เด็กทุกคนมีพัฒนาการด้านร่างกายที่เหมือนกันหมดคือ จะมีการพัฒจากส่วนบนไปสู่ส่วนล่าง (ศีรษะ-ขา) โดยใช้การ "การเคลื่อนไหว" ร่างกายส่วนต่างๆ ในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ หนูน้อยชันคอได้ก่อน แล้วจึงไปสู่การคว่ำ นั่ง คลาน ยืน เดิน ฯลฯ ซึ่งทุกขั้นตอนของพัฒนาการดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่จะทำให้ร่างการเกิดความสมดุลและแข็งแรงในอนาคต เรามาสังเกตลูกน้อยของเราหน่อยค่ะว่า ในแต่ละช่วงของการเคลื่อนไหวร่างกายของลูกนั้นเป็นอย่างไร และจะส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างไร
ชันคอ แข็งแรง
ในช่วงที่เป็นวัยทารกเวลาที่แม่อุ้ม ลูกน้อยจะทำท่าเหมือนกับพยายามจะยกศีรษะ และความพยายามนี้ก็ยังคงมีต่อไปทุกครั้ง จนเมื่อถึงวัย 3 เดือน เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำหนูน้อยจะชันคอได้หลายนาทีเชียวค่ะ
เสริมพัฒนาการลูกได้ไม่ยาก
สิ่งที่คุณแม่จะสามารถช่วยให้ลูกคอแข็งเร็วขึ้นก็คือ เมื่อลูกอยู่ในท่านอนหงายจับมือทั้ง 2 ข้างของลูกน้อย ดึงตัวเบาๆ ให้ลูกลุกขึ้น จะเห็นว่าลูกจะเกร็งคอลุกขึ้นตามแรงดึง วิธีนี้เป็นการช่วยเจ้าหนูบริหารคอให้แข็งแรงค่ะ หรือจะลองหาของเล่นที่ลูกชอบและมีเสียงกระตุ้นให้ลูกน้อยพยายามผงกศีรษะพร้อมทั้งเอื้อมมือมาไขว่คว้า
คว่ำ ได้แล้วนะ
เผลอแป๊บเดียวลูกน้อยก็คว่ำได้แล้วเวลานอนหงายก็จะเปลี่ยนมาเป็นท่านอนคว่ำ และคว่ำได้เองซะด้วย การที่หนูน้อยพลิกตัวคว่ำหงายนั้น เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อหน้าท้อง รวมถึงการควบคุมกล้ามเนื้อลำตัวและหลัง การคว่ำก็เป็นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งค่ะ และยังเป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานสัมพันธ์กันอีกด้วย โดยส่วนใหญ่หนูน้อยวัย 4 เดือนก็สามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้เองแล้ว
เสริมพัฒนาการลูกได้ไม่ยาก
ที่นอนของลูกควรมีลักษณะค่อนข้างแข็งนะคะเพราะจะช่วยให้ลูกคว่ำได้ดีกว่าที่นอนนุ่มๆ ที่เวลานอนแล้วจะเป็นแอ่งบุ๋มลงไป อีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ของลูกก็คือเวลาที่ลูกนอนหงายให้หาของเล่นมาหลอกล่อข้างตัวลูก เพื่อให้ลูกฝึกพลิกตัวคว่ำ พอลูกคว่ำก็เอาของเล่นที่น่าสนใจชิ้นอื่นๆ มาหลอกล่อให้ลูกเอื้อมแขนออกไปไขว่คว้า
หนูนั่งหลังตรง
การนั่งของลูกน้อยมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ เริ่มตั้งแต่การที่คุณแม่จับลูกนั่งอยู่บนตัก จับนั่งพิงกับหมอน พออายุ 6-7 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มนั่งได้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นช่วงที่การทรงตัวของลูกดีพอสมควร หลังที่โค้งงอจะค่อยๆ เหยียดตรง เวลาคุณแม่ดึงมือให้ลุกขึ้นหลังก็จะเหยียดตรงได้ การทรงตัวและหลังที่เหยียดตรงแสดงให้เห็นว่าลูกควบคุมกล้ามเนื้อหลังได้ดีแล้ว การควบคุมกล้ามเนื้อหลังจะสมบูรณ์ที่สุดเมื่อลูกนั่งได้โดยไม่ต้องมีอะไรมาช่วย
