ข้าวจัดเป็นกลุ่มอาหารธัญพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเบบี๋ โดยเฉพาะข้าวไทยที่มีโปรตีนชนิดที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่าธัญพืชที่นิยมในประเทศแถบตะวันตก เช่น กลุ่มข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
ส่วนสารอาหารที่อยู่ในข้าวนั้นจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) ที่มีการย่อยและดูดซึมอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสมดุล โดยเฉพาะหากเป็นข้าวที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้องจะดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีสารอาหารหลากชนิด กับข้าวปัจจุบันที่มีหลากชนิดเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องปฏิเสธเกรงว่าลูกน้อยจะกินไม่ได้ค่ะ เพราะเด็กสามารถกินได้ทุกชนิด เพียงแต่ต้องคำนึงถึงลักษณะความหยาบ ความละเอียดของข้าวที่จะนำมาทำเป็นอาหารเสริมให้ลูกเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพัฒนาการย่อยของวัยลูกน้อยด้วย แล้วข้าวที่เรามักจะเห็นกันบ่อยตามท้องตลาด มี 5ชนิดด้วยกัน
ข้าวมันปู ชาวจีนโบราณเรียก ข้าวแดงหรือชื่อพื้นเมือง อั้งคั่ก ด้วยลักษณะข้าวที่มีสีน้ำตาลแดง ไม่ว่าจะผ่านการขัดสีหรือไม่ก็ตาม คุณแม่อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวกล้อง ดังนั้นหากต้องการได้รับคุณค่าที่มากกว่า ควรเลือกข้าวที่ระบุว่าเป็นข้าวกล้องมันปู จะทำให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า เพราะจะมีจมูกข้าวติดอยู่ รวมถึงมีสารแคโรทีนที่เมื่อรับประทานแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย
ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เจ้าเยื่อหุ้มสีแดงนี้เอง เมื่อรับรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้ได้รับประโยชน์จากสารแอนโทไซยานิน สารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ซึ่งหากเป็นข้าวกล้องหอมมะลิแดงจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเช่นเดียวกันค่ะ
ข้าวเจ้าหอมนิล เมล็ดข้าวมีสีออกม่วงดำ มีธาตุเหล็กสูง และจัดเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง แต่ถ้าต้องการให้มีคุณค่าทางโภชนาการเต็มที่ก็ควรเป็นข้าวกล้อง สีม่วงเข้ม (cyanidin) สีชมพูอ่อน (peodinin) และสีน้ำตาล (procyanidin) ในข้าวนั้น คือสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) จัดเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของแอนตี้ออกซิเดนท์มีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ
ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ เมล็ดข้าวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้ม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของข้าว ด้วยการสีที่เอาเพียงเปลือก(แกลบ) ออกโดยที่ยังมีจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว(รำ)อยู่ จึงทำให้มีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารที่เป็นประโยชน์สูงกว่าข้าวขัดสี
ข้าวกล้องงอก (Germinated Brown Rice หรือ “GABA-Rice”) เมล็ดขาวสีขาวขุ่น นั้นเพราะกระบวนการที่นำข้าวกล้องมาผ่านกระบวนการงอก ช่วงกระบวนการนี้เองที่จะมีสารอาหารที่ดีเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะสารกาบา (GABA) ซึ่งในข้าวกล้องงอกมีมากกว่าข้าวกล้องปกติ 15เท่า ความสำคัญของสารกาบานั้น ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาททำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันอาการนอนไม่หลับ ช่วยรักษาความดันของเลือด ให้ร่างกายสะสมไขมันน้อยลงจากการกระตุ้นฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต รวมถึงมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน
เมื่อสารอาหารมากมีคุณพ่อคุณแม่คงต้องการให้เมนูข้าว บรรจุอยู่ในมื้ออาหารของลูกน้อย ไปดูกันว่า Rice’s Menu มีอะไรกันบ้าง
ข้าวกล้องครูด (สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป)
ส่วนผสม
-ข้าวสวยกล้องหุงสุก 2-3 ช้อนโต๊ะ
-น้ำต้มผัก 1 ถ้วยตวง
-กระชอนหรือช้อน เพื่อบดข้าว
วิธีทำ
1.นำข้าวสวยกล้องมาบดด้วยช้อน หรืออาจจะครูดผ่านกระชอน (ความหยาบของข้าวขึ้นอยู่กับอายุของลูกน้อย)
2.นำข้าวสวยที่ครูดละเอียดแล้ว เติมน้ำต้มผักเล็กน้อย แล้วนำไปตุ๋นจนข้าวเปื่อย
3.ก่อนนำไปป้อนลูกน้อย หากคุณแม่เห็นว่าข้าวข้นเกินไปอาจจะเติมน้ำต้มผักเพิ่ม เพื่อเพิ่มความคล่องคอเวลาลูกน้อยรับประทานค่ะ
Tips:
-อาจจะใช้กระชอนตาห่างขึ้น หรือบดหยาบ จะทำให้ได้ข้าวที่ไม่ละเอียดเกินไปเหมาะกับเด็กอายุประมาณ 1ขวบ)
-ใช้เครื่องบด บดข้าวสารกล้อง นอกจากจะช่วยผ่อนแรงแล้ว ยังทำให้ได้ข้าวที่นิ่มและมีความละเอียดเหมาะสำหรับลูกน้อยวัยเริ่มอาหารเสริม
โจ๊กข้าวกล้องใส่ไข่ให้พลังสูง(สำหรับเด็กอายุประมาณ 8-9 เดือนขึ้นไป)
ส่วนผสม
-ข้าวกล้องหุงสุก 3-4 ช้อนโต๊ะ
-น้ำซุป 1 ถ้วยตวง
-ผักใบเขียว เช่น ตำลึงสับละเอียด 2-3 ช้อนโต๊ะ
-ไข่ไก่สด ½ ฟอง
วิธีทำ
1. นำข้าวกล้องที่หุงสุกแล้วมาต้มในน้ำซุป 2. เติมผักตำลึง ผักคะน้า ที่สับละเอียดลงไป แล้วเคี่ยวจนเปื่อยเป็นเนื้อเดียวกัน
3.ใส่ไข่ แล้วคนให้ไข่กลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับข้าว
4. คนให้ทั่วจนไข่สุก จนผสมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน หากข้นเกินไป อาจจะเติมน้ำซุปลงไปเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกน้อยรับประทานง่ายขึ้น
Tips:
- ตับและไข่ โดยเฉพาะไข่ขาวควรเริ่มหลังลูกน้อยอายุ 7 เดือนขึ้นไป
- แต่ละมื้ออาจจะเปลี่ยนเป็นเต้าหู้สลับกับผักหลากชนิด อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เริ่มอาหารชนิดใหม่นั้นควรเริ่มทีละอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าลูกแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่ค่ะ
ข้าวต้มหลากสี (สำหรับเด็กอายุประมาณ 9-10 เดือนขึ้นไป)
ส่วนผสม
- ข้าวกล้องหอมมะลิ, ข้าวกล้องหอมนิล, ข้าวกล้องมันปู อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ
-แครอตหั่นเป็นลูกเต๋าเล็กๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ
-เนื้อไก่หรือเนื้อหูสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1.นำข้าวกล้องหอมมะลิ, ข้าวกล้องหอมนิล, ข้าวกล้องมันปู ผสมรวมกัน แล้วต้มในน้ำสะอาดจนข้าวสุก
2. ใส่แครอตที่หั่นเป็นลูกเต๋า เคี่ยวจนข้าวและแครอตเปื่อย เป็นเนื้อเดียวกัน
3. เติมเนื้อไก่หรือหมูสับละเอียด
4. คนให้ทั่ว แล้วต้มจนเนื้อสุก
Tips:
ผักที่เลือกมาใส่อาจจะเปลี่ยนเป็นผักที่มีสันสดใส เพื่อเพิ่มให้หน้าตาข้าวต้มดูน่ากินขึ้น เช่น มะเขือเทศสีส้มสดใส หรือบร๊อคโคลี่สีเขียว
ข้าวกล้องมากเบต้า (แคโรทีน) (สำหรับเด็กอายุประมาณ 10-12 เดือน)
ส่วนผสม
-ข้าวสวยกล้อง 3-4 ช้อนโต๊ะ
-ฟักทองนึ่งบด 1-2 ช้อนโต๊ะ
-น้ำซุป 1 ถ้วยตวง
-เนื้อปลากะพงต้มสุก ยีละเอียด 1-2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1.นำข้าวสวยกล้องผสมกับฟักทองนึ่งบด แล้วยีให้เข้ากัน
2. เติมน้ำซุปลงไปเล็กน้อย จากนั้นนำไปนึ่งหรืออบต่ออีกประมาณ 5นาที
3. เมื่อสุกแล้ว ยีเนื้อปลาโรยหน้าข้าว
4. เพิ่มความคล่องคอด้วยน้ำซุปผักเปื่อยๆ หรือจะใส่ผักสับละเอียดเข้าไปด้วยก็ได้ จะทำให้ได้สารอาหารจากผักใบเขียวดียิ่งขึ้น
Tips:
-สามารถใช้เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ในวัยนี้ ยกเว้นอาหารทะเลประเภทมีเปลือก เพราะอาจจะทำให้ลูกแพ้อาหารได้
-การเริ่มปริมาณข้าวขึ้นกับอายุของเด็ก 6-7 เดือนเริ่มที่ข้าวสุกประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ช้อนโต๊ะในช่วงอายุ 8-9 เดือน รวมถึงต้องแบ่งเป็น 2 มื้อด้วย เมื่อเข้าสู่ช่วง 10-12 เดือนให้ได้ประมาณ 5 ช้อนโต๊ะแต่อาจจะแบ่งเป็น 3 มื้อค่ะ
นอกจากอาหารกลุ่มข้าวแล้วคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเลือกใช้ธัญพืชธัญหารอื่นๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ลูกเดือย รวมถึงผลิตภัณฑ์ มาปรุงอาหารเสริมได้เช่นกัน เพราะอาหารแต่ละชนิดก็ให้คุณค่าที่แตกต่างกัน เพียงแต่ให้สักเกตอาหารที่อาจบ่งบอกถึงปฏิกิริยาการแพ้อาหารชนิดใหม่ทุกครั้งที่เริ่มให้รับประทาน และต้องได้รับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน
Tips:
สังเกตอาการแพ้ทุกครั้งที่เริ่มอาหารชนิดใหม่ โดยให้อาหารชนิดนั้นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-5 วัน ก่อนเปลี่ยนชนิดใหม่ ไม่ควรให้อาหารชนิดใหม่พร้อมกัน เพราะจะทำให้สังเกตอาการแพ้ได้ยาก ตัวอย่างอาการแพ้ ได้แก่ การมีผื่นตามผิวหนัง ท้องเสีย น้ำมูกไหล เป็นต้น
ความหยาบและลักษณะเหมาะกับวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่ดี กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และช่วยให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อ
สร้างความเคยชินให้ลูกด้วยการฝึกให้กินผักและผลไม้เป็นการสร้างนิสัยที่ดีกับลูกน้อย
ข้อมูลโภชนาการ: อัจฉรีย์ สุวรรณชื่น นักวิชาการโภชนาการ ประจำหน่วยโภชนบำบัดและโภชนศึกษา โรงพยาบาลรามาธิบดี