ด้วยสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน มีทั้ง ฝุ่นควัน มลพิษ และเชื้อโรคสารพัด ย่อมส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อย โดยเฉพาะ วัยแรกเกิด- 3 ปีที่ ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) หรือ ภูมิต้านทาน ยังทำงานได้ไม่ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยใส่ใจดูแลและสร้างเสริมภูมิต้านทาน ให้ลูกอย่างเหมาะสม
รู้จักระบบภูมิคุ้มกันเจ้าตัวน้อย
ลูกน้อยจะมีภูมิต้านทานมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของลูกค่ะ ว่าสามารถปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต รา พยาธิ หรือแม้กระทั่ง สารก่อภูมิแพ้ ฯลฯ สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เรียกว่า Antigen ค่ะ
โดยปกติแล้วร่างกายของคนเรา มีระบบภูมิคุ้มกัน 2 ลักษณะ คือ
ระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Innate immunity ) ได้แก่ ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในการป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย ที่เห็นได้ชัด เช่น เสมหะที่คอยดักจับเชื้อโรค น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา ที่คอยชะล้างเชื้อโรคออกไปจากเยื่อบุต่างๆ เป็นต้น
ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired immunity) หากเชื้อโรคสามารถฝ่าด่านแรกเข้าสู่ใต้เยื่อบุหรือผิวหนังที่มีบาดแผลได้ แล้ว เซลล์ต่างๆ ของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว จะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้ออกไปจากร่างกาย
ภูมิต้านทานมาจากไหน
ระบบภูมิคุ้มกันนี้มาได้จากหลายแหล่ง ได้แก่
• ภูมิต้านทานจากแม่ ซึ่งส่งผ่านมาทางรกตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะค่อยๆ ลดลงและหมดไปเมื่อทารกอายุ 6 เดือน
• นมแม่ หากทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกคลอดต่อเนื่องไปจนกระทั่ง 2 ปี หรือนานกว่านั้น ก็จะยิ่งทำให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพราะในน้ำนมแม่จะมีภูมิต้านทานที่เป็นทั้งสิ่งมีชีวิต ได้แก่ เม็ดเลือดขาวต่างๆ และสิ่งไม่มีชีวิต จำพวกโปรตีนต่างๆ เช่น อิมมูโนโกลบูลิน ช่วยดักจับและนำเจ้าเชื้อโรคที่เข้ามาทำลาย แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต ไลโซไซม์ ช่วยทำลายผนังของแบคทีเรีย แลคโตเฟริน ช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย คาร์โบไฮเดรต
ช่วยในการขัดขวางไม่ให้แบคทีเรียหรือสารพิษไปจับกับเซลล์เยื่อบุทางเดิน ลำไส้หรือเยื่อบุทางเดินหายใจ และไขมัน หลายชนิดมากที่ช่วยในการทำลายแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต มี พรีไบโอติค ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี เช่น เชื้อแลคโตบาซิลลัส ที่ช่วยขวางการเติบโตของเชื้อโรคในลำไส้ ฯลฯ
• ร่างกายสร้างขึ้นเอง เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ร่างกายจะค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง เมื่อมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเหล่านั้นและส่วนใหญ่คงอยู่ใน ร่างกายตลอดชีวิต หากเชื้อเดิมเข้าสู่ร่างกายอีกก็จะถูกกำจัดออกไปโดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น หัดเยอรมัน คางทูม สุกใส ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
• การรับวัคซีน ซึ่งเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ โดยใช้เชื้อที่ทำให้อ่อนฤทธิ์หรือบางส่วนของเชื้อที่มีคุณสมบัติเป็น antigen เข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่เกิดโรคอย่าง การติดเชื้อโดยธรรมชาติ ได้แก่ วัคซีนชนิดต่างๆ ที่ให้ในเด็กประมาณ 20 ชนิด ซึ่งกว่าจะฉีดครบก็อายุ 6-7 ขวบ พอโตเป็นผู้ใหญ่เราก็มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเกือบครบชนิดแล้วละค่ะ
พ่อแม่ช่วยสร้าง...ภูมิคุ้มกันได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงได้ทุกๆ วัน โดยการใส่ใจเรื่องต่างๆ เหล่านี้ค่ะ
อาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะ ถ้าเป็นทารกวัย 0-6 เดือน การให้นมแม่อย่างเดียวจะช่วยป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อเจ้าตัว เล็กได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคอุจจาระร่วง ปอดอักเสบ หูอักเสบ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ รวมทั้งยังช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้อีกด้วย เมื่อลูกสามารถทานอาหารอื่นได้ ควรจัดรายการอาหารที่ให้ลูกได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน เช่น อาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ วิตามินบีรวม วิตามินซี และวิตามินอี อาหารที่แร่ธาตุสูง เช่น สังกะสี ซีลีเนียม หรือแคลเซียม กรดไขมันในกลุ่มโอเมกา 3 และโอเมกา 6 ซึ่งพบได้ในถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืช และปลาที่มีไขมันสูง โปรตีน ซึ่งพบมากในเนื้อไม่ติดมันปลา และเมล็ดพืชจำพวกถั่ว เป็นต้น
บ้านที่สะอาดและอากาศที่บริสุทธิ์ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ได้
การพักผ่อนที่เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายไม่ต้องทำงานหนัก เด็กๆ จึงควรได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชม.ต่อวัน
การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมที่ช่วยให้ลูกได้ใช้ออกแรงเล่น หรือได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแสงแดดอ่อนๆ ก็ช่วยได้ค่ะ
ความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่และบรรยากาศแห่งความสุข คือภูมิคุ้มกันสุขภาพอย่างดีของลูกน้อยทีเดียว มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า การหัวเราะ การมองโลกในแง่ดี และการพูดคุยเรื่องขำขันสามารถเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานได้
...เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถสร้างเกราะคุ้มกันสุขภาพให้ลูกน้อยเติบโตแข็งแรงได้ไม่ยาก