คนท้องเดินทางรถสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย รถเมล์ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ ลงเรือ
คนท้องนั่งรถสาธารณะ บางทีก็ไม่สะดวกแต่จำเป็น ทำยังไงการนั่งรถสาธรณะของแม่ท้องถึงจะปลอดภัยและรู้สึกสบาย เรานำเคล็ดลับมาฝากค่ะ
คนท้องเดินทางรถสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย รถเมล์ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ ลงเรือ
คนท้องนั่งแท็กซี่ รถตู้โดยสาร
- เลือกนั่งคู่กับคนขับ เพราะที่นั่งคู่คนขับถือเป็นพื้นที่นั่งสบายที่สุด ทั้งสามารถยืดขาได้มากกว่าพื้นที่ด้านหลัง และลดแรงกระแทรกได้มากเมื่อเทียบกับนั่งหลังสุด
- คุณแม่จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยทุกครั้ง วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนท้องจะต้องพาดทแยงผ่านระหว่างอกพอดีและพาดเลยต่อไปอีกด้านของของลำตัว (ห้ามพาดผ่านส่วนหน้าท้อง) ส่วนเข็มขัดนิรภัยส่วนล่างจะต้องพาดผ่านบริเวณใต้ท้องให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะต้องพาดยาวจากสะโพกข้างหนึ่งไปยังสะโพกอีกข้างหนึ่ง เพราะบริเวณสามารถช่วยรองรับและปกป้องแรงกระแทกจากการชนได้มากที่สุด และดึงสายตรงส่วนนี้ให้ตึง อย่าให้เกิดสภาวะหย่อน และระวังอย่าให้สายบิดเป็นเกลียวด้วยค่ะ
- ปรับเก้าอี้ให้อยู่ในลักษณะกึ่งเองนอนและควรเลื่อนที่นั่งไปด้านหลังให้มากที่สุด เพื่อลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ควรเตรียมหมอนอิงสำหรับหนุนหลังและหมอนรองคอไว้ด้วย เพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้าปวดหลังและปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ
- ควรปรับพัดลมแอร์ให้ถึงตัวคุณแม่เพื่อป้องกันอาการวิงเวียนที่เกิดจากอากาศภายในรถไม่หมุนเวียนมากพอ
- หมั่นหมุนข้อเท้าไปมาเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการขาบวมได้
- ขณะรถตู้โดยสารเติมเชื้อเพลิงต้องลงจากรถทุกครั้ง เพราะแรงดันก๊าซจะสูงที่สุดขณะเติม อาจระเบิดขึ้นได้
คนท้องนั่งรถเมล์
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงรถเมล์ที่คนแน่นมาก เพราะโอกาสเกิดการกระทบกระทั่งกันมีสูง
- ควรระมัดระวังทั้งขณะขึ้นและลงบันไดหรือระหว่างที่รถเบรกและรถกระชากออกตัว
- คุณแม่ไม่ควรยืนบนบันไดหรือโหนรถเมล์
- ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรเลือกที่นั่งตอนกลางของรถและติดกับทางเดิน เพื่อความสะดวกในการลุกขึ้นยืดแข้งยืดขา หากต้องเดินทางนาน
คนท้องนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์
การนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ในขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็คงไม่เป็นอันตรายอะไร ยกเว้นถ้ารถกระแทกมาก ๆ ก็อาจทำให้แท้งลูกได้ แต่เมื่อท้องโตขึ้น การทรงตัวนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ของคุณแม่จะยิ่งลำบากมากขึ้น ทำให้มีโอกาสตกจากรถได้ง่าย แถมยังต้องระวังอุบัติเหตุและอันตรายรอบด้าน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง หรือถ้าจำเป็นก็ต้องบอกให้ผู้ขับขี่ขับช้า ๆ ด้วยความระมัดระวังและสวมหมวกกันน็อกด้วยทุกครั้ง
คนท้องนั่งรถไฟฟ้า
คุณแม่ควรระมัดระวังในระหว่างขึ้นและลงบันไดเลื่อน เพราะบันไดเลื่อนมีลักษณะค่อนข้างสูงชัน หรือในระหว่างการเข้าและออกประตูรถไฟฟ้าก็ควรระวังด้วยเช่นกัน ส่วนในช่วงเร่งรีบที่มีคนใช้บริการหนาแน่น คุณแม่ควรระมัดระวังอุบัติเหตุทั่วไปด้วย เช่น การหกล้ม การกระทบกระแทก รวมทั้งให้เลี่ยงการผ่านทางเข้าออกอัตโนมัติ เพื่อป้องกันจังหวะของที่กั้นอาจปิดกระแทกโดนบริเวณท้องของคุณแม่ได้ (ในปัจจุบันมีทางเข้าออกเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์)
คนท้องนั่งเรือโดยสาร
- คุณแม่ควรสำรวจร่างกายตัวเองด้วยว่าแข็งแรงไหม มีอาการเมาเรือง่ายหรือไม่ ถ้ามีควรงดเว้นการเดินทางโดยเรือ
- การนั่งเรือมีความเสี่ยงสูง ถ้าคุณแม่ไม่ชำนาญควรหลีกเลี่ยงไว้จะดีกว่า
- ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรเดินทางโดยเรือ
- ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มโดยเฉพาะตอนช่วงก้าวขึ้นและลงจากเรือ เพราะพื้นเรือมักเปียกอยู่เสมอ
- เมื่อขึ้นเรือแล้วควรเลือกที่นั่งบริเวณกลางเรือ เพราะบริเวณนี้จะมีแรงกระแทกน้อยกว่าส่วนของหัวเรือ