รู้ทัน ไอพีดี
เมื่อไม่นานมานี้มีการนำวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดใหม่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคไอพีดี มาใช้ในประเทศไทย จึงทำให้โรคเก่าแก่อย่างไอพีดีถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง และเพราะความไม่คุ้นเคยกับโรคนี้ หลายๆ คนจึงคิดว่าไอพีดีเป็นโรคใหม่ บางรายถึงขั้นวิตกเลยทีเดียว
ไอพีดีคือโรคอะไร
โดยทั่วไปคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายเกือบจะไม่รู้จักไอพีดีมาก่อนเลย แม้แต่คุณหมอบางคนก็อาจรู้จักโรคนี้ในชื่อ "โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส" มากกว่าที่จะรู้จักด้วยชื่อย่อว่า "ไอพีดี"
"ไอพีดี" (IPD) มีชื่อเต็มๆ ว่า Invasive pneumococcal disease โดยมีชื่อเรียกภาษาไทยว่า "โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงหรือชนิดแพร่กระจาย" ซึ่งหมายถึง โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ "นิวโมคอคคัส" และเป็นชนิดที่มีความรุนแรง แบ่งเป็นสองกลุ่มโรคที่สำคัญคือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคทั้งสองอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการได้
โรคไอพีดีนี้ติดต่อได้โดยการรับเชื้อนิวโมคอคคัสเข้าทางระบบทางเดินหายใจ ผ่านการไอจามหรือหายใจรดกัน จากนั้นเชื้อจะเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือดและน้ำไขสันหลังในเวลาต่อมา
นอกจากกลุ่มโรคทั้งสองแล้วนี้ เชื้อนิวโมคอคคัสยังอาจทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจคือ โรคปอดอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคไซนัสอักเสบ แต่โดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่รุนแรงเท่าสองโรคแรก จึงไม่นับรวมเป็นไอพีดี
อาการของไอพีดี
อาการของผู้ป่วยไอพีดีมีความแตกต่างกันตามกลุ่มโรคที่เป็นครับ สำหรับผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมาด้วยอาการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมองจากเชื้อแบคทีเรียทั่วๆ ไปได้แก่ อาการไข้ ซึม คอแข็ง อาจมีอาการชักร่วมด้วย การวินิจฉัยโรคอาศัยการตรวจน้ำไขสันหลังและการเพาะเชื้อ
ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด มาด้วยอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อแบคทีเรียทั่วๆ ไปได้แก่ อาการไข้สูงและซึม การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยการตรวจนับเม็ดเลือด ซึ่งจะพบจำนวนของเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการตรวจยืนยันต้องอาศัยการเพาะเชื้อในเลือดซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
กลุ่มเสี่ยงไอพีดี
ไอพีดีมักพบในเด็กเล็กโดยเฉพาะในวัยสองขวบปีแรก เพราะภูมิคุ้มกันโรคของเด็กในช่วงวัยนี้ยังไม่แข็งแรงดีนัก สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ส่วนเรื่องของอากาศและฤดูกาลไม่น่าจะมีผลต่อการเกิดโรคนี้ครับ
ป้องกันไอพีดี
การรักษาไอพีดีต้องอาศัยยาต้านจุลชีพหรือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งควรรีบรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและเริ่มให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด ทันที ในระยะหลังพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสมักดื้อต่อยาต้านฆ่าเชื้อที่เคยใช้ได้ผลใน อดีต ทำให้ต้องเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดใหม่ ซึ่งอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
ปัจจุบันมีวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดใหม่ซึ่งใช้ป้องกันการเกิดไอพีดี โดยใช้ฉีดจำนวน 4 ครั้งเมื่อลูกอายุ 2, 4, 6 และ 12-18 เดือน วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัย แต่ยังมีราคาแพง พ่อแม่ผู้ปกครองควรพิจารณาความคุ้มค่าของวัคซีนโดยปรึกษาและขอข้อมูลจาก แพทย์ก่อนตัดสินใจ ส่วนวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดเดิมยังใช้ได้ผลดีในผู้ใหญ่และเด็กโต
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไอพีดีและทำได้ทันทีคือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรค โดยไม่พาลูกเล็กไปในที่ชุมชน เช่น พาไปห้างสรรพสินค้าหรือฝากลูกไว้ตามสถานรับเลี้ยงเด็กครับ
สถิติโรคไอพีดี
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีสถิติของไอพีดีที่ชัดเจนนัก แต่มีเพียงข้อมูลว่าเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุสำคัญของโรคเยื่อหุ้มสมอง อักเสบ คุณหมอหลายท่านเชื่อว่าประเทศไทยอาจพบไอพีดีน้อยกว่าในต่างประเทศ แต่ก็มีความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลระดับประเทศให้ถ่องแท้และยังต้องให้ความสำคัญกับ โรคนี้ด้วย
รู้หรือเปล่าว่า...
- ไอพีดีมีลักษณะใกล้เคียงกับโรคฮิบ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในสังคมมากกว่า แต่อาการของไอพีดีมักรุนแรงกว่าโรคฮิบ
- ไอพีดีเป็นโรคที่เพิ่งมีวัคซีนเข้ามาใช้ป้องกันในประเทศไทย และเข้ามาพร้อมๆ กับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า จึงอาจสร้างความสับสนให้กับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่เป็นคนละโรคกัน มีสาเหตุจากเชื้อที่แตกต่างกัน อาการของโรคก็ไม่เหมือนกัน และมีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคคนละชนิดกัน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาข้อมูลให้เข้าใจชัดเจนไว้เพื่อการตัดสินใจ