"การเลี้ยงลูกต้องนำศาสตร์ของการบริหารมาใช้ ทั้งการบริหารแบบด้านอ่อนและด้านแข็งให้สมดุลกันหลักคิดเลี้ยงลูก"
ถ้าพูดถึงเรื่องการเลี้ยงลูก สำหรับตัวผมแล้ว ผมได้แนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกแบบคร่าวๆ ผ่านคำถามสำคัญๆ ดังนี้ครับ
รักใครเป็นหรือยัง? : ก่อนจะออกไปรักใคร ผมขอถามตรงๆว่า “เรารักใครเป็นหรือยัง” แน่ใจนะที่บอกว่า “ฉันรักลูก” ไม่ใช่ เป็นการรักตนเอง!!! เคยรักใครแบบไม่มีเงื่อนไขหรือยัง รักแบบไม่คาดหวัง รักแบบไม่ต้องมาตอบบุญคุณในภายหลังก็ได้
ควบคุมตนเองได้หรือเปล่า? : ในการเลี้ยงดูเด็กแต่ละคนขึ้นมาเพราะหากยังควบคุมตนเองไม่ได้ ยังมีจี๊ดๆ ปรี๊ดๆ วีนๆ เหวี่ยงๆ ผมว่ามันน่ากลัวมากเลยนะครับ ลูกๆหลานของเรา ก็จะได้มรดกด้านอารมณ์ร้ายๆของเราไปด้วยและสืบทอดลงไปถึงอีกหลายชั่วอายุคน
รู้จักกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องหรือยัง? : การเรียนรู้วิธีเรียนรู้(Learn how to learn) เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เทคนิคของการเป็น “กระบวนกร” หรือ ฟา (มาจากคำว่า Facilitator) โดยฟาคือ การเรียนการสอนแบบทุกคนมีส่วนร่วม และเรื่องของ “ฟา” นี้ เป็นอะไรที่ต้องฝึกฝน ไม่ใช่แค่อ่านหรือเข้าอบรมไม่กี่วัน ก็ออกมาโม้ว่าเข้าใจแล้ว ไม่ได้เลยนะครับ
เข้าใจเรื่องของการบริหารด้านอ่อน (Soft Side Management) หรือยัง? : เพราะการบริหารด้านอ่อนนี้ สามารถใช้ในการเลี้ยงลูก พัฒนาลูกน้อง บริหารกิจกรรม บริหารธุรกิจ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคนที่เป็นผู้ปกครอง ที่ทำงาน ในองค์กร หน่วยงาน ที่เต็มไปด้วยด้านแข็ง (Hard Side Management) มีแนวโน้มและโอกาสที่จะสร้างปม สร้างปัญหาให้กับลูกหลาน เพื่อนร่วมงานและลูกน้อง
การบริหารสมัยใหม่เน้นความสมดุลทั้งด้านอ่อนและด้านแข็งโดยด้านอ่อน ได้แก่ ด้านเกี่ยวกับจิตใจ จิตวิทยาการทำงาน การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างพลังชีวิต การควบคุมอารมณ์ เน้นกระบวนการ เป็นต้น ในขณะที่ด้านแข็งจะเต็มไปด้วยเนื้อหา วิชาการ ตัวเลข เน้นผลลัพธ์ เป็นต้น
ผู้บริหารที่มาจากองค์กรที่เน้นแต่ด้านแข็ง จะเห็นได้ง่ายๆว่า คาดหวังสูง กดดันเก่ง เน้นผลระยะสั้น เน้นอบรมแต่ไม่เข้าใจเรื่องพัฒนา ไม่เข้าใจเรื่องการ“บ่มเพาะ”ผู้คน ซึ่งนอกจากจะบริหารองค์กรได้ไม่เอาไหนแล้วยังบกพร่องในการเลี้ยงลูกอีกด้วย
รู้จักการทำงานเป็นทีม? : การจะเป็นพ่อแม่คนต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีม การทำงานในที่นี้ คือ การช่วยกันเลี้ยงลูก การประสานงานกันกับคู่ครองของตนเอง ญาติผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ
