อุปกรณ์
วิธีทำ
ร่างแบบที่ต้องการในกระดาษ เริ่มจากทาบนิ้วชี้ของคุณแม่ลงไป แล้ววาดตามรูปนิ้วโดยขยายขอบออกมาอีกครึ่งเซนติเมตร ส่วนความยาวนิ้วแค่ครึ่งนิ้วชี้ของคุณแม่ก็พอค่ะ จากนั้นจะดัดแปลงเป็นรูปตัวอะไรให้วาดต่อจากนี้ได้เลย เช่น กระต่าย ก็ต่อหูยาวๆ ขึ้นไป แล้วเขียนตา เขียนปาก เขียนขาเพิ่ม หรืออยากได้รูปสิงโต ก็วาดหัวสิงโตเพิ่ม
นำแบบวางทาบบนผ้าสักหลาด ตัดตามรอย โดยเฉพาะรูปนิ้วให้ตัดออกมาก่อน 2 ชิ้น แล้วเย็บติดกัน 3 ด้าน ส่วนประกอบอื่นพวกหัว หู ขา ตา ปาก ค่อยเย็บติดเข้าไปทีหลัง ง่ายๆ แค่นี้เอง ตอนต่อไปก็ถึงทีลงมือเล่นกับลูกได้แล้วค่ะ
ข้อควรระวัง
เด็กวัยขวบต้นๆ คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นหุ่นนิ้วเองตามลำพังค่ะ เพราะวัยนี้ยังชอบอมของอยู่ ยิ่งของชิ้นเล็กๆ สีสันสดใสแบบนี้ล่ะโปรดปรานนักแล ทางที่ดีคุณแม่ควรอยู่ด้วย และเป็นคนเล่นกับลูกเอง แบบนี้จะเหมาะกว่า
วิธีเล่น
มีหลากหลายแบบให้เลือกตามสะดวก แนะนำตัวเจ้าหุ่นนิ้ว มีตัวอะไรบ้าง...พี่กระต่าย พี่สิงโต พี่นกแก้ว ฯลฯ แค่ 3 ตัวนี้ ลูกก็รู้จักคำไป 3 คำแล้วล่ะค่ะ รวมทั้งเข้าใจความหมายด้วยว่ากระต่ายน่ะ หน้าตาเป็นอย่างไร อ้อ! ยังสามารถทำเสียงสัตว์ใส่ให้กับแต่ละตัวได้อีก สิงโตคำรามแบบไหนนกแก้ว กบ ร้องยังไง ช่วยให้ลูกรู้จักแยกแยะเสียงต่างๆ ไปในตัว
ใช้ประกอบการร้องเพลง เด็กวัยขวบต้นๆ -2 ขวบชอบฟังเพลงที่มีจังหวะจะโคนหรือไม่ก็บทกลอน เพลงกล่อมเด็ก อาขยาน ที่มีท่วงทำนองคล้องจอง แกจะอยากฟังซ้ำไป ซ้ำมาไม่รู้เบื่อ คุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะเสียงหลง ร้องไม่เพราะเท่านักร้องมืออาชีพ ขอเพียงมีใจให้และอยากทำให้กับลูกก็พอค่ะ ร้องเพลงแล้วอย่าลืมหยิบเอาเจ้าหุ่นนิ้วมาทำท่าประกอบตามไป ร้องชัดๆ ให้ลูกฟังบ่อยๆ
ใช้ประกอบการเล่านิทาน หรือการเล่าเรื่องราวต่างๆ เพราะเล่าอย่างเดียว อาจไม่สนุก แต่การให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วม สวมหุ่นนิ้วเป็นตัวละครในเรื่อง จะเป็นตัวกระตุ้นการฝึกพูดได้ดี เรื่องราวที่เล่าขอให้เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวลูกนี่แหละ อาจพูดถึงสิ่งของ ผู้คน หรือประสบการณ์ที่อยู่แวดล้อมลูก
ใช้หุ่นนิ้วเรียกร้องความสนใจให้ลูกทำตาม เช่น เด็กบางคนไม่ชอบกินผัก คุณแม่อาจยกพี่กระต่ายขึ้นมาอ้าง "พี่กระต่ายยังชอบกินผักเลย เห็นไหมในมือถือแครอตด้วยนะ" พร้อมทำท่ากินงั่ม...งั่ม ชักชวนลูก หลายบ้านอาจมีเทคนิคพิเศษเฉพาะตน ให้งัดออกมาใช้เถอะค่ะ ยอมเป็น "เด็ก" เหมือนๆลูก ไม่มีใครเขาว่าบ๊องหรอก กลับน่ารักและสนุกดีเสียอีก