หลังจากที่คำว่า ไอคิว และ อีคิว (หรือในภาษาไทยว่า "เชาวน์ปัญญา" และ "เชาวน์อารมณ์" ตามลำดับ) ก้าวเข้ามาทำความคุ้นเคยกับเราๆท่านๆ พอมีคำว่า เอ็มคิว ก้าวเข้ามาอีกคำ ก็เลยดูจะคุ้นๆ ใช่ไหมคะ
เอ็มคิว หรือ Moral Quotient (MQ) หมายถึงระดับของจริยธรรมของคนเรา และคำว่าจริยธรรม ก็หมายถึงการที่บุคคลมีความสนใจ เห็นความสำคัญ และคำนึงถึงความถูกต้องว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดนั่นเอง
เอ็มคิวกับเจ้าตัวน้อย
อย่างที่รู้กันอยู่นะคะว่า เจ้าตัวเล็กวัย 1-3 ปีของเรานั้นน่ะ จะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจะตายไป แถมในวัยนี้ยังไม่รู้จักคำว่าของเขาของเรา ยังแบ่งปันกันไม่ใคร่จะได้ แล้วเรื่องจะพัฒนาเอ็มคิว หรือระดับจริยธรรมลงในหัวใจจะทำได้เหรอ
คำตอบที่ตามมาก็คือ ได้ค่ะ
การที่จะพัฒนาเอ็มคิวให้ลุกนั้น เราใช้คำว่าปูพื้นฐานเพื่อที่จะพัฒนากันต่อไปค่ะ เรียกว่าอยู่ในกระบวนการของการพัฒนาพื้นฐานอารมณ์เบื้องต้นเชียวล่ะ เพราะด้วยวัยขนาดนี้เรามานั่งบอกนั่งสอนกันว่า "หนูต้องเห็นใจคนอื่นนะ" หรือ "หนูต้องไม่เอาแต่ใจตัวเองนะ" ยังไม่ได้หรอกค่ะ ลูกไม่รู้ไม่เข้าใจหรอก แต่เจ้าตัวเล็กจะเรียนรู้ในเรื่องนี้ได้โดยตรงจากที่เรากระทำกับเขา หรือเขาเป็นผู้รับรู้การกระทำนั้นๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่อย่างเราจะทำให้กับลูกในช่วงวัยนี้ได้ ก็คือการเตรียมพร้อมให้ลูกรักนั่นเอง โดยอาศัยลักษณะที่ดี รัก เอาใจใส่ลูก เพื่อให้เขาพร้อมที่จะรับและพัฒนาในเรื่องจริยธรรมต่อไป เปรียบเหมือนการเตรียมดินที่ดี ที่เหมาะสม ไว้สำหรับปลูกต้นไม้ให้เจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่ดีและสวยงามต่อไป อย่างไรอย่างนั้นเลยค่ะ
การปูพื้นฐานพัฒนาการทางจริยธรรมให้เด้กวัย 1-3 ปี นี้ เราต้องทำกันในระดับที่เรียกว่า "จิตใต้สำนึก" ให้ฝังอยู่ในระดับลึกเลยล่ะ เพราะว่าถ้าไม่ปูพื้นฐานให้ลูกในตอนนี้แล้ว ไปทำทีหลังก็ยากแล้วล่ะค่ะ ส่วนเรื่องของจริยธรรมในระดับสามัญสำนึกหรือระดับจิตสำนึกนั้น ต้องรอให้ลูกอายุสัก 5-6 ขวบ เราถึงจะพัฒนาในด้านนี้ และลูกเริ่มเรียนรู้ในเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาได้เองค่ะ
"เอ็มคิว" จำเป็นไหม?
