หลายปีก่อนผมไปล่องแพที่จ.กาญจนบุรี เมื่อใกล้เที่ยงทุกคนลงจากแพ เดินไปน้ำตก ซึ่งอยู่ไกลจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร เรามีสุนัขไทยหลังอานรูปร่างปราดเปรียวเดินนำคณะเราไป ตลอดระยะทางมีทางแยกหลายทาง แต่สุนัขก็พาพวกเรามายังน้ำตกอย่างถูกต้อง หลายคนเอ่ยปากชมว่าสุนัขแสนรู้ บางคนให้ขนม บางคนให้อาหารซึ่งเหลือจากที่กินกันมื้อเที่ยง อีกชั่วโมงให้หลัง เราเห็นสุนัขตัวเดิมวิ่งกลับไปรับและนำนักท่องเที่ยวอย่างน้อยอีก 2 กลุ่มเข้ามาที่น้ำตกแห่งนี้ และนักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็ทำคล้ายๆ กับที่กลุ่มของเราทำคือให้อาหารบ้าง ลูบหัวชมเชยบ้าง
พฤติกรรมนำทางมายังน้ำตกของสุนัข หลายคนมองว่าเป็นความฉลาดเกินสุนัขทั่วไป แต่หากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่าสุนัขฉลาดตัวนั้นได้รับการเรียนรู้ผ่านการวางเงื่อนไขโดยธรรมชาติ จากรางวัลที่ได้รับ ผมเชื่อว่าแทบทุกครั้งที่มันนำนักท่องเที่ยวมาถึงน้ำตก มันได้รับรางวัลหลากหลายรูปแบบ ทั้งอาหาร ขนม คำชม การลูบหัว ลูบหลัง และนั่นคือเหตุผลที่พฤติกรรมนำทางของมันยังคงอยู่
ความรัก : รางวัลที่หนูต้องการ
การสร้างหรือสนับสนุนพฤติกรรมดีๆ ในเด็กก็เช่นกัน หลักพื้นฐานไม่ต่างจากกันนัก เด็กๆ ก็ต้องการรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำความดี ก้องเด็กชายวัย 6 ปี เป็นลูกคนแรกใน 3 คนมาพบผมพร้อมพ่อแม่ พ่อแม่สาธยายปัญหาของก้องมากมาย ทั้งซน ไม่รับผิดชอบ แกล้งน้อง ชอบแหย่คนอื่น
เมื่อถามถึงข้อดีของก้อง พ่อแม่กลับนึกไม่ออกเลย เมื่อผมชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดก้องชอบไปโรงเรียน ก้องชอบเรียนดนตรี และขยันฝึกซ้อมเมื่ออยู่ที่บ้าน พ่อแม่เคยสนใจเรื่องดีๆ เหล่านี้หรือไม่..เปล่าเลย พ่อแม่มักดุ ด่า ทุกครั้งที่ซน ลืมเก็บของเล่น แหย่น้อง แกล้งน้อง แต่มักไม่ชื่นชมส่วนดีของก้องเลย
ก้องต้องการความรัก ความสนใจจากพ่อแม่ สำหรับก้องแล้วการได้รับความสนใจแม้เพียงดุด่า ก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับความสนใจใดๆ เลย ดังนั้นพฤติกรรมไม่ดีทั้งหลายยังคงอยู่ เพราะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ แม้ในทางลบก็ตาม ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมดีๆ ที่มีอยู่เริ่มจะหายไป และเหลือน้อยเต็มทีเพราะไม่ได้รับความสนใจเลย
สำหรับเด็กแล้วความรักจากพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ ความสนใจเป็นตัวแทนที่เด็กจะรับรู้ได้ แน่นอนเด็กย่อมอยากได้ความสนใจในแง่บวก อยากได้คำชมและรางวัลต่างๆ แต่หากไม่ได้ การได้รับคำตำหนิหรือดุด่าก็ยังดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย นั่นคือเหตุผลที่พ่อแม่หลายคนมักพบปัญหาว่าทำไมทั้งดุ ทั้งตี ทั้งว่า แล้วลูกยังคงมีพฤติกรรมไม่ดีอยู่
อย่ามองแต่ข้อเสียของลูก
พ่อแม่เองต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมดีๆ แต่น่าแปลกที่พ่อแม่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่ที่พาลูกมาปรึกษาผม มักให้ความสนใจกับพฤติกรรมไม่ดีหรือพฤติกรรมในแง่ลบมากกว่า ในหลายครอบครัวที่มาพบผม ผมพยายามให้พ่อแม่หันมองลูกในมุมใหม่ หลายครั้งไม่จำเป็นเลยที่ต้องพูดคุยหรือจัดการกับพฤติกรรมไม่ดี เพียงแต่ให้พ่อแม่มีทัศนคติใหม่ในแง่บวกกับพฤติกรรมดีๆ ของลูก หันมาชมเชย ชื่นชม หรือมีรางวัลต่างๆ กับพฤติกรรมดีๆ แทน
ให้รางวัลแบบไหนดี
ถึงตอนนี้หลายคนคงอยากให้รางวัล กับพฤติกรรมดีๆ ของลูกบ้างแล้ว แต่คงต้องทำความรู้จักกับรางวัลกันก่อน โดยทั่วไปเราอาจแบ่งรางวัลเป็น 5 ประเภท
* รางวัลที่เป็นสิ่งของ เช่น ขนม ของเล่นต่างๆ เงิน รางวัลเหล่านี้มักมีคุณค่าในตัวของมันเอง
