เป็นปัญหามาเนิ่นนานเรื่องกระเป๋าของเด็กนักเรียนไทยที่มีน้ำหนักมากเกินไปจนเหมือนเป็นเรื่องที่เราทุกคนชาชินกับสิ่งเหล่านี้ แต่เอาเข้าจริงๆ การพกหนังสือทุกเล่มไปโรงเรียนไม่ได้บ่งบอกว่าเด็กขยันหรือโรงเรียนเคร่งวิชาการ แต่กลับสะท้อนให้เห็นความบกพร่องของการจัดการเรียนการสอน หรือจัดตารางสอนของครูและโรงเรียนมากกว่า
ทั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ. เด็ก ได้ออกมาเตือนผู้ปกครองให้หันมาใส่ใจลูกหลานวัยประถมศึกษาเนื่องจากเด็กวัยนี้มักจะต้องแบกกระเป๋านักเรียนหนักๆ อยู่เป็นประจำ ทำให้มีโอกาสบาดเจ็บจากการหกล้ม กล้ามเนื้ออักเสบ และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้
นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าเด็กไทยวัยประถมแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเด็ก เช่น หากมีเด็กน้ำหนัก 30 กก. น้ำหนักกระเป๋าที่เด็กสามารถถือได้ต้องไม่เกิน 3 กก. เท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่ากระเป๋านักเรียน 1 ใบ มีน้ำหนักสูงถึง 4-6 กก. การที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ทั้งหนักและนานอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่าเด็กวัยอนุบาลหรือประถมต้นยังมีการทรงตัวที่ไม่ดีนักเนื่องจากอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตและพัฒนาการการทรงตัวอีกทั้งกำลังแขนขายังไม่แข็งแรง
การแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เด็กล้มง่ายเดินลำบากมากขึ้น เกิดการบาดเจ็บทั้งจากการล้มและบาดเจ็บกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแบกกระเป๋า
เช่นเดียวกับที่ประเทศอินเดีย จำกัดน้ำหนักกระเป๋านักเรียนโดยที่เขาจะคำนึงถึงอายุของเด็กๆในแต่ละวัยป้องกันผลเสียกระดูกสันหลังของเด็กๆและยังยกเลิกการให้การบ้านระหว่างชั้นประถม 1-2 เพื่อให้เด็กๆไม่ต้องสะพายกระเป๋าที่หนัก ส่วนนักเรียนชั้นอื่นน้ำหนักกระเป๋าต้องไม่เกิน 3 กิโลกรัม และนักเรียนชั้น ม4 ขึ้นไปน้ำหนักต้องไม่เกิน 5 กิโลกรัมในแต่ละวัน
ทั้งนี้เราจะเห็นเด็กใช้กระเป๋า 2 แบบ คือ แบบที่ใช้มือถือกับแบบที่สะพายขึ้นหลัง ซึ่งแบบมือถือนั้นไม่เหมาะกับการถือหรือใช้งานเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บและเสียสมดุลร่างกายได้มากกว่าแบบสะพายหลัง แต่อย่างไรก็ตามการแบกกระเป๋าที่หนักเป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายโดยเฉพาะแขนไหล่และสะบัก
แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปหรือกระดูกไม่เจริญเติบโต เนื่องจากการเจริญเติบโตของเด็กยังมีปัจจัยประกอบหลายประการ อาทิ การรับประทานอาหารการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและกรรมพันธุ์ของเด็ก ทั้งนี้หากกระเป๋ามีน้ำหนักมากแนะนำให้ใช้กระเป๋าลากแต่ถ้าน้ำหนักไม่มากและต้องการแบกเป็นเวลานานควรใช้กระเป๋าแบบสะพายหลัง ส่วนกระเป๋าถือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำว่าไม่ควรหนักจนเกินไป และไม่ควรถือเป็นเวลานานๆ