เคยมีคนถามว่า ถ้าหากเราไม่ปูพื้นฐานเรื่องเอ็มคิวกันเสียตั้งแต่ตอนช่วง 1-3 ปีนี้ จะไปสอนกันในตอนโตได้ไหม คำตอบก็คือได้เหมือนกันค่ะ แต่ว่าจะทำยากอยู่สักหน่อย และก็พัฒนาได้น้อยกว่าเด็กที่เตรียมเรื่องนี้ตั้งแต่เล็กๆ การปูพื้นฐานเรื่องเอ็มคิวก็เหมือนกับการลงเสาเข็มบ้าน ตัวบ้านที่ก่อสร้างขึ้นมาในภายหลังก็คือระดับจริยธรรมที่เราช่วยกันก่อร่าง พัฒนาขึ้นมา เมื่อฐานรากดี บ้านก็ย่อมสร้างได้ใหญ่โตและสูงหลายๆชั้นเป็นธรรมดา
ระดับจริยธรรมของลูกก็เช่นกันค่ะ ถ้าฐานไม่ดีก็สร้างและพัฒนาได้เพียงไม่มากนัก เมื่อถึงตอนนั้นแม้จะลงทุนมากขนาดไหน ทุ่มเทขนาดไหน ก็สร้างไม่ได้อย่างที่ใจอยากแล้วละ ยิ่งถ้าหากเป็นเด็กที่ไม่ได้รักการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ ใกล้ชิด ถูกทอดทิ้ง ถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีคนคอยดูแลตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นมาจะมีพฤติกรรมที่แปรปรวนได้ค่ะ
สรุปได้ว่าใน 3 ขวบปีแรกนี่ การเลี้ยงดูลูกแบบใกล้ชิดในเรื่องอารมณ์ พฤติกรรม เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก เพราะเป็นวัยที่มีการพัฒนาทางอารมณ์และจิตใจที่สำคัญและลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อเนื่องถึงพื้นฐานทางอารมณ์และบุคลิกภาพไปตลอดชีวิต เราซึ่งเป็นพ่อเป็นแม่งควรจะทุ่มเทในเรื่องความใกล้ชิดและให้เวลากับลูกให้ มากที่สุดค่ะ
ถึงตอนนี้ก็คงได้เวลาวางรากฐานทางจริยธรรมให้กับเจ้าตัวน้อยแสนรักของเราแล้วใช่ไหมคะ
...........................................
เริ่มก่อร่างสร้างเอ็มคิว
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจะปูพื้นฐานเอ็มคิวให้กับเจ้าตัวน้อยได้อย่างไรนะ
เรื่องนี้ไม่ยากเลย เพียงแค่สร้างสิ่งเหล่านี้ให้ลูกค่ะ....
ความไว้วางใจ
การไว้วางใจเป็นพื้นฐานของการมองโลกในแง่ดี เรื่องนี้จะพัฒนาได้ตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรกขึ้นไปค่ะ โดยการให้ความรัก ความอบอุ่น การดูแลอย่างใกล้ชิดแก่ลูก ตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้จิตใต้สำนึกของลูกรู้สึกว่า โลกนี้ และคนในโลกเป็นสิ่งที่ไว้ใจได้ ไม่ทอดทิ้งเข้า เวลาที่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะสามารถแก้ไขได้ในทางที่ดี ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญค่ะ
การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
การรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรานี้เป็นอีกพัฒนาการหนึ่งที่สำคัญสำหรับช่วง 3 ขวบปีแรกค่ะ เพราะจะทำให้ลูกของเรารู้จักเห็นใจคนอื่น ไม่ไปละเมิด ทำร้าย หรือทำให้คนอื่นเสียใจ และรู้จักเคารพในสิทธิของคนอื่นค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้มาจากการเลี้ยงดูที่เข้าอกเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของ ลูก นั่นคือ เราสามารถสังเกตเห็น รับรู้ได้ และแปลออกว่า ณ ขณะนั้นลูกของเรากำลังรู้สึกอย่างไร อารมณ์ไหน และปฏิบัติได้ถูกต้องตามอารมณ์ของลูกนั่นเอง
การเคารพสิทธิผู้อื่น
