สาเหตุและการดูแลที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.สวนุช บุญญาสุวัฒน์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตและทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์
ตัวเล็กๆ อย่างหนู ก็เป็นความดันโลหิตสูงได้นะ
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เรามักได้ยินว่าเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว ลูกน้อยของเรา ก็อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกันนะคะ
Q. ความดันโลหิตสูงเกิดกับเด็กๆ ได้ไหมคะ
A. ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกวัย โดยในเด็กทั่วๆ ไปจะพบโรคนี้ได้ประมาณ 10-20% พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่มักจะหาสาเหตุไม่ได้ แต่ถ้าเป็นในวัยเด็กจะมีสาเหตุเฉพาะค่ะ
Q. สาเหตุเฉพาะที่เกิดในเด็กคืออะไร
A. ในเด็กเล็ก (อายุ 0-5 ปี) มักมีสาเหตุมาจาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด แต่ถ้าเป็นเด็กโต (อายุ 5 ปีขึ้นไป) จะมีสาเหตุมาจากภาวะไตอักเสบและโรคอ้วน
Q. แล้วปัจจัยเสี่ยงที่เกิดในเด็กคืออะไร
A. สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย คือ
- ปัจจัยภายนอกมาจากโรคที่ป่วย เช่น โรคไตอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจ หรือคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งและต้องได้รับยาซึ่งอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ได้ รวมทั้งจากโรคอ้วน
- ปัจจัยภายใน เกิดจากพันธุกรรม โดยมีคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงถึง 50% หรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิด เช่น มีช่องทางเดินปัสสาวะบวม ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าเป็นเด็กทั่วไปๆ ที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ก็จะพบโรคความดันโลหิตสูงได้น้อยค่ะ
Q. เวลาที่พาลูกน้อยมาตรวจสุขภาพ ควรวัดความดันโลหิตด้วยหรือไม่
A. สมาคมกุมารแพทย์ของไทยแนะนำว่าเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปที่มาฉีดวัคซีน ควรเช็กความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ในประเทศญี่ปุ่นจะให้เด็กๆ วัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะตั้งแต่อายุ 1 ปี
ถ้าหากเด็กที่ป่วยมาด้วยโรคทางไต หรือโรคทางต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจ หรือมีไข้ขึ้นสูง ก็จะเช็กความดันโลหิตทุกครั้งที่เด็กมาตรวจ เพราะการวัดความดันโลหิตให้เด็ก เด็กจะไม่รู้สึกเจ็บ โดยจะมีสายวัดที่เป็นขนาดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งขนาดของที่วัดความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นตามความกว้างของแขนเด็กค่ะ
Q. ค่าความดันโลหิตของเด็กกับผู้ใหญ่เหมือนหรือแตกต่างกันคะ
A. แตกต่างกันค่ะ โดยค่าความดันโลหิตของเด็กจะต้องขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ความสูง แต่สามารถวัดคร่าวๆ โดยคำนวณจากตัวเลข 100 + (อายุเด็ก/ปี x 2) เช่น เด็กอายุ 2 ขวบสามารถคำนวณค่าความดันได้ดังนี้
100 + (2x2) = 104 ถ้าลูกวัดความดันโลหิตแล้วค่าความดัน (ตัวที่มีค่าสูง) มีค่าเกินกว่า 104 มิลลิเมตรปรอท แสดงว่าเด็กคนนี้มีความดันโลหิตสูงค่ะ
Q. ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกควรจะตรวจความดันโลหิตเลยหรือไม่
A. เนื่องจากโรคความดันโลหิตสามารถเป็นได้จากพันธุกรรม 50% ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็น ลูกก็ควรมาวัดความดันโลหิตด้วยค่ะ เพราะทั้งอาหาร การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมมีผลให้เกิดความดันโลหิตได้ เนื่องจากเด็กกับคุณพ่อคุณแม่จะมีแนวโน้มที่จะกินอาหารในรูปแบบคล้ายๆ กัน ซึ่งมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
Q. อารมณ์ของเด็กในแต่ละช่วงมีผลกับค่าความดันโลหิตไหมคะ
A. มีผลค่ะ เพราะหากเด็กกำลังร้องไห้ หวาดกลัว หรือตื่นเต้น ความดันโลหิตก็จะสูงตาม ดังนั้น เวลาที่มาวัดความดันของลูก ควรให้ลูกอยู่ในภาวะสงบ อาจต้องรอให้เด็กได้หลับก่อนหรือวัดความดันในช่วงที่เด็กกำลังกินนม เพราะจะเป็นช่วงที่ผ่อนคลาย
Q. ถ้าลูกมีโอกาสเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงควรดูแลอย่างไร
A. ควรมาพบแพทย์ กินยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง และควรปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น ไม่กินอาหารที่มีรสเค็ม หรือมีโซเดียมสูง เพราะอาหารที่มีโซเดียมสูงจะส่งผลให้เป็นโรคอ้วนได้ ซึ่งโรคอ้วนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันโลหิตสูงค่ะ
ถ้าเด็กเป็นความดันโลหิตสูงแล้วไม่กินยาตามที่แพทย์สั่ง จะทำให้เวลาที่ต้องทำกิจกรรมหนักๆ ความดันโลหิตจะขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือภาวะหัวใจโตได้
Q. เด็กที่เป็นความดันโลหิตสูงมีโอกาสหายไหมคะ
A. กรณีที่เป็นเด็กอ้วน แล้วสามารถลดน้ำหนักได้ ในช่วงที่รักษาโรคความดันโลหิตสูงอยู่ แพทย์ก็จะให้ลดการกินยา ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรับตัวและการดูแลตัวเองของเด็ก ถ้าค่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ดี แพทย์ก็จะให้กินยาน้อยที่สุด หรืออาจจะหยุดการกินยาไปเลย แต่ถ้าสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงมีสาเหตุมาจากโรคไต ก็อาจจะหยุดยาไม่ได้
Q. ถ้าเป็นความดันโลหิตสูงตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ควรดูแลตัวเองอย่างไร
A. ถ้ารักษาความดันโลหิตสูงไม่หายตั้งแต่เด็กๆ ก็จะมีความดันโลหิตสูงไปจนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งหากควบคุมความดันไม่ดี โอกาสที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนจากภาวะความดันโลหิตสูงก็จะมากขึ้น และอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจโต ไตเสื่อม และไตวายค่ะ
ถ้าลูกมีความเสี่ยงว่าจะมีความดันโลหิตสูงควรพาลูกไปตรวจความดัน และดูแลเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายของลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคนี้ตั้งแต่วัยเด็กค่ะ