คุณเคยอยู่ในภาวะกดดันไหมคะ ความรู้สึกแย่และเครียดจนต้องหาทางระบายใช่ไหม แล้วถ้าลูกคุณต้องอยู่ในภาวะนี้ โดยมีคุณเป็นต้นเหตุล่ะ?
เมื่อไม่กี่วันนี้ กระเตงลูกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมก๊วนสมัยเรียนมาค่ะ นอกจากแม่ๆ จะได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันแล้ว ลูกๆ ก็ได้เพื่อนเล่นด้วย แต่ลูกชายวัย 2 ขวบกว่าของเพื่อนดิฉันสิคะ เอาแต่หลบหลังแม่ตลอด ดูท่าทางไม่มั่นใจเอาเสียเลย
สังเกตอาการเจ้าหลานชายสักพัก ก็เห็นว่าเขาเองก็อยากจะไปวิ่งเล่นเหมือนกัน แต่เพื่อนของดิฉันก็คอยส่งสายตาปรามไว้เสมอ เพราะไม่อยากให้ลูกวิ่งซน เธอบอกว่ากลัวลูกจะหกล้มเจ็บตัวน่ะค่ะ แต่แหม...ธรรมชาติของเด็กวัยนี้น่ะเขาจะซน อยากวิ่ง อยากปีนป่าย อยากสำรวจ แล้วมาถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ แบบนี้คงอึดอัดแย่
และเธอยังบ่นให้ดิฉันฟังอีกว่า ลูกชายไม่ได้อย่างใจเอาเสียเลย เพราะออกนอกบ้านทีไรหลบหลังแม่ตลอด อยากให้ลูกเป็นคนมั่นใจในตัวเองมากกว่านี้ ปล่อยไว้แบบนี้เห็นทีจะไม่ได้การ เพื่อนที่แสนดีอย่างดิฉันต้องหาทางช่วยแล้วล่ะค่ะ
กรณีอย่างนี้ พญ.เสาวภา วชิรโรจน์ไพศาล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น แนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับหรือห้ามเด็กมากไป เพราะจะเป็นการกดดันลูกได้ค่ะ
เรื่องที่หนูๆ มักโดนกดดัน
ลูกได้รับความกดดันจากพ่อแม่ได้หลายทางค่ะ เช่น จากการที่พ่อแม่ใช้เสียงดัง ตวาด บางคนอาจถึงขั้นตี เป็นการใช้อำนาจซึ่งลูกย่อมกลัว ยอมจำนน และต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ รู้สึกไม่มีความสุข ส่วนเรื่องที่เด็กวัยนี้มักจะโดนกดดันเสมอคือ
การรับประทานอาหาร พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานความคิดว่า ลูกต้องได้สารอาหารอย่างครบถ้วนทั้ง 3 มื้อ บางบ้านนอกจากข้าวแล้ว ลูกยังต้องรับประทานผักทุกชนิดด้วย เพื่อร่างกายจะได้สมบูรณ์แข็งแรง จึงพยายามอธิบายให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของข้าวและผัก แล้วก็คอยควบคุมและจัดการให้ลูกรับประทานให้ได้ แทนที่จะใช้วิธีเชิญชวนหรือโน้มน้าว โดยลืมคิดไปว่านี่เป็นการกดดันลูก
การเล่น เด็กวัยนี้จะชอบเล่นโลดโผน ชอบเล่นปีนป่าย บางบ้านพ่อแม่เองก็อยากให้ลูกเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็กลัวลูกเจ็บเลยห้าม แต่พอออกไปข้างนอกเห็นเด็กคนอื่นปีน ลูกตัวเองปีนไม่ได้ ก็คะยั้นคะยอลูกว่าทำไมไม่ปีน คืออยากให้ลูกทำได้แต่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกลองทำ
เมื่อหนูโดนกดดัน
การกดดันลูกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ
- ลูกไม่อยากทำ แต่พ่อแม่อยากให้ทำ อย่างนี้จะเป็นการลงโทษ
- ลูกอยากทำ แต่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำ อย่างนี้จะเป็นการห้าม
ผลลัพธ์ออกมาคือ เด็กจะสงสัยในศักยภาพของตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆ พ่อแม่ที่มักจะห้ามหรือดุลูก ก็มักจะไม่ได้ดุแค่เรื่องเดียวในหนึ่งวัน แต่จะห้ามและดุลูกอยู่อย่างนี้เกือบทุกเรื่อง โอกาสที่เด็กจะทำอะไรสำเร็จดังใจน้อยมาก เขาจะถูกอำนาจสั่งการอยู่ตลอดเวลา อาการที่แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังได้รับความกดดัน ในเรื่องของการรับประทานอาหาร เช่น บ้วนทิ้ง อมข้าว วิ่งหนี ร้องไห้ เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของการเล่น สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กกำลังได้รับความกดดันอยู่ จะแสดงออกมาเมื่อออกไปข้างนอกค่ะ คือเขาจะอาย ไม่มั่นใจ ติดแม่ มีความเครียด เหมือนลูกชายของเพื่อนดิฉันนี่แหละ
