทำของตัวเองเวลาทำให้คนอื่นโกรธ หรือเสียใจ
หากลูกไม่ยอมขอโทษ เวลาทำผิดควรสอนอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยความใจเย็น ว่าการขอโทษหรือการแสดงความเสียใจเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และไม่น่าอาย เพราะทุกคนทำผิดพลาดได้ และถ้าลูกไม่ได้ทำผิดก็ไม่ควรบังคับเคี่ยวเข็ญเพื่อให้เขาต้องขอโทษในเหตุการณ์ที่เขาไม่ได้ทำเพราะเหมือนเป็นการบีบบังคับให้เขาไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง