ทักษะต่างๆสำหรับเจ้าตัวน้อย
“เลี้ยง ลูกสมัยนี้ต้องมองข้ามช็อต นี่ก็ต้องหาโรงเรียนเตรียมไว้ถึงเวลาก็เข้าได้เลย เดี๋ยวก็ต้องฝึกลูกให้เป็นหลายๆ อย่าง ทั้งดนตรี กีฬา วาดรูป.....
....ทำงานหนังสือเลี้ยงลูกมีอะไรแนะนำมั้ย จะได้เอามาใช้กับเจ้าปิงปิงมัน”
เพื่อนดิฉันที่เพิ่งนั่งแท่นคุณแม่ได้ครบปีเมื่อไม่กี่วัน พูดขึ้นหลังรับของขวัญวันเกิดครบขวบแรกของลูกชายไป
เธอว่าใจจริงไม่ได้ต้องการให้ลูกแข่งขันกับใครเขา แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เธออุ่นใจได้ว่า
เจ้า ปิงปิงจะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นเข้าถึงโอกาสและมีทุนรอนทางทักษะความ สามารถพอที่จะยืนบนเวทีชีวิตต่างๆ ทั้งการเข้าโรงเรียน สอบแข่งขัน โอกาสดีๆ ในชีวิต ฯลฯ ในแบบที่พร้อม และถ้าเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับลูกมากเท่านั้นเธอก็เลยเริ่ม คิดเรื่องนี้ตั้งแต่ปิงปิงเพิ่งจะขวบเดียวนี่ล่ะ !
อดถามเธอไม่ได้ ว่า “แน่ใจเหรอว่าอะไรที่ว่ามานั่นจะช่วยให้ลูกอยู่บนโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ได้อย่างมีความสุข” หลังจากนั้นเราเริ่มพูดคุยกันถึงทักษะที่แท้จริงที่จะทำให้เจ้าปิงปิงเติบโต ขึ้นมาอย่างแข็งแรงทั้งกาย ใจ มีความเชื่อมั่นและสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้นั้นน่าจะต้องมีอะไรบ้าง แต่ดูเหมือนสิ่งที่ได้จะเป็นเรื่องไกลเกินความสามารถของเด็กวัยขนาดปิงปิงไป ซะหมด ไม่ว่าจะ ช่วยเหลือตัวเองได้ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง คิดเป็น รับผิดชอบ รู้จักใส่ใจดูแลคนอื่น รู้ผิดชอบชั่วดี แก้ปัญหาเป็น .....
สุดท้ายเธอก็บอกว่านี่มันยากกว่าสิ่งที่เธอคิดในตอนแรกทั้งนั้น เด็กตัวแค่นี้จะสอนเรื่องพวกนี้ได้ยังไง
ทักษะชีวิต
องค์การ อนามัยโลกให้ความหมายทักษะชีวิตเอาไว้ว่า "เป็นความสามารถของบุคคลด้านสังคมและจิตวิทยา นั่นคือความสามารถของบุคคลในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพกับความต้องการและ สิ่งท้าทายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถที่จะรักษาสภาพจิตใจที่สมบูรณ์ รู้จักแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือในสภาพแวด ล้อมต่างๆ ของวัฒนธรรมนั้นๆ"
และได้กำหนดองค์ประกอบสำคัญของทักษะชีวิตไว้ 10 ข้อด้วยกันคือ
การตัดสินใจ (Dicision making) การแก้ปัญหา (Ploblem solving)
การคิดวิเคราะห์ (Critical thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective communication)
มนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal relationship)
การตระหนักรู้ในตน (Self awareness) ความเห็นใจผู้อื่น (Empathy)
การเผชิญกับอารมณ์ต่างๆ (Coping with emotion)
การเผชิญกับผู้สร้างความกดดัน (Coping with stressors)
รู้จัก เข้าใจลูกวัยเตาะแตะ
เด็ก เล็กๆ วัยขนาดเจ้าปิงปิงเนี่ยเขาเรียกวัยเตาะแตะ (1-3 ปี) ชื่อก็สื่ออยู่แล้วว่าเป็นวัยหัดเดิน แต่ที่มากกว่าก็คือนอกจากหัดเดินแล้ววัยนี้ยังต้องฝึกหัด เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง ทั้งทางกาย ทางใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตวันนี้และวันต่อๆ ไปข้างหน้าได้อย่างคนที่มีความสุข เด็กที่จะเป็นอย่างนั้นได้ต้องได้รับการดูแล และตอบสนองความต้องการในทุกๆ ด้านทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม
ความต้องการของลูกวัยต่ำกว่า 3 ปี
- ต้องการการดูแลด้านร่างกาย คือดูแลสุขภาพอนามัยต่างๆ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ทางร่างกายให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ตามวัย
- ต้องการการดูแลด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม คือต้องการความรัก ความอบอุ่นใกล้ชิด เพื่อพัฒนาการแสดงออกทางอารมณ์ จิตใจ การเข้าใจตนเอง ผู้อื่น รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง การแสดงออกของตัวเองต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม เพื่อเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
- ต้องการการดูแลด้านสติปัญญา คือ ต้องการเรียนรู้สิ่งรอบตัวที่หลากหลาย ต้องการโอกาสในการลองผิดลองถูก ลองคิด แก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยตัวเอง
ทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต
ถ้า ดูจากความต้องการของเด็กวัยนี้ก็พอจะทราบได้ไม่ยากค่ะ ว่ามีทักษะอะไรบ้างที่เธอต้องเริ่มฝึกหัดและฝึกฝนให้ลูก ซึ่งทั้งหมดที่เราเริ่มต้นให้ลูกวันนี้จำเป็นกับการดำเนินชีวิตของเขาในวัย ปัจจุบัน และจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่ทักษะชีวิตที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคตข้างหน้า
* ความแคล่วคล่องชำนาญในทุกๆ พัฒนาการทางกายที่จะเกิดขึ้นตามวัย เช่น เดิน วิ่ง กระโดด หยิบจับสิ่งของ ขีดเขียน การพูดจาสื่อสาร ซึ่งเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมต่างๆทำได้โดย
- ให้ลูกได้เล่นในแบบที่ได้ออกกำลัง เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขน-ขา มือ-นิ้วมือ ฝึกการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ การทรงตัว เช่น พาไปเล่นในสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสนาม เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี เตะบอล ขี่จักรยาน 3 ล้อ ต่อบล็อก ปั้นแป้ง
- ให้ได้ลองลงมือทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองบ้าง ตามวัยที่เขาทำได้ เช่นให้ลองจับแปรงแปรงฟันเอง ล้างมือ ล้างหน้า กินอาหาร ถอด-ใส่เสื้อผ้า รองเท้า เริ่มจากง่ายๆ ก่อนโดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และอาจช่วยเหลือบ้างถ้าเห็นว่าลูกต้องการ ระหว่างนี้สามารถวางแบบแผนที่ควรจะเป็นของกิจวัตรได้ด้วย เช่น แปรงฟันตอนเช้า-ก่อนเข้านอน ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ถอดรองเท้าวางเข้าที่ เป็นต้น
- จัดกิจกรรมที่ลูกจะได้สื่อภาษา เช่น ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง เล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติ พูดคุยกับลูกให้มากในทุกๆ ช่วง ทุกๆ กิจกรรมที่ได้อยู่กับลูก เช่น ขณะเล่น ขณะทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้ลูกได้เห็นตัวอย่างการใช้ภาษา ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ และต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองใช้ภาษา ด้วยการชวนคุยแบบตั้งคำถามและให้ความสำคัญกับการฟังในสิ่งที่ลูกพยายามสื่อสาร
สร้างทักษะชีวิต : การทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เช่น ทำกิจวัตรประจำวันได้เอง ช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถทำและสื่อสารให้ผู้อื่นรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ความเชื่อมั่น และการเห็นคุณค่าในตัวเอง
ถ้า ยิ่งมีโอกาสทำอะไรด้วยตัวเองบ่อยเท่าไหร่โอกาสของการได้ลองผิดลองถูก ได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ตัดสินใจในระหว่างที่ทำกิจกรรมเหล่านั้นก็จะมีมากขึ้นด้วย ความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจก็สะสมมากขึ้นเป็นวงจรเรียนรู้ที่มีแต่ได้กับได้ ค่ะ นอกจากนี้เด็กๆ ที่ช่วยเหลือตัวเองได้มากจะเป็นคนที่รู้จักรับผิดชอบและปรับตัวง่ายด้วยค่ะ
* ความชำนาญ ในการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เด็กๆ ต้องได้ฝึกทักษะการใช้สายตา การรู้จักและแยกแยะกลิ่น เสียง การลิ้มรส และสัมผัสที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันทำได้โดย
- การจัดหนังสือ ของเล่นที่จะกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน เช่น ของเล่นที่มีสีสันสดใส มีเสียงเคลื่อนไหวได้ หรือแม้แต่การเล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนหาสิ่งของ เล่นทราย กิจกรรมทดสอบประสาทสัมผัส หนังสือสีสันสดใสมีรูปแบบน่าสนใจ เช่น หนังสือภาพ หนังสือ pop up เป็นต้น
- จัดสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายและน่าสนใจที่ช่วยเร้าความอยากรู้อยากเห็น ความกระตือรือร้นในการเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งภายในบ้าน รอบบ้านหรือการพาลูกไปเที่ยวที่ต่างๆ และชี้ชวนให้สังเกตและให้ลงมือทำ สัมผัสกับของจริง หรือแม้แต่การจัดเมนูอาหารที่หลากหลายก็พัฒนาทักษะเรื่องนี้ของลูกได้ค่ะ ที่สำคัญต้องไม่สกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของลูกด้วยการละเลยคำถาม หรือตอบอย่างดุดัน รำคาญ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ลูกกลายร่างเป็นเจ้าหนูจำไม