ซึ่งคุณหมอบอกว่าถ้าไม่รีบแก้ปัญหา เมื่อเขาโตกว่านี้จะกลายเป็นเด็กที่ไม่มี Self-esteem (ความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง) ออกไปข้างนอกก็แก้ไขปัญหาไม่เป็น ต้องยอมแพ้ตลอด และเด็กที่ได้รับความกดดันส่วนใหญ่มักจะลงเอยด้วยการร้องไห้ค่ะ
เลี้ยงอย่างไรไม่กดดัน
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะไม่กดดันลูกเกินไปล่ะ ในเมื่อสิ่งที่ทำอยู่ก็ด้วยรักและเป็นห่วงลูกทั้งนั้นนี่นา คุณหมอแนะนำว่าควรเดินสายกลางค่ะ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ควรคุยกัน และร่วมกันสร้างกฎของบ้านขึ้นมา โดยต้องเป็นกฎที่ชัดเจน แต่ก็ต้องมีอิสระอยู่ในเรื่องเดียวกันด้วยค่ะ เช่น
ในเรื่องการรับประทานอาหาร ควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน อาจจะเป็นครึ่งชั่วโมงที่ลูกต้องนั่งรับประทานด้วยกันที่โต๊ะ ฝึกให้ลูกลองใช้ช้อนป้อนตัวเอง ลูกจะลงจากโต๊ะเพื่อไปเล่นก่อนถึงเวลาที่กำหนด หรือเล่นที่โต๊ะอาหารโดยไม่ยอมรับประทานไม่ได้ เลยจากช่วงเวลานี้ถ้าลูกยังเล่นก็ให้เก็บสำรับ หรือถ้าต้องการให้ลูกรับประทานผัก หรืออาหารที่มีประโยชน์ก็ต้องใช้วิธีเชิญชวนหรือดัดแปลงอาหารให้น่ารับ ประทาน เป็นต้น
ส่วนการเล่น ในเมื่อเด็กวัยนี้ชอบวิ่ง ชอบปีนป่าย พ่อแม่ก็ต้องจัดที่ให้ลูกได้เล่นอย่างที่เขาต้องการ กำหนดเวลาให้เล่น เช่น ให้เวลาเล่น 1 ชั่วโมง แล้วหลังจากนั้นมาฟังนิทานกับแม่ ต้องมีขอบเขตเรื่องของเวลาที่ชัดเจนด้วยว่านานเท่าไหร่ และทำตามกฎนั้นเสมอ โดยขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านที่จะตกลงกันระหว่างพ่อแม่ค่ะ
นอกจากนั้นควรสอนให้ลูกมีวินัยแบบไม่กดดันเกินไป คือสอนให้รู้ว่าช่วงไหนควรหรือไม่ควรทำอะไร โดยอาศัยความสม่ำเสมอและจริงจัง อาจใช้เสียงเข้มแต่ไม่ใช่เสียงตวาด เด็กจะสามารถรับสัญญาณได้ค่ะ เพราะโดยสัญชาตญาณของเด็ก เขาต้องการภาพเชิงบวกจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ยิ้มหรือชมเชย เขาจะภูมิใจและมีกำลังใจมากค่ะ
********* ล้อมกรอบ ********
- การแก้ปัญหาลูกไม่ยอมทำตามกฎที่ตั้งไว้ พ่อแม่ต้องค่อยๆ สังเกตและพิจารณาลูก บนพื้นฐานความเข้าใจของลูก ไม่ควรเอาความคิดของพ่อแม่เป็นหลักค่ะ
- ถ้าห้ามลูกไม่ให้ทำอะไร ต้องมีกิจกรรมอื่นทดแทนด้วยนะคะ เช่น ห้ามลูกดูทีวีก็ต้องชวนเขาไปต่อจิ๊กซอว์ ฟังนิทาน เล่นทราย เป็นต้น
******************************
********* ล้อมกรอบ ********
ตามใจ = ไม่กดดัน?
พ่อแม่บางท่านอาจจะตามใจลูกทุกอย่าง ลูกจะทำอะไรก็ได้หมด ไม่เคยบอกลูกเลยว่าเรื่องไหนทำได้ เรื่องไหนทำไม่ได้ เป็นจักรพรรดิ์องค์น้อยอยู่ที่บ้าน ถ้าเป็นอย่างนี้พอถึงวัยที่ลูกต้องไปโรงเรียน เขาจะไม่รู้จัก ไม่เคยได้รับความกดดันเลยไม่ม่โอกาสได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง พอเจอภาวะการกดดันจากสถานที่ กิจกรรมและผู้คนที่แปลกใหม่ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ร้องไห้ และกลายเป็นเด็กปรับตัวยากค่ะ
********************************
คุณหมอบอกว่าถ้าพ่อแม่เริ่มมองเห็นและเข้าใจว่าลูกกำลังเกิดปัญหา ก็ถือว่าแก้ปัญหาสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วค่ะ เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่มักไม่เข้าใจว่าตัวเองทำผิด แต่ถ้าเริ่มเข้าใจแสดงว่าพ่อแม่เปิดกว้างและพร้อมที่จะรับหลักการใหม่ ก็อาจจะหาข้อมูลจากหนังสือ หรือพาไปพบแพทย์ก็ได้ค่ะ
เฮ้อ...ได้ฟังแล้วก็ต้องหันกลับมาพิจารณาตัวเองเป็นการใหญ่ ว่าทุกวันนี้กดดันลูกบ้างหรือเปล่า กลับถึงบ้านคงต้องไปสร้างกฎของบ้านร่วมกับพ่อของเจ้าตัวเล็กแล้วล่ะค่ะ