แรกเริ่มเดิมทีคุณพ่อคุณแม่มักจะให้ความสำคัญกับคำแรกของลูก ลุ้นกันตัวโก่งเชียวว่าจะเรียกพ่อหรือแม่ได้ก่อนกัน ผ่านไปไม่นานหลายคนเริ่มงงว่าทำไมลูกถึงได้พูดไม่หยุดอย่างนี้ บางทีก็หลุดภาษาอะไรมาก็ไม่รู้ แถมหลายครั้งก็มีคำถามที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถหาคำตอบอธิบายให้เขาเข้าใจได้ง่าย เสียด้วยสิ
ฉบับนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องการคุยแบบต่อยอดให้เจ้าหนูค่ะ สำหรับเด็กๆ วัย 2 ขวบ เจ้าหนูจะเริ่มถาม ... อะไร ทำไม พอเข้า 3 ขวบก็จะเริ่มจ้อประโยคเป็นชุด หากคุณพ่อคุณแม่มีเวลาอาจจะสรรหาคำตอบมาบอกให้กระจ่าง แต่เชื่อไหมคะว่าส่วนมากจะตอบคำถามแบบตัดบทไป อย่างเช่น ปะป๊าทำไมต้นไม้อยู่ในดิน? อ๋อ มันต้องอยู่ในนั้นไงลูก ซึ่งที่จริงคุณควรบอกว่า ในดินมีอาหารของต้นไม้ ถ้าไม่มีดินต้นไม้ก็ตาย เหมือนเราต้องกินข้าวไงลูก..... คุยแบบสร้างสรรค์อย่างนี้ลูกก็ได้ความรู้ไปด้วย
ทำไมต้อง...ต่อยอด?
คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าคุยกับแบบธรรมดาไม่ได้เหรอ เหนื่อยมาทั้งวันต้องมีอะไรยากๆ ในครอบครัวอีก ขอบอกว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรอกค่ะ แค่เรียนรู้เทคนิคที่จะพูดคุยกับลูกเท่านั้น ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกพูดอยู่คนเดียวหรือให้โทรทัศน์เลี้ยงลูกอย่างนี้ไม่ดีแน่ ถ้ายังมองเห็นภาพไม่ชัดจะแจกแจงประโยชน์ของการคุยแบบต่อยอดกับลูกให้คุณฟัง ค่ะ
- การคุยแบบต่อยอดทำให้ลูกได้พัฒนาความคิด ฝึกความคิดสร้างสรรค์ เป็นการแตกหน่อความคิดจากจุดหนึ่ง ไปสู่อีกจุดหนึ่ง ต่อเมื่อลูกหาคำตอบจากเราได้ ก็จะทำให้ลูกอยากรู้สิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายรอบตัว ถือว่าเป็นขั้นแรกของการเรียนรู้ของลูกค่ะ เช่น ล้อรถนั้นใหญ่จัง เราก็ควรบอกต่อว่า ลองดูคันอื่นสิ นั่นไงยิ่งรถคันใหญ่ล้อจะใหญ่กว่ารถคันเล็ก เพราะมันต้องรับน้ำหนักมากไง เห็นไหมลูก
- วัยนี้ที่ต้องช่างซักช่างถาม เพราะลูกอยากรู้คำหรือเรื่องต่างๆ ที่แปลกไปกว่าที่เคยได้ยิน และการคุยกับคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกได้คำศัพท์ต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้คำที่ลูกพูดออกมาเป็นการแสดงความคิดและความหมายของสิ่งต่างๆ ในความเข้าใจของเขา ยิ่งคุยกับลูกคุณจะยิ่งรู้ว่าลูกของคุณรู้อะไรมากแค่ไหนกันแล้ว
- การคุยกับลูกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเปล่าประโยชน์นะคะ แต่ถือเป็นกิจกรรมที่คุณและลูกได้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง รู้จักรู้ใจกัน ทั้งได้เล่าประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอบอุ่นจะตายไป
Parent's rule
สิ่งเหล่านี้มิใช่กฏตายตัวนะคะ คุณลองปรับประยุกต์วิธีปฏิบัติเอาแล้วกัน เลือกตามความเหมาะสมของสไตล์บ้านคุณ แนะแนวไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันค่ะ
เป็นธรรมชาติ
ทำตัวให้เป็นธรรมชาติเวลาคุยกับลูก แม้คำถามของลูกนั้นจะไม่ได้เรื่องในสายตาคุณก็ตาม อย่าหัวเราะท้องคัดท้องแข็งให้ลูกเห็น เพราะจะทำให้ลูกไม่มั่นใจในตั้งคำถามครั้งต่อไป
เปิดโอกาส
คุยทุกเรื่องกับลูก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ความรู้แบบไอสไตน์เสมอไป หมาตัวเก่า แมว นก ทีวี ญาติพี่น้อง สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ แล้วไม่ใช่หลับหูหลับตาเล่าอย่างเดียวนะ ลองให้เจ้าหนูเขาแสดงความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ลองเล่าสิ่งที่ลูกเจอให้คุณพ่อคุณแม่ฟังด้วย
ใส่ใจ
หากมีคำถามที่คุณตอบไม่ได้หรือจนปัญญาจริงๆ ควรหาสมุดสักเล่มจดคำถามไว้ให้ลูกเห็นด้วยว่า คุณแม่สนใจคำถามของหนูนะ แต่อันนี้ตอบไม่ได้จริงๆ ไว้จะหาคำตอบให้จ้ะ แล้วก็หานิทาน สารคดี หรือไปในสถานที่ที่มีคำตอบอยู่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เพื่อให้ลูกรู้จักการค้นคว้าตั้งแต่เล็ก สร้างกิจกรรมสนุกๆ ของครอบครัวได้อีกด้วย
เติมเต็มประสบการณ์
พาลูกไปในที่ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์คำศัพท์ และเรื่องราวที่แตกต่างจากเดิมๆ บ้าง
ตอบแบบนี้สิ...ชวนคิด
- "แม่ ทำไมปลาอยู่ในน้ำ"
อืม นั่นสินะ ลูกคิดว่าเพราะอะไรล่ะ.....(ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกับเรา)
- "จะซื้อไก่ทอด"
ร้านไก่ทอดปิดแล้ว จะให้แม่ซื้อที่ไหนดีล่ะ คิดว่าไงจ้ะ(ให้ลูกร่วมตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็น)
- "ทำไมช้างเดินบนถนน"
ลูกคิดว่าช้างควรอยู่ที่ไหนล่ะ(แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นโอกาสที่จะสอนลูกไปในตัว)
- "มดขยันเดิน"
ลูกว่ามันจะเดินไปไหน
- ".....ไปซื้อขนม......"
ทำไมถึงไปซื้อขนมล่ะ "ก็มันชอบของหวานๆไง" (จินตนาการเป็นเรื่องสำคัญของเด็ก)
- "เป็ดกินอะไร"
เป็ดอยู่ในน้ำได้ด้วย กินหอย ปูปลา ก็ได้
- "กินยังไง"
Level of learning word
1 ปี
รู้จักคำง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ช้อน รถ หรือชื่อของสัตว์เลี้ยง อีกแบบหนึ่งคือจะเรียกชื่อสัญลักษณ์แทนสิ่งนั้น เช่น หมา เจ้าหนูก็จะเรียกว่า บ็อก
2 ปี
รู้จักคำศัพท์มากขึ้นถึง 50-75 คำ และอาจจะเข้าใจความหมายที่พ่อแม่พูดมากกว่า 200 คำ และเข้าใจและพูดประโยคง่ายๆ อย่างเช่น กินน้ำ เดินเล่น
3 ปี
เจ้าหนูเข้าใจที่คุณพูดเป็นอย่างดี (นอกจากจะแกล้งไม่เชื่อฟังคุณเท่านั้นล่ะ) รู้ศัพท์อย่างน้อย 200-300 คำ และสามารถเพิ่มเติมคำศัพท์ได้มากถึงวันละ 10 คำ และสามารถตอบโต้คำถาม เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหนหรืออย่างไรได้แล้ว และเมื่ออายุมากกว่า 3 ปีเต็มคำศัพท์จะมีมากถึง 900 คำเชียว ทั้งนี้การรูจักคำศัพท์ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของลูก รวมถึงการพูดคุยกับลูกของคุณด้วยค่ะ