เสริมพัฒนาการลูกได้ไม่ยาก
คุณแม่ช่วยอุ้มลูกนั่งบ่อยๆ นะคะ แรกๆ ก็อาจจะหาหมอนที่ไม่นิ่มมากมาวางกั้นไว้ข้างๆ เพื่อคอยช่วยรับน้ำหนักตัวลูก ยังไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งอยู่คนเดียว
คลานคล่องแคล่ว
เมื่อลูกน้อยคว่ำได้คล่องการเคลื่อนไหวตัวไปข้างหน้าที่เราเรียกว่าการคลานจึงเกิดขึ้น การคลานเป็นการช่วยให้ลูกน้อยได้ออกกำลังกายและพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ในส่วนของกล้ามเนื้อแขน ลำตัว ขา และเรียนรู้เรื่องการทรงตัวอีกด้วยค่ะ แต่หนูน้อยบางคนก็จะใช้วิธีการคืบ ส่วนใหญ่ 6-7 เดือนลูกก็จะคลานได้แล้วค่ะ
เสริมพัฒนาการลูกได้ไม่ยาก
หาของเล่นมาวางล่อตรงหน้า ไม่ไกลมากเพื่อหลอกล่อให้หนูน้อยคลานไปหยิบ เด็กบางคนที่ยังไม่ยอมคลานอาจเป็นเพราะว่ามีแต่คนอุ้มตลอดเวลาหรือไม่ค่อยได้ปล่อยให้ลูกได้สัมผัสพื้น การหลอกล่อให้ลูกคลานมาหยิบของเล่นข้างหน้า หรือคลานข้ามสิ่งกีดขวางอย่างหมอนข้างใบเล็กก็จะช่วยให้ลูกคลานได้คล่องขึ้นค่ะ แต่ก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัย เช่น พื้นที่ที่ต่างระดับ บันได เป็นต้น
ยืนตั้งไข่
เมื่อถึงวัย 8-9 เดือนลูกน้อยสามารถยืนได้แล้วค่ะ แต่เป็นการยืนที่ต้องใช้มือช่วยเกาะเพื่อยันตัวเองขึ้นและเพื่อไม่ให้ล้ม ในช่วงแรกๆ แม้หนูน้อยจะสามารถพยุงตัวขึ้นยืนได้เอง แต่ยังลำบากเวลาจะนั่งเพราะหนูยังไม่รู้วิธีหย่อนตัวลง อาจหงายหลังหกคะเมนได้ค่ะ
เสริมพัฒนาการลูกได้ไม่ยาก
เพื่อให้กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการยืนของลูกแข็งแรงขึ้น คุณแม่จับมือลูกแล้วดึงให้ลูกลุกขึ้นยืน หรือหาเครื่องเรือนที่มั่นคงหรือใช้ตัวคุณพ่อคุณแม่เองเป็นหลักให้ลูกพยุงตัวเองขึ้นยืน หมั่นทำและเชียร์ให้ลูกทำบ่อยๆ ไม่นานลูกก็ขยับเท้าก้าวเดินได้แล้วล่ะ
เดินได้คล่อง
เมื่อยืนได้แล้วหนูน้อยจะพยายามทรงตัวและจับสิ่งของในบ้านอย่างเก้าอี้หรือข้าวของในบ้านเพื่อเกาะเดิน วัย 11-12 เดือน การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถทำได้เหมือนกับผู้ใหญ่ แรกๆ อาจจะต้องใช้การเกาะจับสิ่งของโดยใช้มือทั้งสองจับ และใช้มือเดียวจับ จนหนูน้อยจะเริ่มเดินได้เองแล้ว บางครั้งอาจจะล้มบ้างก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะช่วงแรกๆ การถ่วงน้ำหนักและความสมดุลของร่างกายยังไม่ค่อยดีนัก ฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะดีเองค่ะ
เสริมพัฒนาการลูกได้ไม่ยาก
คุณแม่ช่วยให้ลูกเดินได้คล่องขึ้นโดยจับมือลูกเดินไปด้วยกัน หรือถ้าลูกเดินได้คล่องแล้วลองหาของเล่นประเภทลากจูงให้ลูกสนุกกับการเดินไปเรื่อยๆ