ภัยร้ายทำลายผิว พ่อแม่ต้องป้องกันให้ลูกรัก
"ลูกสาวใครเอ่ย...แก้มใสดีจัง คุณแม่เลี้ยงยังไงคะเนี่ย?-"
"ดูไอ้หนูคนนั้นสิ...ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูสดชื่นแข็งแรง"
ใครมาเอ่ยชมลูกรักของเราเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงเป็นปลื้มเพราะนั่นหมายถึง เราดูแลเอาใจใส่ลูกได้ดี ถูกหลัก ทั้งอาหารการกินและการออกกำลังกาย แต่นั่นคงไม่ใช่หมายความว่าเราจะละเลยการปกป้องผิวพรรณ เนื้อตัวของลูกให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกผิวสวยอย่างปลอดภัย จึงควรหมั่นเอาใจใส่ในเรื่องต่อไปนี้ครับ
1) ความปลอดภัยภายในบ้าน
เริ่มกันตั้งแต่เรื่องการอาบน้ำให้ลูก หากไม่ระมัดระวังโดยพอเข้าห้องน้ำก็จับเจ้าตัวน้อยแช่ในกะละมังที่มีน้ำร้อน อยู่ทันที หรือเปิดเครื่องทำน้ำร้อนราดรดตัวเจ้าหนูน้อยโดยทันที โดยไม่ได้ทดสอบอุณหภูมิก่อน ผลก็คือลูกร้องจ้าด้วยความทรมาน และอาจเกิดเป็นแผลพุพอง จนอาจติดตัวไปตลอดชีวิต!
ดังนั้นสิ่งที่ควรจำไว้เสมอคือ ก่อนอาบน้ำให้ลูกควรตรวจสอบอุณหภูมิน้ำก่อนเสมอ อาจใช้มือหรือใช้ข้อศอกนี่แหละจุ่มๆ ลงไป เพื่อตรวจสอบดูว่าน้ำนั้นมีอุณหภูมิอยู่ในระดับใด? น้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ต้องใช้เวลาสัมผัสนานกว่า 30 วินาทีจึงจะเกิดแผลความร้อนลวก ขณะที่ความร้อน 55 องศาเซลเซียสใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีจะพุพองได้!!
สำหรับเด็กโตที่อาบน้ำอุ่นด้วยฝักบัว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้เด็กรู้จักการเปิดน้ำทดสอบอุณหภูมิของน้ำด้วย เปิดครู่หนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำ (โดยเฉพาะน้ำที่ยังค้างอยู่) ไม่อยู่ในความร้อนที่จะ "ลวก" เขา เครื่องทำความร้อนรุ่นใหม่มีการควบคุมอุณหภูมิอย่างดี แต่รุ่นเก่าๆบางทีสามารถให้น้ำที่ร้อนจัดได้
นอกจากนั้นก็บรรดาน้ำยาขัดห้องน้ำ บางชนิดก็แรงทั้งกลิ่นและสารเคมีที่ผสมเข้าไป จนทำให้แสบตาแสบจมูก แล้วยังทำให้เด็กๆ หลายคนต้องมีอาการแพ้เพราะน้ำยากัดผิวหนังหรือกัดเท้า ดังนั้นอาจต้องเลือกชนิดที่เหมาะสมและล้างให้เกลี้ยงหมดจดหลังการใช้ด้วยนะ ครับ และอย่าลืมเก็บน้ำยาล้างขัดห้องน้ำไว้ในที่ที่เด็กเอื้อมหยิบไม่ถึงทุกครั้ง ที่ใช้เสร็จแล้วด้วยเพราะน้ำยาพวกนี้มีฤทธิ์กัดกร่อนอย่างมาก หากเด็กกลืนเข้าไปจะทำให้หลอดอาหารและกระเพาะทะลุได้ครับ
จากห้องน้ำก็มาที่ห้องครัว ในขณะที่คุณกำลังปรุงอาหารหรือสอนให้ลูกรู้จักการทำอาหารก็อย่าลืมสอนให้ลูก ระมัดระวังเรื่องไฟ เรื่องน้ำมันร้อนๆ ที่อาจจะกระเด็นเข้าหน้าเข้าตา น้ำมันที่กระเด็นถูกผิวหนังจะทำให้เกิดบาดแผลความร้อนลวกคือแดงและพุพอง ซึ่งหากมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนจะทำให้เกิดแผลเป็นตามมาได้ครับ
ที่สำคัญถ้าเลี่ยงได้ ไม่ควรให้ลูกป้วนเปี้ยนคลานเล่นอยู่แถวๆนั้นเลยนะครับ