ในช่วงวัย 2-3 ขวบของลูก เขาจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มปฏิเสธ "ไม่" และจะสนใจแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ชอบต่อต้านเวลาที่รู้สึกว่าถูกบังคับ สำหรับในวัยนี้ ถ้าเราไปควบคุมบังคับลูกมากเกินไป ไม่ปล่อยให้เด็กได้เล่นได้พัฒนาไปตามวัยของเขา กลัวลูกเลอะเทอะเปรอะเปื้อน เดี๋ยวจะมีเชื้อโรค กลัวลูกล้มแล้วจะเจ็บ แล้วเราไปคอยห้าม คอยอุ้ม คอยจับไว้ตลอดเวลา จะทำให้ลูกไม่ได้รับความรู้สึกเคารพในความเป็นตัวของตัวเองรู้สึกว่าถูกขัด ขวาง ซึ่งจะส่งผลต่อไป ทำให้ลูกเราไม่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นค่ะ
ตรงกันข้าม ถ้าหากเราปล่อยตามใจลูกจนเกินไป ปล่อยให้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ให้ไปละเมิดผู้อื่นได้ เช่น ไปดึงผมเพื่อน ก้าวร้าวกับพ่อแม่ ตีพ่อแม่ หรือไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกาของบ้าน เช่น ถึงเวลากินไม่ยอมกิน อย่างนี้จะทำให้ลูกไม่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของคนอื่น ไม่เคารพในสิทธิของคนอื่น จะทำอะไรตามใจตัวเอง เมื่อโตขึ้นไปก็จะกลายเป็นเด็กที่ "ทุกสิ่งที่ฉันอยากจะทำฉันทำได้หมด ไม่ว่าจะไปละเมิดคนอื่นหรือไม่ แต่ใครจะมาละเมิดฉันไม่ได้" กลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไปในอนาคต
ในกรณีนี้ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ก็คือกำหนดขอบเขตเบื้องต้นให้กับลูก อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ในเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน โดยที่เราเป็นคนคอยควบคุมลูกให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เพราะว่าเขายังควบคุมตัวเองไม่ได้ ที่สำคัญเราต้องทำเป็นตัวอย่างให้กับลูกด้วยค่ะ
และเมื่อลูกยังทำตามไม่ได้ ก็ไม่ควรใช้เหตุผลที่ยืดยาวเข้าใจยากอธิบายให้ลูกฟัง ใช้เพียงเหตุผลง่ายๆ บอกให้ลูกรู้เพียงสั้นๆ แล้วลงมือปฏิบัติ จับลูกไว้ แยกออกไป หรือว่าเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น บอกลูกว่า ตีคุณแม่ไม่ได้นะ คุณแม่จะเจ็บ แล้วก็จับมือลูกไว้ เป็นต้น เป็นการปูพื้นฐานเรื่องการเรียนรู้ขอบเขตกฎเกณฑ์เบื้องต้น และเมื่อถึงวัยที่ลูกพร้อมทั้งร่างกายและสติปัญญา ลูกก็จะเข้าใจในเหตุผลมากขึ้นกว่าเดิมเองค่ะ
เรียนรู้จักอารมณ์
เรื่องการเรียนรู้จักอารมณ์ของตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอีคิวค่ะ และเนื่องจากอีคิวกับเอ็มคิวนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องและเกี่ยวก้อยมาด้วยกันเลย มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ การสอนให้เริ่มรู้จักกับอารมณ์ของตัวเองจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยสอนให้ลูกรู้จักแบบตรงๆเลยว่าในขณะนั้นๆ เขาจะมีอารมณ์อะไรอยู่ เขาเรียกกันว่าอารมณ์อะไร อย่างตอนที่เขาโกรธก็บอกกับเขาว่า ตอนนี้หนู้กำลังโกรธนะคะ อย่างนี้คือโกรธนะ เสียใจนะ ดีใจนะ ฯลฯ
การสอนลูกในเรื่องนี้ก็เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง พร้อมกันนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะเสนอแนะวิธีการ หรือทางออกที่จะจัดการกับอารมณ์นั้นๆ ให้กับลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย เช่น "ตอนนี้หนูกำลังโกรธ หนูจะขว้างปาข้าวของหรือตีคุณแม่อย่างนี้ไม่ได้นะคะ" แล้วก็แยกตัวออกมาให้เขาสงบจิตใจ พร้อมกันนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะแสดงออกถึงการจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสม ถูกต้องเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกเวลามีปัญหาด้วยนะคะ