เด็กเล็ก 1- 3 ขวบกินโปรตีนมากเกินไป เสี่ยงเป็นคนอ้วน
โภชนาการเด็กเล็ก 1-3 ขวบ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตให้ลูกน้อยอย่างสมวัย แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะ ว่าถ้าหากลูกได้รับ “
โปรตีน” มากเกินไปในช่วงวัยนี้ ไตของลูกจะทำงานหนักและส่งผลให้ลูกมีโอกาสเติบโตเป็นคนอ้วน มากกว่าจะทำให้สูง และมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อ (non-communicated diseases, NCD) ในระยะยาวด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ หรือหากลูกได้รับโปรตีนน้อยเกินไปก็อาจส่งผลให้เป็นเด็กแคระแกร็นได้
แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ กุมารแพทย์และผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ได้อธิบายว่า พ่อแม่ต้องคำนึงให้มากในเรื่องการจัดเตรียมอาหารให้ลูกในวัยเด็กเล็ก 1-3 ขวบ เนื่องจากเด็กเล็กที่ได้รับโปรตีนมากเกินไป จะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน และโรคในกลุ่ม NCDs ในวัยผู้ใหญ่
ส่วนเรื่องความสูง แม้ว่าโปรตีนจะเป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย แต่ความสูงคือการเติบโตของกระดูก และโภชนาการสำคัญที่ส่งเสริมคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินดี สำหรับโปรตีนเป็นสารอาหารกลุ่มพลังงานที่ร่างกายเด็กในช่วงวัย 1-3 ขวบ ต้องการมาก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโตเร็วมากอีกช่วงหนึ่งของชีวิต
เด็กเล็กวัยนี้ต้องการพลังงานวันละ 1,000 กิโลแคลอรี สัดส่วนโปรตีนต่อวันไม่ควรเกินร้อยละ 15 ของพลังงานทั้งหมด หรือประมาณ 19 กรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเนื้อสัตว์ประมาณ 3 ช้อนกินข้าว สิ่งสำคัญคือ เด็กต้องได้รับโปรตีนทุกวันและควรเป็นโปรตีนที่ดีมีคุณภาพในปริมาณเหมาะสม
หากกินโปรตีนมากเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของไตในการกำจัดของเสียที่เกิดจากการได้รับโปรตีนมากเกิน หากขาดโปรตีนต่อเนื่อง ก็จะมีผลกระทบต่อการเติบโต อาจทำให้มีภาวะแคระแกร็น และเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น ควรเลือกโปรตีนคุณภาพดี เพื่อลดปริมาณรวมของโปรตีนที่ได้รับ
แหล่งโปรตีนคุณภาพดีสำหรับเด็กเล็ก นอกเหนือจากเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ยังมีนมและผลิตภัณฑ์นมรวมอยู่ด้วย เนื่องจากนมเป็นอาหารในมื้อเสริมของเด็กเล็ก การกินนมวันละ 2-3 แก้ว/กล่อง จะช่วยเติมเต็มโภชนาการที่เด็กได้รับไม่ครบถ้วน
ดังนั้น ควรจัดโภชนาการต่าง ๆ ให้เพียงพอและสมดุล ซึ่งเด็กเล็กควรกินไข่วันละฟองและดื่มนมทุกวัน กินปลา หมู ไก่ สลับกันไป หรือกินเต้าหู้ทดแทนเนื้อสัตว์ในบางมื้อ คุณแม่ควรจัดอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงให้ลูกกินด้วย เช่น ตับ เลือด ไข่แดง รวมทั้งผักใบเขียวเข้มสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันภาวะซีดจากโลหิตจาง
เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เรื่องต้องรู้! สำหรับโภชนาการหนูๆ วัย 1-3 ขวบ
เด็กไทย อ้วน เตี้ย ผอม เกินเกณฑ์ เพราะภาวะทุพโภชนาการ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
www.thairath.co.th