ลิ้มรสผักแรก
อาหารเสริมมื้อแรกที่มีผักควรเป็นผักชนิดอ่อนนุ่ม กากใยไม่เยอะ ไม่ฝืดคอ ไม่มีกลิ่นฉุน เช่น แคร์รอต ฟักทอง และผักใบเขียวใบอ่อนๆ เช่น ผักกาด ผักหวาน ตำลึง ฯลฯ ลูกจะต้องหัดใช้ลิ้นในการกวาดอาหารที่หยาบขึ้นเพื่อกลืนลงคอ ซึ่งนอกจากเนื้ออาหารจะทำให้เจ้าลูกสึกแปลกประหลาดแล้ว รสชาติก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความประทับใจแรกให้เขา
รสชาติผัก เรื่องสำคัญ
พ่อแม่ต้องสังเกตลูกว่าชอบกินผักผลไม้ชนิดไหน เด็กบางคนไม่ชอบกินเปรี้ยว แต่แม่ให้กินแต่ข้าวบดผสมมะเขือเทศ ก็ย่อมไม่อยากกินอาหารเสริมแน่นอน แล้วเมื่อโตขึ้นก็อาจจะฝังใจไม่ชอบมะเขือเทศไปเลย
ขอแนะนำให้ลองเริ่มต้นด้วยผักกาดขาว ฟักเขียว หรือผักสีเขียวใบอ่อนที่มีรสหวานนิดๆ เช่น ใบอ่อนของผักหวานและตำลึง ซึ่งเด็กๆ ชอบ เมื่อลูกคุ้นเคยแล้วการกินผักก็จะไม่ใช่เรื่องยากค่ะ
ผัก...มื้อแรก
คุณแม่ควรเริ่มให้ลูกกินผักเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน โดยเริ่มทีละน้อย เช่นเพิ่มครั้งละ 1 ช้อนชา และเลือกผักที่มีความนุ่มมากๆ เช่น ฟักเขียว ผักกาดขาวบด ฟักทอง แครอทและตำลึง เพราะผักที่มีสีสันสดสวยเหล่านี้ จะมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตาและสมอง ทั้งยังมีเบต้าแคโรทีนทำหน้าที่ช่วยให้ร่างกายเติบโตสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก และการที่มีผักสีสวยๆ ในอาหารยังเพิ่มความอยากกินอาหารของเด็กอีกด้วยค่ะ
สำหรับผักที่ค่อนข้างมีรสขมอย่าง ผักโขม คะน้า ควรเริ่มให้หลังจากที่ลูกกินผักรสอ่อนๆ ไปแล้วสักระยะหนึ่ง เพื่อความเคยชินและลดการปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้น
หยิบผักมาปรุงให้ลูกอย่างไรดี
ผักแบ่งง่ายๆ เป็น 2 อย่างคือ ผักที่เสียง่ายกับผักที่เสียยาก ผักที่เสียง่ายมักมีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะจึงทำให้ผักช้ำง่าย เช่น ผักกาด ตำลึง ผักสลัดต่างๆ ส่วนผักที่เสียยากจะเป็นผักที่ต้องปอกเปลือกออก เนื้อค่อนข้างแน่น แข็ง เช่น พืชหัวอย่างมันฝรั่ง แครอท รวมถึงตระกูลฟักด้วย
ดังนั้นถ้าจะนำผักที่เสียง่ายมาปรุงควรแบ่งออกมาแค่พอทำแต่ละมื้อ ถ้าทำ 3 มื้อก็แบ่งเป็น 3 ส่วน ทำทีละส่วน โดยล้างแล้วผึ่งให้แห้งจึงค่อยเก็บใส่ตู้เย็น ไว้หยิบมาปรุงครั้งต่อไป
------------------------------------
Pure Soup
ต้นแบบเมนูผัก (เป็นหัวอาหาร นำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง)
วัตถุดิบ : หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศต้มทั้งลูก (ถ้าให้ลูกกินต้องคว้านเม็ดออก น้ำซุปจะไม่ขุ่น) มันฝรั่ง ขึ้นไฉ่ ผักกาดขาว แครอท ฟักทอง กะหล่ำปลี หั่นชิ้นใหญ่ๆ เกลือหรือซอสปรุงรสเล็กน้อย
วิธีทำ : ต้มผักทั้งหมดรวมกันด้วยไฟกลาง ตุ๋นจนผักเปื่อยยุ่ยทั้งหมด รสชาติของน้ำซุปจะเปลี่ยนไป ได้ความหวานและความหอมของผักออกมา ไม่ต้องทิ้งเนื้อผัก จากนั้นให้พักไว้แล้ว แบ่งเก็บใส่ตู้เย็นได้ให้พอดีกับแต่ละมื้อตามความต้องการ (พักให้เย็นก่อนเก็บเข้าตู้เย็น)
------------------------------------
ข้าวบด ซุปใส
วิธีทำ : เมื่อจะนำมาใช้ให้ต้มน้ำซุปที่เก็บไว้จนเดือด และใส่เนื้อสัตว์ตามต้องการลงไป เช่น หมูสับ ไก่สับ เป็นต้น เมื่อสุกผสมกับข้าวเป็นอาหารเสริม บำรุงสมองจากวิตามินในซุปผักรวม
------------------------------------
ซุปข้น ทรงเครื่อง
วิธีทำ : นำน้ำซุปตั้งไฟเติมเนื้อสัตว์ลงไป หรือจะใช้วิธีนึ่งเนื้อสัตว์ให้สุกก่อน แล้วยีให้ละเอียดแล้วละลายลงในน้ำซุป ละลายนมผงที่ลูกกินใส่ลงไปในซุป ถ้ายังไม่ข้นให้เพิ่มเนื้อฟักทอง ข้าวโอ๊ต หรือนมข้าวโพด (ข้าวโพดต้มปั่นคั้นเอาแต่น้ำ) ใส่ร่วมด้วยได้