แกล้งเพื่อน VS โดนเพื่อนแกล้ง เด็กทั้ง 2 กลุ่มโตไปอาจเสี่ยงมีพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่เสียใจแบบนี้
แกล้งเพื่อน VS โดนเพื่อนแกล้ง เด็กทั้ง 2 กลุ่มโตไปอาจเสี่ยงมีพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่เสียใจแบบนี้
เด็กชอบแกล้งเพื่อน และ เด็กที่มักถูกเพื่อนแกล้ง ปัญหานี้เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ไม่รู้วิธีเข้าหาเพื่อน ความไม่เข้าใจในความแตกต่าง ไม่รู้วิธีควบคุมอารมณ์ ความกลัว หรืออาจจะเคยเห็นจากสื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่หรือแม้แต่ครูก็ต้องคอยสังเกตและแนะนำเพื่อช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขค่ะ
หลายครั้งที่เราเห็นว่าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข พ่อแม่ต้องพาลูกย้ายโรงเรียนเพราะสภาพจิตใจย้ำแย่ พ่อแม่ต้องไม่รู้วิธีปรับอารมณ์ที่รุนแรงของลูกเพื่อให้ลดการทำร้ายคนอื่นทั้งการกระทำและคำพูด หากเรายังปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นกับเด็กทั้ง 2 กลุ่ม นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกเมื่อโตขึ้น
พ่อแม่ และครูควรทำอย่างไร
- พ่อแม่ควรเปิดใจและเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงความรู้สึก การกระทำ โดยยังไม่ต้องตัดสินว่าถูกหรือผิด เพื่อให้รับรู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร ทำอะไรลงไปเพราะอะไร ก่อนหาทางช่วยปรับแก้
- พ่อแม่ต้องใจเย็น อดทน เพราะอาจจะต้องใช้เวลาก่อนที่ลูกจะเปิดใจบอกความรู้สึก ควรให้เวลากับลูก ถามทุกวันว่าวันนี้เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร "ต้องไม่เบื่อที่จะถาม" แม้บางครั้งจะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดที่ถามเท่าไหร่ลูกก็ไม่ยอมพูดซะที
- เมื่อลูก "แกล้งเพื่อน" หรือ "โดนแกล้ง" ควรสอบถามข้อเท็จจริงก่อน และเปิดใจที่จะคุยกับพ่อแม่ของเด็กที่ถูกแกล้ง และครู เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะหลายๆ ครั้ง ปัญหามักเกิดจาก เด็กๆ ไม่เข้าใจกัน ยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าคำพูดที่ใช้พูดกันอาจทำให้อีกฝ่ายเสียใจ หรืออาจทำอะไรที่อีกฝ่ายไม่ชอบโดนไม่รู้ตัว ดังนั้นพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายก็ควรใช้สติเข้าหากัน
- ลองหาโอกาสหรือกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้ทำร่วมกัน เช่น พาไปเที่ยวด้วยกัน มาเล่นที่บ้าน ฯลฯ จะทำให้เด็กๆ รู้จักปรับตัวเข้าหากัน เข้าใจกัน เพราะจริงๆ แล้วเด็กยังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ตัวเอง เรียนคนอื่นไปพร้อมๆ กับความผิดพลาดต่างๆ ที่แก้ไขได้ โดยมีพ่อแม่เป็นคนไกด์ให้
- คุณครูควรใช้วิธีพูดคุยในลักษณะแนะนำและปรึกษากับเด็กและพ่อแม่ ไม่ตำหนิหรือกล่าวโทษชี้เฉพาะไปที่ใคร พยายามหาทางออกร่วมกัน เช่น เมื่อเห็นเด็กแกล้งกันควรเข้าไปแยกด้วยการใช้เสียงปกติ หากมีการทำร้ายกันควรให้เด็กรู้จักขอโทษกันที่ทำอีกฝ่ายบาดเจ็บ เสียใจ และสอนให้รู้จักให้อภัย แต่คุณครูเองก็ต้องฟังเหตุผลของการทะเลาะของเด็กๆ ด้วยค่ะ
- สำหรับการแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กๆ ทะเลาะและแกล้งกับในโรงเรียนแบบระยะยาว คุณพ่อคุณแม่คือปัจจัยสำคัญค่ะ โดยต้องทำให้ลูกเห็นและเข้าใจว่าการแกล้งหรือทำร้ายคนอื่นทำให้เกิดผลเสียอย่างไร เพื่อนเสียใจ เพื่อนบาดเจ็บ ลูกจะโดนตำหนิ ถูกทำโทษ รวมถึงการสอนให้ลูกรู้จักสิทธิของคนอื่นที่เราจะละเมิดไม่ได้ เช่น ลูกยังไม่ชอบที่มีใครมาแกล้ง มาตีให้เจ็บ คนอื่นก็ไม่อยากโดนแกล้งเหมือนกัน เป็นต้น
- หากเด็กๆ ตกเป็นผู้โดนแกล้ง พ่อแม่และครู จะต้องคอยแนะนำทางแก้ไขและหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าวให้เด็กด้วย เช่น เลี่ยงที่จะไม่เล่นกับเพื่อนคนนั้นไปก่อน ถ้าจะเล่นด้วยกันควรมีเพื่อนคนอื่นๆ เล่นด้วยเป็นกลุ่ม หรือหากยังโดนแกล้งอยู่ตลอดควรให้เด็กบอกคุณครู เพื่อช่วยกันปรับพฤติกรรม เพราะเด็กบางคนแกล้งเพื่อนจากความไม่รู้วิธีเข้าหา เป็นต้น
นอกจากนี้ อย่าลืมสอนลูกเรื่องการขอโทษ การให้อภัย และการยิ้มนะคะ เพราะจะทำให้ลูกเรามีเกราะป้องกัน "หัวใจ" ตัวเองได้ดีเยี่ยม เขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ควร ไม่ควร และเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นว่า ทุกคนสามารถทำเรื่องผิดพลาดได้ แต่เราก็รู้จกการให้อภัย แก้ไข และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขค่ะ