พูดถึงเจ้าหนูน้อยก็คิดขึ้นได้ว่าการยืนการเดินยังไม่คล่องแคล่ว (หรือยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่เลย) ทำให้เขาชอบเกาะชอบดึงไปเรื่อยเพื่อการช่วยประคองตัว และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเขาดึงผ้าปูโต๊ะอาหารพรืด ในขณะที่บนโต๊ะวางอาหารสารพัด ทั้งจาน ชาม กับข้าว และน้ำแกงร้อนๆ หรือที่พบได้บ่อยในสังคมไทยคือการใช้หม้อใบใหญ่ต้มแกงแล้ววางหม้อแกงนั้นไว้ บนพื้น เด็กที่วิ่งเล่น หรือเด็กเล็กที่หัดเดินอาจไปสะดุดเข้า และหงายหลังนั่งลงไปในหม้อแกงร้อนๆแบนี้อันตรายมากครับเพราะบาดแผลจะเกิด บริเวณผิวหนังที่อยู่ใกล้กับอวัยวะขับถ่าย การรักษาจะทำได้ยาก และการติดเชื้อแทรกซ้อนจะเกิดได้ง่ายมาก
อุปกรณ์สำคัญในการปรุงอาหารที่ต้องระวัง และต้องสอนเด็กให้รู้จักรักษาความปลอดภัยเมื่อต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ เตาแก๊ส สอนลูกว่า (กรณีเด็กโตพอที่จะเรียนรู้ได้แล้ว) หากเปิดแก๊สครั้งแรกแล้วไฟไม่ติดก็ให้ปิด (หมุนกลับ) ก่อน รอสักเดี๋ยวจึงค่อยเปิดอีกครั้ง สอนว่าอย่าบิดกลับไปกลับมา (เปิดๆ ปิดๆ) และแม้ว่าไฟไม่ติดก็อย่าลืมปิดแก๊สด้วย เพื่อกันแก๊สรั่วและเกิดไฟลุกพรึ่บขึ้นได้ เตาแก๊สบางแบบจะต้องใช้จุดไม้ขีดไฟ เพื่อความปลอดภัยเราควรจุดไม้ขีดไฟรอไว้ก่อน แล้วจึงเปิดเตาแก๊ส เพื่อให้ปลอดภัยจากไฟลวก และแก๊สไหลออกมามากเกิน
เตาถ่าน บางบ้านยังใช้เป็นกิจวัตร บางบ้านก็ใช้เป็นครั้งคราว ด้วยเชื่อว่าทำให้อาหารอร่อยกว่าการใช้เตาประเภทอื่น และเด็กๆ ก็มักจะสนุกเพลิดเพลินกับการปิ้งๆ ย่างๆ อาหารด้วยตนเอง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือ สะเก็ดไฟ และขี้เถ้าร้อนๆ กระเด็นเข้าใบหน้าหรือเข้าตา ทางที่ดีควรยืนอยู่เหนือลม และระวังเศษถ่านร้อนๆ ร่วงใส่ขา ดังนั้นจึงควรใส่รองเท้าทุกครั้งที่ยืนหน้าเตาถ่าน
กาต้มน้ำร้อน หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องปิ้งขนมปัง หากบ้านใดมีเด็กเล็กก็ควรจะจัดวางสิ่งเหล่านี้ให้พ้นมือเด็กๆ
ของมีคม เช่น มีดชนิดต่างๆ เก็บให้เป็นที่เป็นทาง อย่าให้เด็กคว้ามาเล่นได้ เด็กเล็กสนใจของเก็บๆ ซ่อนๆ อยู่แล้ว ดังนั้นต้องล๊อกให้เรียบร้อย ของมีคมบาดหากไม่ลึกจะไม่เกิดแผลเป็น แต่หากลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อแล้ว บาดแผลจะเกิดการหดรัดตัวได้ เกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ที่รักษายาก เด็กบางคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคแล้วเกิดแผลเป็นใหญ่ อาจเป็นคนที่มีแผลเป็นได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยง ระวังความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดแผลเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นที่บริเวณใบหน้าแล้ว จะรักษาได้ยากมาก
การปฐมพยาบาลเมื่อมีบาดแผลที่ผิว
แผลถลอก ล้างแผลให้สะอาดโดยใช้น้ำปะปาหรือน้ำสะอาด เช็ดฝุ่นออกจากบาดแผลให้หมด ปิดด้วยผ้าสะอาด หรือผ้าทำแผล โดยทายาต่อต้านแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อรอบๆแผล ไม่ทายาบนแผล
แผลเลือดออก ให้ล้างน้ำให้สะอาด โดยใช้น้ำปะปาหรือน้ำสะอาดอื่นชะล้าง แล้วห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดแผลไว้อย่างน้อย 5 นาที โดยทายาต่อต้านแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อๆ รอบๆ แผล ไม่ทายาบนแผล หากแผลอยู่ในตำแหน่งสำคัญ เช่น ใบหน้า ข้อมือ หรือแผลยาวกว่า 2 ซม. หรือแผลลึก ควรนำส่งพบแพทย์หลังการปฐมพยาบาลเองแล้ว
