พอเจ้าตัวน้อยของเราก้าวเข้าสู่วัยเตาะแตะ แกก็จะชอบเดินไปนั่น วิ่งมานี่ ไม่มีอยู่เฉย สารพันปัญหาที่เราไม่เคยพบเห็นจะมาปรากฏตัวตรงหน้าก็ตอนนี้ล่ะ ไม่ว่าจะเป็น
'ทำไมลูกถึงไม่มีอุ้งเท้าล่ะ?' หรือ
'ลูกเราทำไมถึงเดินท่าแปลกๆ นะ'
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจรู้สึกตกใจจนต้องรีบพาลูกไปหาหมอ เพื่อสอบถามให้หายข้องใจ แต่วันนี้คุณๆ ไม่ต้องวิ่งไปหาคุณหมอที่ไหน เพราะเราเอาคำถามคับข้องใจเรื่อง "เท้าเล็กๆ" ของลูกไปเรียนถาม นายแพทย์ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม คุณหมอโรคกระดูกประจำโรงพยาบาลเลิดสินมาให้แล้วค่ะ
ตีนเท่าฝาหอยค่อยๆ ก้าว ก่อนที่จะก้าวไปถึงเรื่องปัญหาที่พานให้สงสัยข้องใจกันบ่อยๆ เรามาทำความรู้จักเท้าน้อยๆ กันก่อนดีไหมคะ
สำหรับเด็กวัย 1-2 ขวบ เท้าจะมีลักษณะไม่เหมือนกับเท้าผู้ใหญ่ค่ะ ถ้าสังเกตดู จะเห็นว่าเท้าของลูกนั้นไม่ค่อยยาวแต่จะเป็นแนวกว้างมากกว่าและมีชั้นไขมัน หนา ทำให้เท้าของเจ้าตัวเล็กดูป้อมๆ อูมๆ น่ารัก น่ามันเขี้ยว
นอกจากนี้เอ็นที่ยึดกระดูกเท้าไว้ยังมีความยืดหยุ่นสูง กล้ามเนื้อที่ยึดก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก เมื่อเวลาที่ลูกยืนขึ้นอุ้งฝ่าเท้าจึงแบนแต๊ดแต๋ติดพื้น ดูไม่มีอุ้งฝ่าเท้าเอาเสียเลย
ส่วนเรื่องของลักษณะการเดิน เด็กที่เริ่มหัดเดินใหม่ๆ จะยังเดินได้ไม่เหมือนผู้ใหญ่เสียทีเดียว ทั้งท่าทางและความเร็ว เพราะสำหรับลูกตัวน้อยๆ แล้วการเดินยังถือเป็นเรื่องยากมาก ต้องใช้การทรงตัวที่มากขึ้น ต้องใช้ขา ต้องรู้จักควบคุมสะโพก เข่า เท้า ให้สัมพันธ์กันหมด
เด็กที่ยืนขึ้นใหม่ๆ ก็เหมือนคนเล่นไต่เชือกที่ต้องทรงตัวไปมา ดังนั้น ในเวลาที่ยืน ขาทั้งสองข้างจึงต้องกางออก เป็นแบบยืนขากาง เวลาเดินแขนก็ต้องชูขึ้นหรือกางออกเพื่อทรงตัวไม่ให้ล้ม ถ้าสังเกตดูคุณอาจรู้สึกว่าเด็กวัยนี้มีท่าเดินคล้ายๆ กับคิงคอง เนื่องจากเท้าของเขาจะจิกพื้นเพราะความเกร็ง และพยายามจะเลี้ยงตัวไม่ให้ล้มลงไป นี่เองกระมังคะที่ทำให้ดูเหมือนว่าเจ้าตัวเล็กของเราเดินท่าทางแปลกๆ
เรื่องเหล่านี้คุณหมอบอกมาว่าไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ พอลูกเราโตขึ้นกล้ามเนื้อก็จะค่อยๆ พัฒนาจนเหมือนกับผู้ใหญ่ได้เอง ไม่ต้องพาไปรักษาแต่อย่างใดค่ะ
เรื่องชวนกลุ้มใจของเท้าเล็กๆ ปัญหาของเท้าในเด็กเล็กๆ ที่พบบ่อยจะแยกได้เป็น 2 กลุ่มค่ะ คือ
กลุ่มแรก เป็นความไม่เข้าใจของคุณพ่อคุณแม่เองในเรื่องพัฒนาการของเท้าเด็ก ทำให้เกิดความวิตกกังวล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่โรคหรือปัญหา เป็นเพียงพัฒนาการตามธรรมชาติของเท้าเด็กที่แตกต่างไปจากวัยผู้ใหญ่เท่านั้น เอง ความกังวลใจเหล่านั้นก็ได้แก่เรื่อง....
