รับมือเด็กป่วยบ่อยยามเดินทาง
การพาลูกเล็กออกไปเที่ยวนอกบ้าน ถ้าระหว่างทางมีอาการเจ็บป่วย ถ้าทริปนั้นไม่ล่มก็คงหมดสนุกกันแน่ๆ เพราะฉะนั้นเรามาหาวิธีรับมืออาการป่วยเหล่านั้นกันดีกว่าค่ะ
1. เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
ถ้าลูกโดยสารรถ เรือ หรือเครื่องบินเป็นครั้งแรก ลูกอาจเกิดอาการวิงเวียน แล้วตามมาด้วยการอาเจียน ลำดับแรกควรเลือกตำแหน่งริมหน้าต่าง หรือด้านหน้าสุด เพื่อให้ลูกมองเห็นวิวข้างนอกได้ โดยเฉพาะการนั่งรถ การนั่งหน้าสุดจะสั่นสะเทือนน้อยกว่าการนั่งข้างหลัง
ระหว่างเดินทางอาจจะชวนลูกคุยหรือทำกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่น ร้องเพลง งดกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาเพ่งมอง หรือไม่ก็ให้ลูกนอนหลับไปเลย แต่หากลูกเคยมีอาการเมามากมาก่อน และวิธีดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ผล การยากินแก้เมาช่วยได้ (Dimenhydrinate โดยเด็ก 2-5 ปี กินครั้งละ 12.5-25 มิลลิกรัม เด็ก 6-12 ปี กินครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม) หรือจะใช้กลุ่มยาลดน้ำมูก ที่มีฤทธิ์ง่วงนอนให้ลูกกินในขนาดที่กินตามปกติก็ได้ค่ะ
2. ผื่นแพ้ ผื่นผด ผื่นคัน
เป็นสิ่งที่เจอได้บ่อยเช่นกัน เวลาที่ลูกมีผื่นขึ้นควรสังเกตว่าลูกมีอาการผิดปกติอื่น เช่น ตาบวม รอบปากบวม หายใจหอบ เหนื่อย ปวดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีอาการร่วมด้วยควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลใกล้ๆ เพราะเป็นอาการประเภทผื่นแพ้ลูกมีโอกาสช็อกได้ แต่ถ้าไม่มีอาการดังกล่าว สามารถดูแลเบื้องต้นก่อนได้ เช่น ใช้น้ำเย็นประคบลดอาการคัน ทายาลดอาการผดผื่น กินยาลดอาการคันหรืออาการผดผื่น เป็นต้น
3. ท้องผูก
ช่วงเดินทางท่องเที่ยวจะจำกัดด้วยเวลาที่ต้องเร่งรีบ หรือไม่สะดวกที่จะเข้าห้องน้ำทำให้เด็กบางคนท้องผูกได้ ดังนั้นควรให้ลูกเข้าห้องน้ำเหมือนตอนอยู่บ้าน หรือต้องเตรียมตัวลูก เช่น ตื่นเช้าเข้าห้องน้ำก่อนออกเดินทาง หรือเข้าห้องน้ำช่วงที่เสร็จสิ้นการเดินทางในวันนั้น ระหว่างนี้ควรให้ลูกได้กินอาหารที่มีกากใยมากๆ หากลูกยังไม่ยอมถ่ายร่วมกับท้องอืดอาจใช้ยาระบายอ่อนๆ สำหรับเด็กก็ได้
4. ท้องเสียและอาเจียน
ระหว่างการเดินทางบางครั้งลูกอาจกินอาหารผิดสำแดงได้ โดยมากอาการเหล่านี้จะเป็นหนักใน 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะทุเลาลง ไม่ควรใช้ยาระงับการถ่าย เพราะจะทำให้สิ่งที่เป็นพิษยังอยู่ในร่างกายลูกนานขึ้น แต่สามารถใช้ยาลดอาการอาเจียนได้
หากลูกมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะขาดน้ำ ดังนั้นในช่วงที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควรให้ลูกกินน้ำหรือของเหลวในปริมาณที่เพียงพอ โดยการซื้อผงเกลือแร่สำเร็จรูปชงให้ลูกกินทดแทน หากหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว ลูกยังถ่ายหรืออาเจียนเยอะอยู่ หรือถ่ายมีมูกเลือดปน ปัสสาวะไม่ออกภายใน 6 ชั่วโมง ดูซึมลง หายใจหอบ ตาโหลลึกมากกว่าปกติ หรือกินน้ำเกลือแร่ไม่ได้เลย ควรรีบพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
5. ตัวร้อนหรือเป็นหวัด
หากลูกมีแนวโน้มป่วยง่ายอยู่แล้ว พ่อแม่อาจต้องเตรียมตัวเยอะหน่อย พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปรวมกลุ่มกับคนอื่นในที่แออัด หาหมวกหรือร่มให้ลูกใส่หากต้องอยู่กลางแดดนานๆ ถ้าลูกเริ่มมีอาการตัวร้อน ควรหาที่พักระบายอากาศดี แล้วเช็ดตัวลดความร้อน ให้ลูกดื่มน้ำสะอาดมากๆ ถ้ายังไม่ดีขึ้นสามารถใช้ยาลดไข้ Paracetamol ทุก 4-6 ชั่วโมง และลดการท่องเที่ยวลง แต่ให้ลูกให้พักผ่อนเยอะขึ้น ถ้าลูกมีน้ำมูกมาก สามารถใช้ลูกยางดูดน้ำมูกหรือไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาด เช็ดโพรงจมูกให้ลูกเบาๆ ได้ ถ้ายังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ก็ควรไปพบแพทย์
6. ปวดหูระหว่างนั่งเครื่องบิน
หากลูกยังเล็กบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร ในช่วงจังหวะเครื่องขึ้นและลง จะมีการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบตัว พ่อแม่ควรใช้นิ้วมืออุดรูหูลูกให้สนิทก่อน เมื่อเครื่องได้ระดับคงที่แล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยมือออก หากลูกไม่รู้สึกดีขึ้นให้ลูกกินน้ำหรือกินนม เพื่อจะได้มีการขยับหู ให้ปรับระดับความดันระหว่างด้านในและด้านนอกหู หากลูกเป็นเด็กโตที่สามารถทำตามคำสั่งได้ อาจใช้การกินน้ำหรือให้ขยับกรามไปมาซ้าย-ขวา หรือใช้วิธีบีบจมูกแล้วให้ลูกทำท่าเป่าลูกโป่งแรงๆ ก็จะช่วยปรับความดันด้านในและด้านนอกหูให้เท่ากันได้
7. แมลงสัตว์กัดต่อย
เมื่อโดนสัตว์กัดต่อย สิ่งที่ต้องระวังคือลูกแพ้สัตว์นั้นหรือไม่ ถ้าแพ้ลูกจะมีอาการเหมือนคนเป็นผื่นแพ้ ต้องไปโรงพยาบาลทันที ระหว่างไปสามารถให้ลูกกินยาแก้แพ้ก่อนได้ หากลูกโดนมด แมลง ผึ้ง ต่อต่อย สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นมาประคบเพื่อลดการปวดบวม แล้วกินยาแก้ปวดหรือยาแก้แพ้ตามอาการ แต่ถ้าไปทะเลโดนแมงกะพรุน ลูกจะมีอาการปวดแสบ มีผื่นบวมแดงบริเวณที่โดน ให้ล้างพิษด้วยน้ำทะเลมากๆ แล้วทาโลชั่น หรือให้ค่อยๆ ล้างด้วยน้ำส้มสายชูค่ะ