เรียนรู้การเป็นผู้ให้ เริ่มได้ตั้งแต่วัยนี้
อัจฉรา เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โปรยเด่น (เผื่อศิลป์ใช้ค่ะ)
1. การปลูกจิตอาสาในลูกวัย 1-3 ขวบ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ตามความสามารถของลูก โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
2. หากละเลยไม่ปลูกฝังเรื่องจิตอาสาจะส่งผลให้ลูกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาก ขึ้น ไม่รู้ศักยภาพว่าสามารถช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้แค่ไหน และกลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจได้
สร้าง ‘จิตอาสา’ ให้ลูกวัยซน
การจะปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น และพร้อมที่จะยืนอยู่ในฐานะของผู้ให้ ที่เรียกว่ามี จิตอาสา คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เล็กค่ะ
……………………………….
จิตอาสาปลูกได้ตั้งแต่วัยซน
เมื่อพูดถึงเรื่องจิตอาสา หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ หรือเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กมหาวิทยาลัยและเด็กโตเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่าลูกวัยซนของเราก็มีจิตอาสาได้เช่นกัน เพราะลูกวัยนี้เริ่มใช้มือไม้ได้คล่อง มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น สามารถเข้าใจคำสั่ง และเรื่องราวที่มีเหตุผลได้บ้างแล้ว ซึ่งพื้นฐานพัฒนาการเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดปลูกจิตอาสาให้ลูกได้ค่ะ
ปลูกอย่างไรดี
การปลูกจิตอาสาในลูกวัย 1-3 ขวบ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ตามความสามารถของลูกค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย เพราะไม่ว่าจะพร่ำสอนแค่ไหน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ทำให้ดูเจ้าจอมซนก็เกิดการซึมซับได้ยากค่ะ
จิตอาสากับตัวเอง คือสอนให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเอง เช่น ทานอาหารเอง แต่งตัวเอง หรือสอนให้รู้จักทำความสะอาดร่างกายของตัวเอง
การสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองนั้นจะทำให้ลูกพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกมีค่า และรู้สึกดีกับตัวเอง ที่สำคัญการที่ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การช่วยเหลือคน อื่นต่อไปค่ะ
จิตอาสาในบ้าน เป็นการสอนให้ลูกรู้บทบาทของตัวเองและความสัมพันธ์ในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ด้วยการให้ลูกช่วยเหลืองานในบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น ให้ลูกช่วยกวาดบ้านโดยอาจหาไม้กวาดขนาดพอดีมือให้เขา ช่วยจัดโต๊ะอาหาร ช่วยตักข้าว หรือถ้าเขามีน้องคุณพ่อคุณแม่ก็อาจให้เขาช่วยดูแลน้อง ช่วยหยิบผ้าอ้อม เป็นต้น
ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่คาดหวังผลสูงเกินความสามารถของลูกนะคะ เพราะลูกวัยนี้หยิบจับข้าวของยังไม่คล่อง เรื่องการตกหล่นเสียหายอาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา และต้องดูอารมณ์ของลูกด้วยค่ะ ไม่ควรให้ลูกทำโดยการบังคับ เพราะจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้ค่ะ
จิตอาสานอกบ้าน ลูกวัยซนโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ขวบ จะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นบ้างแล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เขารู้จักเอื้อเฟื้อ เช่น แบ่งของเล่นหรือขนมให้เพื่อน หรืออาจพาไปเยี่ยมบ้านเด็กกำพร้า โดยชวนให้ลูกสละของเล่นหรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วให้กับเพื่อนๆ ที่นั่น และถ้ามีการเลี้ยงอาหารกลางวัน ก็ให้เจ้าตัวเล็กช่วยบริการหรือแจกผลไม้หรือขนมก็ได้ค่ะ
เมื่อลูกได้ช่วยเหลือ แบ่งปัน และเสียสละแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นแค่ ไหน คนที่ได้รับมีความสุขอย่างไร มีสีหน้าแววตาเช่นไร ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลต่อ คนอื่นอย่างไร
จิตอาสาพัฒนาลูก
เมื่อลูกวัยซนได้รับการปลูกฝังให้เป็นหนูน้อยผู้มีจิตอาสา เขาจะสามารถอยู่ตามลำพังหรืออยู่ห่างจากพ่อแม่ได้โดยไม่เกิดปัญหา เขาจะมีความมั่นใจ รับรู้ความสามารถของตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองและเริ่มช่วยเหลือผู้อื่นได้เล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญลูกจะลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางลง เติบโตเป็นเด็กที่มีความสุขกับการให้ มีจิตใจปลอดโปร่ง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ค่ะ
ในขณะเดียวกัน หากคุณพ่อคุณแม่ละเลยไม่ปลูกฝังเรื่องนี้ จะส่งผลให้ลูกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้น รู้สึกว่าเขาอยู่ในฐานะผู้รับ รอคอยแต่จะให้คนอื่นตอบสนองความต้องการของตัวเอง ควบคุมตัวเองได้ยาก หากมีเรื่องขัดใจก็พร้อมที่จะแผลงฤทธิ์ ลูกจะไม่รู้ศักยภาพของตัวเอง ว่าเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้แค่ไหน และอาจกลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจเมื่อออกสู่สังคมภายนอกในอนาคตได้ค่ะ
มาเริ่มปลูกจิตอาสาให้เจ้าจอมซนกันค่ะ เพราะนอกจากลูกจะรู้จักช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังทักษะทางสังคม ที่จะช่วยพัฒนาลูกให้อยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขได้อีกด้วยค่ะ
** ล้อมกรอบ ** (แยก)
จิตอาสาได้ผลดีต้องมีคำชม เมื่อลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลืองานในบ้าน หรือช่วยเหลือและแบ่งปันผู้อื่นแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ คือการให้กำลังใจด้วยคำชมค่ะ เพราะคำชมจะทำให้ลูกรู้สึกมีคุณค่าและอยากทำสิ่งดีๆ ต่อไป
ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกยังไม่อยากทำก็อย่าว่ากล่าวหรือบังคับ โดยเฉพาะเรื่องช่วยเหลือดูแลน้อง เพราะลูกวัยนี้เริ่มอิจฉาเป็นแล้วนะคะ
** ล้อมกรอบ ** (แยก)
ปลูกหลักคิดเรื่องจิตอาสา คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้เรื่องการมีจิตอาสาเป็นเรื่องธรรมดา คนที่มีจิตอาสาไม่ได้เหนือกว่าผู้อื่น ผู้รับไม่ใช่ผู้ที่ด้อยกว่า แต่การช่วยเหลือคนอื่นด้วยจิตอาสา คือ การที่ลูกได้ช่วยเหลือบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ค่ะ