* อุ้งเท้าแบน
เด็กในวัยขวบแรกนั้น วันหนึ่งๆ ก็ได้แต่นอนอยู่บนที่นอน หรือถูกคุณพ่อคุณแม่อุ้ม จึงไม่ค่อยมีใครสังเกตว่าอุ้งฝ่าเท้าเป้นอย่างไร ต่อเมื่อเจ้าตัวเล็กยืนขึ้น และหัดเดินนั่นแหละ เราจึงเห็นว่าเท้าของลูกนั้นแปะลงกับพื้น เนื่องจากน้ำหนักตัวที่กดลงไป บวกกับเอ็นที่ยืดๆ และกล้ามเนื้อเท้าที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้ยังไม่สามารถดึงให้เกิดอุ้งเท้าขึ้นมาได้ จึงดูเหมือนว่าอุ้งเท้าของลูกแบน ซึ่งอันที่จริงถ้าจับลูกนั่งห้อยขาแล้ว เราก็จะเห็นว่าแกมีอุ้งเท้าเหมือนกันนะ
แต่ก็มีโรคของเท้าบางอย่างที่ทำให้ไม่มีอุ้งเท้าและต้องเข้ารับการรักษา นั่นก็คือโรคกระดูกเท้าเคลื่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตั้งแต่เกิด โรคนี้ถึงแม้เด็กจะนั่งห้อยเท้าก็ยังไม่มีอุ้งเท้าอยู่ดี เมื่อคุณหมอจับมาตรวจก็จะพบว่าเท้าแข็งมาก ไม่มีความยืดหยุ่นเลย และไม่ใช่ความผิดปกติทางกายภาพที่เห็นภายนอกเท่านั้นนะคะ แต่ลูกจะเจ็บเวลาเดินด้วย การรักษาก็ต้องใช้วิธีผ่าตัดเท่านั้น ส่วนปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือกระดูกเท้าเกิดเชื่อมติดกันทำให้อุ้งเท้าแบนและ ไม่ยืดหยุ่น การรักษาก็ต้องผ่าตัดเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นความผิดปกติ แต่ทั้งสองโรคนี้ก็พบน้อยมากๆ ค่ะ
* เดินเหมือนเป็ด
เป็นลักษณะของเท้าที่เดินแล้วเท้าบิดเข้าข้างใน แต่เมื่อตรวจดูที่เท้าก็ปกติดีไม่มีอะไร ส่วนที่ผิดปกติคือส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปค่ะ เช่น กระดูกหน้าแข้งบิดเข้าใน หรือกระดูกขาส่วนบนบิดเข้าใน ลักษณะการเดินแบบนี้คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสังเกตเห็นเมื่อลูกอายุประมาณขวบ หนึ่งนี่แหละ พอหลัง 3 ขวบไปแล้วก็จะหายไปเอง เชื่อกันว่ากระดูกบิดนี้อาจจะเป็นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้วก็ได้ เพียงแต่เด็กในวัยขวบแรกนั้นยังยืนและเดินไม่ได้ เลยไม่สามารถสังเกตเห็น ต่อเมื่อได้ยืน ได้เดิน หรือวิ่งเล่น และกระดูกมีโอกาสออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะปรับตัวเข้าสู่ลักษณะปกติได้เองค่ะ
ในกรณีที่กระดูกหน้าแข้งบิดโดยทั่วไป หลังอายุ 3 ขวบไปแล้วจะดีขึ้นได้เอง แต่สำหรับบางคนที่เป็นในส่วนที่สูงขึ้นมาอีก เช่น เป็นที่กระดูกต้นขา ก็จะหายช้านิดหนึ่ง และจะดีขึ้นจนเป็นปกติหลังจากอายุ 9 ขวบไปแล้วค่ะ
หลังจากช่วงอายุ 3 ขวบและ 9 ขวบดังกล่าว ถ้ายังพบว่าผิดปกติ มีปัญหาในการเดิน การวิ่ง วิ่งแล้วเข่าชนกัน ค่อยพาลูกกลับมาให้คุณหมอตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะอาจต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งต้องทำหลังจากอายุ 12 ปีไปแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจจะไปกระทบกระเทือนถูกส่วนที่เจริญของกระดูกทำให้ผิดปกติไป ได้
แต่ถึงอย่างนั้น ในเรื่องนี้คุณหมอยืนยันมาเลยค่ะว่า
"99.99 เปอร์เซ็นต์หายเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัด ขอแค่ได้วิ่งเล่น กระดูกได้รับแรงกระทำ (หมายถึงได้ออกแรงตามความเหมาะสม) ก็จะเจริญตามปกติอยู่แล้ว การไปใส่รองเท้าพิเศษเพื่อดัดเท้าลูก ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าทำให้หายได้ เนื่องจากไม่ใส่ก็หายอยู่แล้ว พ่อแม่บางคนไม่รู้ ไปสั่งตัดรองเท้าพิเศษพิสดารอะไรมาใส่ให้ลูกก็หาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องหาย เพราะเด็กจะหายได้เองอยู่แล้วครับ"
กลุ่มที่สองเป็นเรื่องโรคของเท้าซึ่ง การรักษามีเพียงการผ่าตัดเท่านั้น โดยต้องสังเกตอาการสักระยะหนึ่งก่อน และจะลงมือรักษาต่อเมื่อมีอาการเจ็บค่ะ คุณหมอได้ยกตัวอย่างเรื่องที่พบกันอยู่ทั่วไปมาเล่าให้ฟังดังนี้ค่ะ
* นิ้วหัวแม่เท้าเฉ
การที่นิ้วหัวแม่เท้าเฉเข้าหานิ้วชี้นี้มีทั้งที่เป็นตั้งแต่เกิด และที่มาเป็นตอนโตค่ะ โดยในกรณีหลังนี้จะสัมพันธ์กับการใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่หัวแหลมๆ เพราะจะไปบีบให้นิ้วหัวแม่เท้าเฉเข้าหานิ้วชี้ได้ ถึงนิ้วหัวแม่เท้าจะเฉไปไม่เหมือนกับชาวบ้านเขา แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการเดินหรือการวิ่งนะคะ นอกเสียจากว่าจะมีอาการปวด และโดยทั่วไปในเด็กจะยังไม่มีอาการปวดอะไร จนกว่าจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อายุ 20-30 ปีขึ้นไปแล้วนั่นแหละจึงจะมีอาการ จนถึงต้องเข้ารับการรักษา คือผ่าตัดนั่นเองค่ะ