บาดแผลความร้อนซึ่งเกิดจากไฟ หรือน้ำร้อน ให้ชะล้างด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาทันทีเพื่อลดอุณหภูมิบนเนื้อเยื่อที่ได้ รับความร้อน หากมีอาการพุพองไม่ควรเจาะ แต่ให้ทายาต่อต้านแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และปิดด้วยผ้าสะอาด หากมีอาการพุพองหรือแผลลึก หรือมีอาการปวด แดง เมื่อทายาต่อต้านเชื้อแบคทีเรียแล้วเปิดแผลไว้ได้ ส่งพบแพทย์เมื่อมีอาการพุพองมากกว่า 1 ฝ่ามือเด็ก แผลลึก หรือแผลอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญคือ ใบหน้า มือ อวัยวะเพศ
บาดแผลจากรอยเคี้ยวสัตว์ เช่น สุนัข แมว ให้ล้างแผลให้สะอาด โดยใช้น้ำปะปาหรือน้ำสะอาดชะล้าง หลังจากนั้นห้ามเลือดโดยการกดบาดแผล พบแพทย์เพื่อพิจารณาการให้ยาป้องกันการติดเชื้อ การเย็บแผล การให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรือวัคซีนที่ต้องการ
หากเป็นสารพิษที่สัมผัสโดนผิวหนังต้องชะล้างออกด้วยน้ำสะอาด จนกว่าจะหมดไป ปิดผ้าสะอาดและนำส่งพบแพทย์เช่นกัน
2) ความปลอดภัยนอกบ้าน
ประโยชน์ของ "แสงแดด" นอกจากจะช่วยให้ผิวหนังได้สร้างวิตามินดี ทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เลือดมีการไหลเวียนดี
ผิวหนังก็จะเต่งตึงขึ้นเปล่งปลั่งขึ้น และทนทานต่อความร้อนความหนาวของอากาศได้ดีกว่า เด็กๆ ควรได้รับการสนับสนุนให้เล่นกีฬากลางแจ้ง เพียงแต่มีข้อแม้ว่า "แสงแดด" ที่มีคุณนั้นหมายถึง แดดในยามเช้า (ก่อน 10.00 น.) และยามเย็น (15.00 น.) ดังนั้นแสงแดดในเวลาระหว่าง 10 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 จึงเป็นแดดที่แรงจัด และเป็นอันตรายต่อผิวหนังและสุขภาพ
เมื่อโดนแดดร้อนจัดอยู่เสมอจะทำให้ผิวคล้ำดำขึ้นเพราะร่างกายจะสร้างเม็ดสีขึ้นมาในเซลล์มากขึ้น หากแรงเกินไปผิวจะไหม้และลอก ซ้ำยังปวดแสบปวดร้อนในเวลา 4-24 ชั่วโมงต่อมา และที่น่ากลัวก็คือแสงอัลตราไวโอเลตสเปคตรัมต่างๆ อาจก่อให้เกิด "มะเร็งผิวหนัง" ได้ และมักเกิดกับคนที่โดนแดดจัดๆ อยู่เสมอๆ
เด็กๆ ที่ชอบเล่นกลางแจ้งในเวลาแดดจัดๆ นอกจากจะทำให้ผิวเสีย ผิวไหม้แล้วยังเสี่ยงต่อการเกิด "ลมแดด" อีกด้วย ซึ่งอาการก็คือ ปวดหัว ตัวร้อน และอาจเป็นลมหมดสติกันไปเลย
การป้องกันก็คือ ควรหลีกเลี่ยงช่วงแดดจัด (10.00-15.00 น.) ก่อนออกแดด (แม้ว่าจะเป็นช่วงโดนแดดได้) ก็ควรทาครีมกันแดดที่มีตัวยา SPF อย่างต่ำ 15 และป้องกันได้ทั้ง UV-A และ UV-B และควรเป็นแบบกันน้ำได้ (เผื่อว่ายน้ำหรือเล่นน้ำทะเล) ต้องทา 30 นาทีก่อนออกแดด และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
แต่จริงๆแล้วก็ต้องยอมรับว่า ถึงอย่างไรเด็กๆ ก็ยังห่วงเล่นมากกว่าห่วงผิวเสียและห่วงสุขภาพ จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่อีกล่ะครับ ที่จะต้องให้ความรู้และดูแลเอาใจใส่ใสุขภาพผิวและสุขภาพร่างกายของลูกแทน
โดย: ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิม