ธารทิพย์ / นนทบุรี
A: ขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลมเป็นของโปรดของเด็กๆ ในวัยนี้ เพราะกินง่าย อร่อย มีรสเค็มและหวานเป็นที่ถูกใจ เมื่อเทียบกับอาหารอื่นๆ ที่ครอบครัวจัดให้ แน่นอนว่าคุณค่าทางอาหารไม่เท่าอาหารหลักที่ลูกกินรวมถึงนมที่ลูกดื่ม เพราะในน้ำอัดลมนั้นมีแค่น้ำและน้ำตาล ขนมขบเคี้ยวก็หนักไปในทางแป้งและเกลือเป็นส่วนใหญ่ ในขนมบางอย่างอาจจะใส่โปรตีนเข้าไปด้วย แต่ปริมาณก็นับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับอาหารอื่นที่เราจัดให้เป็นอาหารหลักของเด็ก ดังนั้นถ้ากินขนมขบเคี้ยวและดื่มน้ำอัดลมมาก จำนวนพลังงานหรือสารอาหารก็จะไม่ครบถ้วนเพียงพอต่อเด็ก และอาจจะจะสร้างพฤติกรรมการกินที่เสียไป เพราะว่าถึงเวลาเด็กก็จะเบื่ออาหาร และไม่อยากกินอาหารที่มีรสชาติต่างจากขนมที่เขาชอบอยู่
นอกจากนี้เด็กที่ติดขนมมากๆ จะไม่ยอมกินอาหารปกติ ทำให้คุณแม่อาจจะคิดไปว่าขนมขบเคี้ยวนั้น ถ้ากินในปริมาณมากพอก็จะสามารถทดแทนกับอาหารอื่นๆ ได้ เลยให้กินแต่ขนมมากๆ เพียงอย่างเดียวในแต่ละวัน ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน
เพราะในแต่ละวันเด็กควรได้รับอาหารที่มีแป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ อยู่ในปริมาณที่สมดุลกับการเติบโตของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารเสริมอย่างนมต่างๆ ที่แม่ให้ลูกดื่มในแต่ละวัน สำหรับขนมอื่นๆ อาจจะให้เป็นของเสริมในบางเวลาที่มีความสุข หรืออาจจะเป็นการให้รางวัลในแต่ละช่วง แต่ไม่ควรส่งเสริมให้กินเป็นล่ำเป็นสัน เพราะปัญหาในระยะยาวนั้นจะมีมากกว่าค่ะ
ซึ่งการให้เด็กกินของหวานจะทำให้เด็กติดรสชาติ และในที่สุดอาจจะต้องปรับอาหารหลักให้มีรสหวานนำ นำไปสู่พฤติกรรมที่ชอบของหวานและโรคอ้วน โรคเบาหวาน และยังมีปัญหาฟันผุตามมาอีกด้วย
หมอเห็นด้วยว่าควรให้ลูกหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลมจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการสร้างเสริมพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม แต่จะทำได้แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่ในบ้านของเรา ซึ่งต้องยอมรับว่าขนมและน้ำอัดลมไม่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยหากเราสามารถจะให้ความรู้กับผู้ใหญ่ในบ้าน ให้เห็นพ้องต้องกันกับเราได้ ก็คงจะเป็นการดี
แต่จากประสบการณ์ของหมอค่อนข้างลำบาก เพราะคนที่บ้านมักจะเห็นว่าของเหล่านี้กินนิดๆ หน่อยๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การไปสร้างกฎกติกาที่เข้มงวด จะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับลูกและญาติผู้ใหญ่ในบ้านไปด้วย เพราะฉะนั้นเรามาเดินสายกลางกันดีกว่าค่ะ
นั่นคือต้องยอมรับว่าขนมและน้ำอัดลมสามารถเป็นของกินเล่นกับลูกได้บ้าง แต่ขอให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอย่าให้มีผลต่อการกินมื้อหลักกับลูกเลย โดยลองย้ายจากการที่ให้กินในเวลาว่าง เพราะจะทำให้ลูกอิ่มและไม่กินมื้อหลัก ไปเป็นการกินหลังอาหาร ซึ่งก็จะทำให้ลูกไม่อยากกินขนมดังกล่าว เพราะว่าอิ่มจากมื้อหลักไปเรียบร้อยแล้ว ในที่สุดเราก็จะสามารถลดปริมาณและชนิดของขนมต่างๆ ลงไปได้ และพยายามเลือกขนมขบเคี้ยวต่างๆ ให้มีรสหวานอ่อนๆ และมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น
จากนั้นคงต้องดูว่าขนมและน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน จะสร้างปัญหาต่อสุขภาพช่องปากหรือไม่ ถ้าเผื่อเป็นขนมที่อาจมีผลทำให้ฟันผุ หลังจากที่ลูกกินแล้วก็ควรต้องดื่มน้ำและแปรงฟัน
นอกจากนี้คุณแม่และที่บ้านควรปรับตัวเข้าหากัน โดยตกลงกันว่าให้ลูกกินขนมได้ แต่กินในเวลาที่พอเหมาะ ขนาดที่พอควร และจัดการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกหลังจากกินขนมและน้ำอัดลมให้เหมาะสมทุกครั้ง หมอเชื่อว่าหากทำทุกครั้ง ไม่นานลูกชายก็คงจะเบื่อน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว เพราะว่าการกินของเหล่านี้ในแต่ละครั้งจะไม่สนุกเหมือนเดิมเสียแล้ว
ที่สำคัญคุณแม่อย่ากังวลมากไปค่ะ เป็นห่วงได้บ้าง และไม่ต้องห้ามทุกครั้ง เพราะในเด็กวัยนี้การห้ามก็เหมือนยิ่งยุค่ะ เราเพียงแต่สังเกต ปรับบรรยากาศการกิน สร้างกติกาขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสม ก็จะทำให้ความชอบขนมและน้ำอัดลมหายไปได้ในที่สุดค่ะ
รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร