Scoliosis หรือโรคกระดูกสันหลังคด พบมากในเด็กแรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่นทีเดียว จากการวิจัยพบว่าเด็กไทยมีกระดูกสันหลังคด ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 คน ซึ่งหมายความว่าลูกของเราอาจเป็นโรคนี้ได้ วันนี้เรามีวิธีสังเกตอาการของโรค เพื่อให้พ่อแม่ได้ระมัดระวังเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงต้องทำอย่างไร จะได้รักษาลูกได้ทันเวลาค่ะ
ก่อนเข้าเรื่องของโรค ทางเราของนำเรื่องราวที่มีคุณแม่ท่านหนึ่งแชร์เหตุการณ์ที่ลูกได้เป็นโรคกระดูกสันหลังคด ว่าลูกชอบบ่นว่า ปวดหลังกับปวดไหล่อยู่บ่อยๆ แต่แม่คิดว่าคงเกิดจากที่ลูกสะพายกระเป๋าไปโรงเรียนหนักเกินไป จนทำให้ลูกปวดหลัง ก็ไม่ไดรู้สึกผิดสังเกตอะไร จนกระทั่งเริ่มรู้สึกผิดปกติ เห็นช่วงสะบักแขนโค้งออกมา ไม่เรียบเหมือนปกติ
จึงพาน้องไปหาแพทย์ พบว่าลูกเป็นโรคกระดูกสันหลังคด และได้ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้องได้เข้ารับการผ่าตัด และมีคุณแม่คอยให้กำลังใจตลอดเวลา ทางเราขอเป็นกำลังใจให้น้องหายไวๆ และขอหยิบยกเรื่องราวดังกล่าวมาให้ความรู้กับคุณพ่อคุณแม่รักลูกของเรานะคะ
โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)
คือโรคที่ทำให้กระดูกสันหลังบิดเบี้ยวไปทางด้านข้าง ผิดรูปเสียสมดุล ทำให้ไม่สวยงาม หรือไม่น่ามอง ถ้าคดมากอาจทำให้เหนื่อยง่าย หรือมีอาการปวดหลัง กระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายเองค่ะ เราต้องทำการรักษา เพื่อไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น หรือ ทำให้กระดูกสันหลังตรงมากขึ้นค่ะ
วิธีสังเกตอาการโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก
1. แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
2. ระดับหัวไหล่หรือบ่า 2 ข้างไม่เท่ากัน สะบักหรือกระดูกที่เป็นคล้ายปีก มีการนูนตัวมากกว่าอีกด้าน
3. ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง
4. สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้นสูงกว่าอีกด้าน
5. กระดูกซี่โครงมีความสูงไม่เท่ากัน
6. ระดับเอวไม่เท่ากัน
7. สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงต่างจากอีกด้าน เช่น มีรอยบุ๋ม, มีขนขึ้น, สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม
8. ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
ขั้นตอนการรักษาของโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก
- กรณีเด็กมีมุมองศาคดไม่มาก
ทางแพทย์เฉพาะทางจะให้เด็ก รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด หรือบางคนอาจต้องใช้เสื้อเกราะ เพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่มากยิ่งขึ้นค่ะ
ในช่วงเวลาของการรักษา หากลูกมีอาการกระดูกสันหลังคดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีการเพิ่มของมุมองศา ขณะติดตามการรักษา อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัด เพื่อรักษาให้กระดูกไม่คดเพิ่มมากขึ้น หลังจากผ่าตัดเสร็จ ต้องใช้เวลาในการรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด จัดท่าขณะนอน การทรงท่า ออกกำลังกายในท่าที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเดิมที่สุดค่ะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลรักษาด้วยโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูก เพื่อทำการวินิจฉัยโรค และทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไปหรือละเลย เพราะอาจทำให้ลูกต้องใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ส่งผลเสียต่อลูกในอนาคตนะคะ