รับมือปมร้ายในใจ? : เรียนรู้เรื่อง “ปมร้ายในใจ” ของตนเอง และหาทางกำจัดปมร้ายในใจนั้นๆออกไป ซึ่ง คนเป็นพ่อแม่ ต้อง “มองเห็น” ตนเอง ควรมีโค้ชหรือฟาที่ดี คอยเป็น “กระจกเงา” ช่วยสะท้อน (Reflection / Feedback) ให้เห็นสิ่งดำๆในใจของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องลบๆ ดำๆ พวกนี้ “ปนเปื้อน” ไปยังลูกหลานและเป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นต่อๆไป
แชร์วิสัยทัศน์กับคู่ชีวิต? : ตั้งแต่แต่งงานกันมาเคยคุยกับคู่ครองของตนเองเรื่องวิสัยทัศน์หรือยัง ทั้งคู่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันไหม ลองดูนะครับ ลองเปิดดูทั้งสองคน และพูดออกมาให้อีกคนหนึ่งฟังว่า ยามแก่เฒ่า เราสองคนเห็นภาพของอะไร ทั้งสองคนทำอะไร ลูกๆหลานทำอะไร
เมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันชัดเจนแล้ว ก็ค่อยๆ กำหนดนโยบายหรือกติการ่วมกัน (Ground Rules) กำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะเดินทางร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน ยังไง ใช้อะไรเป็นคุณค่าหลัก (Core Values) หรือจะเรียกว่า ค่านิยมหลัก ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือ พฤติกรรมหลักอะไร เช่น กตัญญู ซื่อสัตย์ อดทน เป็นต้น
ท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจจะร้องว่า “บ้าไปแล้ว”ครอบครัวไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่บริษัท ทำไมเอาเรื่องการบริหารแบบนี้มาสอนในรักลูก
ผมก็บอกเลยว่า ศาสตร์พวกนี้มันไม่ได้จำกัดในการบริหารกิจกรรมใดๆ มันสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกกิจกรรม และก็เพราะพวกเราไม่ใส่ใจเรียนรู้ การบริหารแบบด้านอ่อนและด้านแข็งที่สมดุลกัน เราก็พังทั้งเรื่องที่บ้านและที่บริษัท !!!
ผมเห็นพ่อแม่เก่งๆ หลายคนที่ทำบริษัทพังมาแล้ว คือเก่งในตอนต้นๆอายุของบริษัท แต่พอขยายบริษัท หาคนเพิ่ม โดนคู่แข่งโจมตี ลูกหลานขึ้นมาบริหาร ฯลฯ ก็ไปไม่รอด เพราะ “แข็ง” เกินไป อวดเก่งเกินไป และที่สำคัญคือสร้างคนไม่เป็น
ผมเชื่อว่าผู้บริหารที่สร้างคนไม่เป็น ก็ย่อมเลี้ยงลูกไม่เป็นได้ คนพวกนี้สร้างคนที่เต็มไปด้วยความเครียด งกๆเค็มๆ เห็นแก่ตัว มองโลกแง่ลบ ไม่เห็นว่าตนเองเป็นส่วนเดียวกันกับธรรมชาติ ฯลฯ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจบ้านเราค่อยๆโดนต่างชาติฮุบไปทุกปี การศึกษาตกต่ำ คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ป่าไม้ลดลง โลกร้อนขึ้น เมืองใหญ่สกปรก อากาศเสียและไม่ค่อยจะมีคน “จุดตะเกียงดีกว่าด่าความมืด” สักเท่าไร อารมณ์เสียง่าย เอะอะก็ทะเลาะกัน เป็นต้น
ในฉบับต่อๆไป ผมจะค่อยๆขยายความและชี้ทางออกให้ทีละข้อนะครับ