สร้างทักษะชีวิต : เด็กจะได้รู้จักโลกรอบๆ ตัว ทั้งสัตว์ สิ่งของ ผู้คน สถานที่ ฯลฯ สั่งสมเป็นฐานข้อมูลในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ นำไปสู่ความเป็นคนช่างสังเกต คิดวิเคราะห์ สามารถแยกแยะความแตกต่างของสิ่งรอบตัวได้ และเมื่อความอยากรู้อยากเห็นได้รับการตอบสนองอยู่เรื่อยๆ ความอยากรู้อยากเห็นก็ขยายออกมากกลายเป็นเด็กที่มีความกระหายใคร่รู้ กระตือรือร้นกับสิ่งใหม่ อยากรู้อยากลอง
* ทักษะในการสัมพันธ์กับผู้อื่น เรียนรู้วิธีสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
ทำ ได้โดย - โอบกอด สัมผัส ให้ความรัก ดูแลและปฏิบัติต่อลูก บุคคลอื่นหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงด้วยท่าทีอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เป็นการให้แบบของการแสดงออกทั้งกริยา คำพูดที่เหมาะสม
- เลี้ยงดูลูกโดยใช้เหตุใช้ผลผ่อนปรนตามความต้องการของลูกบ้างในบางเรื่อง เพื่อให้เริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่ควรและไม่ควร และเห็นวิธีการจัดการกับความไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เป็นฐานของการคิดวิเคราะห์ หาเหตุผล การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนหาวิธีที่ดีที่สุด
- พาไปร่วมกิจกรรมที่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น บ้านเพื่อน บ้านญาติ เด็กๆ วัยเดียวกันและต่างวัยกัน และให้โอกาสลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนอกบ้าน เช่น เมื่อไปซื้อของให้ส่งเงินให้แทน เวลาที่เข้าแถวรอจ่ายเงินหรือทำธุระต่างๆ ให้ลูกได้อยู่ร่วมในบรรยากาศแบบนี้กับคุณบ้าง ระหว่างรอก็เล่าให้รู้ว่ากำลังทำอะไร ทำไมจึงต้องรอ ถ้าทำเป็นประจำลูกจะค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมของการเข้าคิว รู้จักรอคอย และเคารพสิทธิ์ผู้อื่น
- ให้ได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ให้ผู้รับ เช่น เทศกาลต่างๆ อาจพาลูกไปช่วยเลือก ช่วยเตรียมของขวัญให้ญาติ เพื่อน หรือให้ลูกเป็นคนมอบของขวัญนั้น ที่สำคัญอย่าลืมเตรียมของขวัญให้ลูกตัวเองด้วยนะคะ หรือการซื้ออาหารให้สัตว์ตามสวนสัตว์ การให้อาหารสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นฐานไปสู่การรู้จักคิดถึงผู้อื่น การมีน้ำใจได้ค่ะ
* ทักษะทางด้านอารมณ์ คนที่มีทักษะทางอารมณ์ที่ดีคือคนที่รู้จักและเท่าทันอารมณ์ตัวเอง จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และการมีอารมณ์มั่นคง ซึ่งสามารถสร้างได้จากกิจกรรมเหล่านี้ทำได้โดย
- เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ โอบกอด สัมผัสอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดเป็นความไว้วางใจ เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นที่รัก ไม่ถูกทอดทิ้งเป็นฐานของการเห็นคุณค่าในตัวเองด้วย
- สนใจและให้อิสระลูกได้ทำในสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่สนใจ โดยให้ลูกคิด เลือกแก้ปัยหาด้วยตัวเอง โดยให้คำแนะนำ สนับสนุนและชื่นชม ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่สนใจ ยอมรับจากคนที่เขารักก็เกิดเป็นความมั่นใจ เห็นคุณค่าตัวเอง อารมณ์มั่นคง
- จัดของเล่น กิจกรรมที่ลูกได้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เล่านิทาน การฟังเพลง การเล่นจินตนาการกับตุ๊กตา ของเล่นต่างๆ การทำงานศิลปะ ทั้งที่เล่นคนเดียวเล่นร่วมกับพ่อแม่หรือคนอื่นๆ หรือจะเป็นของเล่นหรือกิจกรรมที่ลูกจะได้ใช้สมาธิจดจ่อ เช่น เกมต่อภาพ ต่อบล็อก แป้งปั้น ร้อยลูกปัดก็ช่วยสร้างอารมณ์ที่มั่นคงได้ค่ะ แม้แต่วิธีการเล่นของเล่นทีละ 1 อย่าง เล่นแล้วเก็บแล้วค่อยหยิบของเล่นชิ้นใหม่มาเล่น วิธีนี้สอนได้ทั้งเรื่องวินัยและสมาธิ การจดจ่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ลูกได้ และสิ่งนี้ยังเป็นฐานของการพัฒนาไปสู่การมีความมุมานะ พยายาม ตั้งใจได้อีกด้วยค่ะ
สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและห่าง ไกลกับทักษะชีวิตที่อยากให้ลูกมี แต่ถ้าวันนี้เรายังไม่เริ่มปะติดปะต่อภาพความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ของทักษะเหล่านี้ให้กับลูกเลย แล้วเมื่อไหร่ทักษะชีวิตที่ว่ายาก ซับซ้อนและห่างไกลนั้นจะเกิดกับลูกที่รักล่ะ เธอว่าอย่างนั้นมั้ย