อุบัติเหตุจากการลื่นล้ม
ลูกน้อยกับอุบัติเหตุเป็นของคู่กันจริงๆค่ะ ทั้งลื่นล้ม เข่าถลอก หัวฟาด หน้าผากช้ำ คิ้วแตก ฯลฯ เรื่องเจ็บตัวทั้งนั้น แต่ที่ดูจะต้องระวังมากที่สุดเห็นจะเป็นอุบัติเหตุจากการ “ลื่นล้ม” เพราะจะมีอาการตั้งแต่ฟกช้ำธรรมดาไปจนถึงขั้นรุนแรง เช่น กระดูกหัก กระดูกร้าว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถทำให้คุณแม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากอีกด้วย
การลื่นล้มของลูกน้อยมักทำให้ลูกเจ็บตัวอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่เคยเข็ดหรือจำเลยสักหน คุณแม่หลายท่านที่มีลูกวัยนี้ต้องทำใจหน่อยนะคะ เพราะการที่ลูกน้อยเจ็บตัวหรือไม่สบาย ร่างกายเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ คุณแม่ก็มักจะเป็นกังวลเป็นธรรมดา
อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยจากการลื่นล้ม
นิ้ว มือ แขน ขา จะมีอาการปวด บวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก คุณแม่อาจสังเกตอาการได้จากการเคลื่อนไหวของลูกที่ไม่สะดวก เช่น เดินกะเผลก ขยับข้อมือแล้วเจ็บ อาการทั่วไปเหล่านี้มีตั้งแต่อาการเจ็บปวดน้อยไปจนถึงเจ็บปวดมาก ทั้งนี้ในบางรายไม่มีบาดแผลให้เห็นภายนอก แต่มีอาการภายใน เช่น ปวดหัว มึนงง ง่วงซึม ทรงตัวไม่ได้ บางทีอาการเหล่านี้ลูกน้อยเป็นแต่เขาพูดไม่ถูก บอกไม่เป็นก็มีค่ะ คุณแม่ต้องคอยถามอาการและดูแลเขา
อาการรุนแรงจากการลื่นล้ม
หัวฟาดพื้น หัวแตก เลือดคลั่งในสมอง กระดูกหัก กระดูกร้าว ฯลฯ ควรรีบพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ อาการแบบนี้จะเจ็บปวดมากหรือน้อยก็ขึ้นกับอายุของเด็กด้วย โดยสาเหตุหลักๆอาจเกิดจากการเล่นกันของเด็กๆโดยไม่ระมัดระวัง และผู้ปกครองละเลยปล่อยให้เล่นกันตามลำพัง แต่รู้ไหมคะ อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะในบ้านและบริเวณโดยรอบ คุณแม่ไม่ควรชะล่าใจค่ะ
วิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม
- คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกวัยนี้อยู่คนเดียวตามลำพัง
- ไม่ควรให้ลูกวัยนี้เข้าห้องน้ำคนเดียว เพราะเป็นวัยกำลังซุกซน อาจลื่นล้มในห้องน้ำได้
- พื้นที่ปูในบ้านหรือบริเวณโดยรอบ เช่น ห้องน้ำ ระเบียงบ้าน ชานนอกบ้าน ไม่ควรปูด้วยกระเบื้องที่เคลือบเงาหรือลื่นง่าย
เพราะหากพื้นเปียกน้ำ เมื่อเหยียบหรือเดินจะไม่มีที่ยึดติด ทำให้ลื่นล้มได้ง่าย แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการวางเทปกันลื่น หรือพรมเช็ดเท้า
- บริเวณบันได ไม่ควรให้ลูกไปเล่น ไม่ว่าจะนั่งแถวบริเวณบันไดหรือห้อยโหนตัว เพราะอาจเกิดอันตรายที่เราคาดไม่ถึงได้
จากการเล่นที่พิเรนทร์ของลูกน้อย ฯลฯ
- คุณแม่ควรให้ลูกดื่มนมที่มีแคลเซียม และวิตามิน พร้อมกับกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เพื่อช่วยให้เขาแข็งแรงและมีภูมิต้านทานที่ดี
ดังนั้นทางที่ดีคุณแม่ควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิด คอยสอนให้เขารู้ว่าสิ่งไหนเล่นได้ สิ่งไหนไม่ควรเล่น สอนให้รู้ถึงอันตรายของการเล่น
จริงอยู่นะคะที่ว่าเขายังเล็กเกินไปไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แต่คุณแม่ก็ยังสามารถค่อยๆสอนค่อยๆปลูกฝังเขาได้นะคะ
อย่างน้อยก็ช่วยลดอุบัติเหตุของการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของลูกไปได้มากเลยล่ะค่ะ