* รางวัลที่เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทน เช่น คะแนนแต้มสะสม ดาว รางวัลเหล่านี้เป็นตัวแทนของพฤติกรรมดี มีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของทุกครั้ง แต่พฤติกรรมดีก็สามารถคงอยู่ได้นาน พ่อแม่อาจจัดระบบแลกเป็นของหรือกิจกรรมที่ลูกชอบตามข้อตกลงกันได้ด้วย
* รางวัลเป็นสิทธิพิเศษ เช่น ได้ไปเที่ยวสวนสัตว์ ได้เล่นเกมส์กับพ่อ ได้เล่นนอกบ้านได้นานขึ้น แต่ควรเป็นสิ่งที่เด็กๆ ไม่เคยทำ หากลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาเป็นรางวัล
* รางวัลทางสังคม เช่น คำชม การยิ้ม การกอด เมื่อเด็กทำดีรางวัลประเภทนี้ทำได้ง่ายและมักได้ผลดี แต่น่าแปลกที่พ่อแม่บางคนละเลยไป
* รางวัลภายใน เป็นรางวัลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง เช่น ความพอใจ ความภูมิใจ ความสุขใจ
โดยทั่วไปในเด็กๆ เขาควรคำนึงถึงรางวัลใน 4 ประเภทแรก สำหรับประเภทสุดท้ายมักเกิดขึ้นในเด็กโตและวัยรุ่น ซึ่งเกิดจากพ่อแม่ให้รางวัล 4 ประเภทแรกอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ด้วยความรักความอบอุ่น และการมองลูกในแง่ดีอย่างสม่ำเสมอ
การให้รางวัลกับเด็ก ควรให้ทันทีเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดี และรางวัลที่ง่ายที่สุดคือคำชม
ชม...แบบนี้สิดี
อย่างที่บอกว่า คำชมนั้นทำง่าย แต่หากจะให้ผลดีจริงๆ ก็มีเทคนิคกันหน่อย ซึ่งก็แค่...
* สบตาลูกตรงๆ
* ใกล้ชิด สัมผัสทางกาย เช่น แตะไหล่ จับแขน จับมือ กอด
* ยิ้ม (บางครั้งแค่ยิ้มอย่างเดียวก็คือคำชมแล้ว!)
* พูดถึงพฤติกรรมที่ลูกทำ และบอกความรู้สึกของผู้ชม เช่น "แม่ดีใจที่หนูช่วยคุณยายถือของ"
* แสดงความรู้สึกให้เห็นเด่นชัดทั้งท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักของคำพูดและความรู้สึกพิเศษสำหรับเด็กด้วย
ระวังนิด...ก่อนคิดให้สิ่งของ
สำหรับรางวัลที่เป็นสิ่งของ ตัวแทนหรือสัญญลักษณ์ และสิทธิพิเศษ มักให้ในกรณีที่ต้องการสร้างพฤติกรรมลูกใหม่ และจูงใจด้วยเหตุผลต่างๆ ได้ยาก เช่น การอ่านหนังสือที่บ้าน การทำการบ้านเป็นเวลา การช่วยทำงานบ้านบางอย่าง พ่อแม่ควรมีข้อตกลงกับลูกชัดเจนว่าทำอะไรแล้วจะได้อะไร แต่มีข้อควรระวังไว้คือ....
* ควรให้รางวัลทันทีที่ลูกทำงานตามข้อตกลงได้
* ไม่ควรเป็นของแพง แต่ควรเป็นของที่ลูกชอบและรู้คุณค่า
* ไม่ควรให้รางวัลกับกิจวัตรประจำวันที่ลูกทำได้ดีอยู่แล้ว ควรเป็นสิ่งที่ลูกทำพิเศษขึ้นกว่าเดิม
แม้จะมีข้อควรระวังกันบ้าง การให้รางวัลก็เป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ควรทำอย่างยิ่ง เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยคำชมนี่แหละ แค่นี้ลูกๆ ก็ปลื้มกันแล้วครับ
คุณค่าของรางวัล
จอยมาพบผมด้วยปัญหาสมาธิสั้น และการเรียนแย่ลงเรื่อยๆ จอยได้รับยา และผมแนะนำเธอให้ฝึกฝนเรื่องต่างๆ รวมถึงวินัยในการเรียนด้วย เราตกลงเรื่องการอ่านหนังสือกัน ทุกวันจอยจะอ่านครึ่งชั่วโมง จอยเลือกเวลา 19.00-19.30 น. โดยมีแม่คอยประกบทุกวัน หากจอยทำได้ในแต่ละวันจะได้ดาว 1 ดวง ในแต่ละสัปดาห์หากจอยได้ 6 ดวง จอยจะได้ซื้อหนังสือการ์ตูน 1 เล่ม และหากครบ 7 ดวง จอยจะได้เทปเพลงใหม่ 1 ตลับ 2 เดือนผ่านไปจอยได้หนังสือการ์ตูน 5 เล่ม และเทปเพลง 4 ม้วน จากนั้นพ่อแม่ปรับระบบรางวัลใหม่อีกครั้ง และปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือนหลังจากพบกันครั้งแรก จอยไม่ต้องใช้รางวัลที่เป็นรูปธรรมใดๆ เลย เพราะจอยรู้สึกพอใจที่เรียนดีขึ้น ครูก็ชม จอยเองก็รู้สึกภูมิใจในตนเอง นั่นคือรางวัลภายในได้เกิดขึ้นแล้ว และนั่นคือเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจอยด้วยต้องการ